เปิดตำนาน "ตุ๊กตาอับเฉา" มีไว้ทำไม?
“อับเฉา” (อาจมาจากคำว่า เอี่ยบฉึ่ง ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า สินค้าถ่วงเรือ) ซึ่งพบตั้งประดับอยู่เป็นจำนวนมากในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) เป็นเครื่องประดับที่ทางการสยามได้สั่งซื้อเป็นการเฉพาะมาจากเมืองหนิงปัว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน และอีกส่วนหนึ่งมาจากเมืองกวางตุ้ง โดยปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ศิลาแบบจีนทำจากหิน สลักเป็นรูปต่างๆ เช่นเก๋งจีน ตุ๊กตาจีนหลายแบบ ทั้งรูปคน ฝรั่ง จีน เทพเทวดา และรูปสัตว์ เรียกว่าเครื่องอับเฉา
ตุ๊กตาจีนและศิลาแกะสลักมาพร้อมกับเรือสำเภาในฐานะเครื่อง “อับเฉา” ใส่ไว้ใต้ท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักเรือไม่ให้โคลง
สมัยรัชกาลที่3 มีการค้าสำเภากับประเทศจีน เวลาไปมีสินค้าไทยไปเต็มเรือ สินค้าจะเป็นพวก ไม้สัก ข้าวสาร งาช้าง ดีบุก พลวง ไม้ เครื่องเทศ ซึ่งเป็นของมีน้ำหนัก หากไปค้าขายที่เมืองจีน เมื่อขายสินค้าแล้ว ขากลับก็จะซื้อสินค้าจากเมืองจีนกลับมาเป็นพวกผ้าแพร ผ้าไหม แร่ทอง แร่เงิน ไขมุก ซึ่งมีราคสูงและมีน้ำหนักเบา ซึ่งเรือสำเภาที่จะแล่นฝ่าคลื่นลมในทะเลได้นั้นต้องมีน้ำหนักพอสมควรมิฉะนั้นเรือจะโคลงแล่นฝ่าคลื่นลมมาไม่ได้ จึงต้องมีการถ่วงน้ำหนักใต้ท้องเรือ ก็เลยซื้อตุ๊กตาจีนที่แกะสลักจากหิน โดยมีการใส่อับเฉามาใต้ท้องเรือ เพื่อถ่วงเรือ ไม่ให้เบาเกินไป
เมื่อกลับมาถึงไทย ก็ไม่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไร ก็เลยนำไปถวายวัดเพื่อใช้ตกแต่งสถานที่ ที่วัดราชโอรสาราม ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3 จะมีสวนจีน ประดับ ตุ๊กตาอับเฉาจำนวนมาก
อับเฉาในยุคแรก ๆ จะเป็นมีที่เป็นแท่งหินยังไม่มีการทำเป็นตุ๊กตาหิน อยากเห็นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ให้ไปดูที่พระบรมมหาราชวัง แท่งหินที่ปูพื้นทำถนนทำทางเดินนั่นแหละคืออับเฉาในยุคนั้น ต่อมามีการนำตุ๊กตาหินใส่มาเป็นอับเฉา ซึ่งตอนแรก ๆ นั้นทางจีนทำมาอย่างไรเราก็ซื้อมาตามนั้น ต่อมามีการออกแบบจากไทยไปให้ช่างจีนทำตุ๊กตาหินตามสั่ง ซึ่งตุ๊กตาหินเหล่านั้นได้นำมาตั้งตกแต่งพระรอาราม พระราชวัง วัง หรือบ้านผู้มียศศักดิ์
เหตุที่เรียกว่า อับเฉา เพราะตุ๊กตาหินเหล่านี้ต้องอยู่แต่ใต้ท้องเรือไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน