คลายข้อสงสัย? ทำไม จึงชื่อ โรงพยาบาล "ยันฮี"
คำถามที่มีคนถามเวลาเห็นชื่อโรงพยาบาลนี้ คือ ทำไมถึงชื่อนี้
หลายคนพยายามบอกว่า “ก็เพราะว่าทำศัลยกรรมตกแต่งตั้งแต่หัว ยัน ฮี”ไง
แต่หลายคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะว่าที่ชั้น 8 หรือ 9 ของโรงพยาบาลนี้ก็มีแผนกเส้นเลือดขอด ซึ่งปกติจะดูแลที่ขาด้วย (และที่จริงมีทุกแผนก แผนกอายุรกรรม แผนกฝ่าตัด ความงาม กระดูก สูตินรีเวช หัวใจ ไต ฯลฯ อย่างหัวใจนี่สวนหัวใจเยอะโฮก) ดังนั้นก็ไม่น่าจะมาจากคำนี้
คำว่ายันฮีมาจากไหน
คำว่ายันฮีที่ใช้กันแพร่หลายในไทย มาจากชื่อเขื่อนยันฮีครับ เขื่อนยันฮีหรือที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อเขื่อนภูมิพลนี่แหละ จากการอ่านต่วยตูน พบเรื่องเล่าอยู่สองแบบ
แบบที่หนึ่ง
ตอนที่ต้องการหาที่สร้างเขื่อน มีการไปสำรวจแม่น้ำ บริเวณนั้นมีตำนานเกี่ยวกับพระนางจามเทวีหลายเรื่อง เช่น ผาสามเงา ซึ่งมีพระพุทธรูปที่มาประดิษฐานไว้ตั้งแต่สมัยที่พระนางจามเทวีเสด็จมาทางเรือจะไปหริภุญชัยแล้วเกิดอาเพศ เมื่อพระนางตั้งจิตแล้วอธิษฐาน ก็เกิดฟ้าผ่าและมีพระพุทธรูปปรากฏที่หน้าผา
มีตำนานที่เล่าโดยชาวไฟฟ้า(ตามคำกล่าวในหนังสือต่วยตูน) เกี่ยวกับระดับความสูงของน้ำ แต่นัยว่าน่าจะเป็น Dirty joke สมัยนั้น หนังสือเล่มนั้นคือ ต่วยตูนส์
พ็อกเก๊ตบุ๊ค ปีที่ 8 เล่มที่ 10 เดือนมิถุนายน 2522 ชื่อเรื่องว่า “ที่ยันฮีมีนิยาย”
โดยนายดอกเหม คุยกับท่าน ต่วย (คุณ วาทิน ปิ่นเฉลียว)
ผมตัดเฉพาะตอนสำคัญมาให้อ่านกัน
ผมเชื่อว่าหลายท่านคงเกิดปรัศนีย์ในหัวใจกี่ยวกับชื่อ ยันฮี ฟังแล้วมันเพี้ยนๆจั๊กกะเดียมใจชอบกล ไหนๆมายันฮีทั้งทีก็ควรจะรู้ความหมายเอาไว้ด้วย เพื่อเกิดความประทับใจมิรู้ลืม หรือเอาไว้คุยแกล้มเหล้าก็ไม่ผิดกติกาอะไร
ผู้ที่ทำให้บันลือไปทั่วไทยและทั่วโลกได้แก่พวกกรมชลประทาน เพราะได้ไปสร้างเขื่อนติดอันดับโลกไว้ที่นั่น พวกกรมชลประทานโดยเฉพาะนายช่างสร้างเขื่อนจึงน่าจะรู้เรื่องยันฮีดีกว่าใครๆ
ความคาดคะเนของผมไม่ผิด พอถามคุณต่วยซึ่งเป็นคนเก่ากรมชลคนหนึ่งแกก็ตบโต๊ะปัง หูตาแจ่มใสด้วยได้มีโอกาสพูดคุยถึงเรื่องเก่าๆสมัยยังฟิตเปรี๊ยะปร๊ะ
“คุณถามถูกคนแล้ว ผมนี่แหละเป็นนายช่างคนหนึ่งที่บุกเบิกสร้างเขื่อนยันฮี สมัยนั้นอายุผมเพิ่ง๒๙ปี ชีวิตกำลังสนุก มันส์มหามันส์ ซอกแซ่กรู้ไปเสียหมด ผมอยู่ที่นั่นหลายปี เพราะฉะนั้นอยากทราบอะไรจงถาม แม้แต่เรื่องแคมป์โอผมก็รู้เพราะเป็นลูกค้าประจำ”
ผมดีใจจนเนื้อเต้นที่ได้เจอผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับเขื่อนยันฮี นึกตำหนิตัวเองมีตาเสียเปล่าหามีแววไม่ รู้จักคุณต่วยมาหลายปีดีดัก กินเหล้าด้วยกันหมดไปไม่รู้กี่ไห หามองเห็นมาดนายช่างใหญ่ผู้แข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ในร่างอันบวมเป่งไม่
ขณะที่ผมกำลังตื่นตะลึกกับสง่าราศีของนายช่างใหญ่อยู่นั้น คุณต่วยก็กรอกเหล้าแก้วที่๑๐ลงคออั้กๆ แล้วยกมือเสยผมที่ย้อยปกลานหน้าผากพลางสำทับ
“ถาม...ถามมา อยากรู้อะไรเกี่ยวกับยันฮี”
“คือผมอยากรู้ว่าชื่อยันฮีน่ะแปลว่าอะไร”
คุณต่วยแหงนหน้าหัวเราะด้วยมาดของผู้หยั่งรู้ยันฮี
“อ๋อ เรื่องนี้มันมีตำนาน...คือที่ตำบลนั้นมีภูเขาอยู่ลูกหนึ่ง ชาวบ้านเขาเรียกเขาอาบนาง พูดให้เข้าใจง่ายก็คือภูเขาที่มีรูปร่างเหมือนผู้หญิงอาบน้ำนั่นแหละ...”
“อืมม์ น่าสนแฮะ” เรื่องฟังซะจริงเกี่ยวกับผู้หญิงยิงเรือนี่ไม่รู้เป็นไง ผมชอบ
“ไม่ใช่ผู้หญิงกระจอกๆนะ ขั้นนางพญาเชียวแหละ”
“ชื่ออะไรมิทราบ”
“พระนางจามเทวี”
“แล้วทำไมพระนางจึงดันมาอาบน้ำที่นั่นล่ะ” ผมอยากรู้จริงๆไม่ได้แกล้งถาม เพราะเท่าที่เรียนประวัติศาสตร์กมางูๆปลาๆ ผมจำได้ว่าพระนางจามเทวีนี้เป็นนางพญาครองเมืองหริภุญไชย(ลำพูน) แล้วทำไมประดักประเดิดมาอาบน้ำเมืองตากที่ห่างกันตั้งหลายโยชน์
คุณต่วยตวาดแว้ด
“นั่นมันเรื่องปลีกย่อย ไม่ควรเอามาคิดให้รกสมอง เอาเป็นว่าพระนางจามเทวีมาอาบน้ำที่นี่ก็แล้วกัน”
“เอางั้นก็ได้” ผมยอมคล้อยตาม “แต่พระนางอาบน้ำแล้วมันกลายเป็นยันฮีได้อย่างไร”
คุณต่วยหันซ้ายและขวารอบๆ เมื่อไม่เห็นสตรีใดอยู่ในรัศมีที่คลื่นเสียงจะไปถึงก็กระซิบกระซาบตำนานท็อปซีเคร็ต
“ ภูเขาพระนางจามเทวีน่ะ มันเหมือนผู้หญิงยืนแช่น้ำแล้ว......”
“ ฮื่อ แล้วไงต่อ “
คุณต่วยทำหน้าล่อกแล่กหันซ้ายขวาอีกรอบ “ แล้วระดับน้ำในแม่น้ำปิงช่วงนั้นมันสูงพอดี........พอดียันตรงนั้นของพระนางน่ะซิ”
ผมสำลักเหล้า
“แม่โว้ย เรียกกันดื้อๆอย่างนั้นเชียวหรือ”
“ใช่แล้ว เดิมทีเขาเว้าซื่อๆด้วยซ้ำ แต่เราเรียกให้มันเพี้ยนไปนิดๆจะได้ไม่ระคายหู”
“เรื่องจริงเรอะเนี่ย”
คุณต่วยค้อนควักยังกะสาวรุ่น และเมื่อเห็นผมทำท่าไม่ค่อยเชื่อ แกก็พยายามหาหลักฐานอื่นมาอ้างอิงเพิ่มเติม
“ที่นั่นยังมีเจดีย์ประหลาดๆอยู่องค์หนึ่ง คุณเห็นรึเปล่า”
“เห็น”
“นั่นแหละ เขาเรียกเจดีย์มอย”
“ชื่อชอบกลเหมือนกันแฮะ มีตำนานเหมือนกันเรอะ”
“อ๋อ มีซี ตำนานเข้ากันกับเรื่องแรกได้เป็นปี่เป็นขลุ่ยเชียวล่ะ” คุณต่วยซดเหล้าโดยไม่ใยดีกับแกล้มอีกฮวบหนึ่ง
“เขาเล่าว่า สมัยพระนางจามเทวีอีกนั่นล่ะ พวกพม่ายกทัพเข้ามาทางนั้น แต่ละคนทรงวิทยาอาคมทั้งนั้น ฟันฉับๆมันยังเฉย ตีตูมๆมันก็เฉย มาดมันไม่วอกแวกทั้งๆที่นุ่งโสร่ง ไม่ได้สวมกางเกงยีนส์ซักหน่อย”
“ ยังงี้เราจะไปสู้มันไหวเรอะ” ผมสงสัย
“นั่นซี แต่คนไทยซะอย่างสบายไปแปดอย่าง เรื่องไสยศาสตร์เราไม่น้อยหน้าใคร พม่าอาคมขลังนัก เราหาวิธีแก้จนได้”
“ทำยังไง”
“ พระนางจามเทวีทรงบัญชาให้สร้างเจดีย์ ก็องค์ที่ประหลาดนั่นแหละ แล้วพระนางก็เอาขนเพชรบรรจุไว้ “
“ ฮ้า ! ทำไมวิตถารอย่างนั้น “
“ แก้เคล็ดไงเล่า พวกพม่านับถือปูชนียสถานเหมือนคนไทย เห็นเจดีย์ก็เข้าไปกราบไหว้ หารู้ไม่ว่าบรรจุขนเพชรอาคมเลยเสื่อม ถูกพี่ไทยฟันฉับเข้าฉับเข้า แตกกระจุย...”
“ถ้าอย่างนั้นชื่อเจดีย์มอยก็เพี้ยนมาจากไอ้นั่นซี”
ตำนานยันฮีของคุณต่วยประทับใจผมสุดแสน ดังนั้นถ้าคุยกับใครเรื่องยันฮีผมเป็นต้องแสดงตัวเป็นผู้รู้เล่าตำนานให้ฟังทุกที จนกระทั่งผมบังเอิญได้คุยกับผู้ว่าฯปัญญา ฤกษ์อุไร ผมทราบว่าท่านเคยเป็นนายอำเภอสามเงาที่เขื่อนยันฮีตั้งอยู่ ด้วยความที่อยากจะอวดภูมิว่ารู้เรื่องยันฮีเหมือนกัน ผมจึงขยายตำนานให้ท่านฟัง
ท่านผู้ว่าหัวเราะพุงกระเพื่อม “ใครเล่าให้คุณฟัง ต้องเป็นคุณต่วยแน่ๆเชียว ”
“ทำไมท่านรู้ล่ะครับ “ ผมหน้าเหรอ
“ก็ไอ้ตำนานที่คุณเล่าน่ะมันเป็นของกรมชลฯเขาแต่งขึ้นนี่ ตอนที่ผมป็นนายอำเภอที่นั่นผมก็ได้ฟังเหมือนกัน”
“แล้วไม่จริงหรือครับ”
“ผมก็ไม่อยากปฎิเสธเพราะคุณต่วยแกนั่งยันนอนยันว่าเรื่องจริง แต่ที่ผมรู้มานะ มันอีกอย่างหนึ่ง” ผู้ว่าฯแบ่งรับแบ่งสู้ คงไม่อยากหักหาญน้ำใจคุณต่วย
“เท่าที่ผมทราบนั้นเดิมทีแถบเขื่อนเขาเรียกย่านรี หมายถึงย่านที่ภูเขาขนาบบีบแม่น้ำจนแคยรี แต่ชาวบ้านแถบนั้นออกเสียงย่านเป็นยั่ยนหรือยัน และออกเสียงรีเป็นฮี เจ้าหน้าที่ไปสำรวจที่ทางทำเขื่อนฟังเป็นยันฮีก็เขียนรายงานตามที่ได้ยิน ย่านรีจึงกลายเป็นยันฮี ฟังๆคล้ายภาษาพม่ารามัญหรือภาษาแขกไปเลย”
“อ้อ อย่างนี้นี่เอง แล้วเจดีย์มอยล่ะครับ บรรจุไอ้ขนอย่างว่าจริงรึเปล่า”
ผู้ว่าฯปล่อยก๊ากน้ำลายกระเซ็นก่อนตอบ “มันก็มาอีหรอบเดียวกับยันฮีนั่นล่ะ คือเจดีย์น่ะปกติมันจะมียอดแหลมๆ แต่เจดีย์มอยยอดมันมนๆป้านๆ
แบบที่สอง
ยันฮี แปลงมาจากคำว่า ย่านรี เป็นภาษาที่คนในแถบนั้นเรียกพื้นที่คุ้งน้ำตรงนั้น โดยมีความหมายเป็นไปได้สองประการคือ ก.แม่น้ำที่ถูกภูเขาบีบจนแคบรี ข. แม่น้ำที่อ้อมภูเขาจนมีลักษณะโค้งรี
ไม่ว่ายันฮีจะมาจากอะไร แต่สุดท้ายเมื่อเขื่อนสร้างขึ้น เขื่อนก็ถูกเรียกว่าเขื่อนยันฮี
เขื่อนถูกสร้างในปี 2496 และเปิดใช้ 2507 โดยระหว่างนั้นได้มีการไฟฟ้ายันฮีถือกำเนิดขึ้น
แล้วเขื่อนมาเกี่ยวอะไรกับโรงพยาบาล เขื่อนอยู่จังหวัดตาก โรงพยาบาลอยู่จรัญสนิทวงศ์
เพราะในปี 2500 ได้มีการตั้งการไฟฟ้ายันฮีขึ้นเพื่อดูแลคุมเรื่องไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนนี้
และการไฟฟ้ายันฮีตั้งอยู่ที่บางกรวย นนทบุรี ตรงข้างแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต่อมาในปี 2512 การไฟฟ้ายันฮีได้ควบรวมกับการลิกไนต์และการไฟฟ้า-ตะวันออกเฉียงเหนือ เปลี่ยนชื่อเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
และเวลาใครจะไปจะมาเดินทาง ก็มักจะเรียกติดปากว่าไปการไฟฟ้ายันฮี
ในปี2527 ยันฮีโพลีคลินิกได้ก่อตั้งขึ้นในบริเวณใกล้กับการไฟฟ้ายันฮี (ตั้งตรงหน้าตึกการไฟฟ้า) การตั้งชื่อก็ตั้งตามชื่อย่านนั้นที่คนรู้จักกันดี ผอ.เลยตั้งชื่อว่ายันฮีโพลีคลินิก เป็นตึก2ชั้น หลังจากตั้งได้ราว 3-4ปี ก็ได้ย้ายไปตั้งตรงที่ตั้งปัจจุบัน สร้างเป็นตึกที่ใหญ่ขึ้นเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลยันฮี
ส่วนการไฟฟ้ายันฮี เปลี่ยนชื่อเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ตั้งแต่2512 ดังนั้นชื่อยันฮีที่หมายถึงโรงไฟฟ้าก็ค่อยๆเลือนหายไปช้าๆ เหลือแต่โรงพยาบาลที่ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นที่มาของชื่อโรงพยาบาลยันฮีดังเช่นปัจจุบัน
เพจ ความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/HmxMaew/photos/a.398936216867904/589668134461377/