ความเป็นมาของชื่อ "จังหวัดสระแก้ว" มีที่มาอย่างไร?
ชื่อจังหวัดสระแก้ว มีที่มาอย่างไร
มีคำตอบอยู่ ในเว็บไซต์ของจังหวัดสระแก้วว่า ชื่อ "สระแก้ว" มาจากชื่อของสระน้ำโบราณในพื้นที่อำเภอเมืองสระแก้ว ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 สระ ย้อนไปสมัยกรุงธนบุรี ปีพ.ศ.2324 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพยกไปตีกัมพูชา(เขมร) ระหว่างทางได้พักกองทัพที่บริเวณสระน้ำทั้งสองแห่งนี้ ได้อาศัยน้ำจากสระใช้สอยและขนานนามสระทั้งสองว่า "สระแก้ว สระขวัญ" ทั้งยังได้นำน้ำจากสระทั้งสองแห่งไปใช้ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ด้วยถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์
ก่อนจะเป็นจังหวัดสระแก้ว เดิมมีฐานะเป็นตำบล ราชการสมัยก่อนได้ตั้งเป็นด่านตรวจคนและสินค้าเข้า-ออก มีข้าราชการตำแหน่งนายกองทำหน้าที่เป็นนายด่าน จนถึงปีพ.ศ.2452 จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่ากิ่งอำเภอสระแก้ว อยู่ในการปกครองของอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยนำชื่อของสระน้ำมาเป็นชื่อกิ่งอำเภอ
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2501 มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ชื่อว่าอำเภอสระแก้ว อยู่ในการปกครองของจังหวัดปราจีนบุรี และต่อมาเมื่อ 1 ธันวาคม 2536 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสระแก้วขึ้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 110 ตอนที่ 125 ลงวันที่ 2 กันยายน 2536 เป็นผลให้จังหวัดสระแก้วได้เปิดทำการในวันที่ 1 ธันวาคม 2536 โดยเป็นจังหวัดที่ 74 ของประเทศไทย
ขณะที่ข้อมูลทางโบราณคดีระบุว่า สระแก้วมีประวัติความเป็นมายาวนานนับได้ถึง 4,000 ปี ตั้งแต่ยุคหินใหม่-ยุคโลหะ จากการค้นพบโบราณวัตถุที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ รวมถึงการค้นพบโบราณวัตถุในยุคต่อๆ มาอีก
เช่น ที่อำเภออรัญประเทศ และเขตอำเภอตาพระยา มีหลักฐานว่าสระแก้วเคยเป็นชุมชนสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในยุคเจนละทวารวดี มีอารยธรรม วัฒนธรรม และมีกษัตริย์หรือผู้ครองเมืองนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย เห็นได้จากโบราณสถานและจารึกรูปอักษรปัลลวะต่างๆ ที่ปรากฏที่ปราสาทเขาน้อย อำเภออรัญประเทศ ซึ่งถือกันว่าเป็นหลักฐานบันทึกศักราชที่เก่าที่สุดในกลุ่มจารึกรุ่นแรกที่พบในประเทศไทย สร้างขึ้นราวปีพุทธศักราช 1180
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานความเจริญของอารยธรรมขอมระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 ในแถบนี้ ทั้งปราสาทอิฐ ปราสาทหิน เตาเผาเครื่องถ้วย และคูเมืองที่ยังหลงเหลือร่องรอยปรากฏในปัจจุบัน เช่น จารึกพบที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม 2 หลัก โดยหลักที่ 1 ระบุว่า ปีพุทธศักราช 1480 พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้นำศิลาจารึกมาปักไว้ที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม เพื่อประกาศห้ามเรียกข้าของเทวสถานแห่งนี้ไปใช้ในกิจการอื่น แต่ให้ข้าของเทวสถานได้บำรุงรักษาและบูชาพระศิวลึงค์หรือรูปเคารพ ซึ่งได้ประดิษฐานอยู่ ณ เทวสถานนี้ตลอดไป
ส่วนจารึกอีกหลักกล่าวสรรเสริญพระเจ้าอาทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งได้ทรงบูรณะโบราณสถานแห่งนี้จนสำเร็จ พร้อมจารึกที่เกี่ยวกับอารยธรรมและศาสนาอีกมาก
มีข้อมูลจากวิกิพีเดียเพิ่มเติมว่า มีร่องรอยอารยธรรมโบราณปรากฏอยู่ในจังหวัดสระแก้วในรูปของปราสาทหิน แหล่งหินตัด ซากสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น กรมศิลปากรสำรวจพบปราสาทขอมในจังหวัดสระแก้วมากถึง 40 แห่ง ตั้งเรียงรายอยู่บนเส้นทางผ่านช่องเขา หันไปทางทิศตะวันออก คือหันหน้าเข้าหานครวัด
เท่าที่มีหลักฐานพบว่าปราสาทเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนสองฟากฝั่งภูเขาที่ไร้เส้นเขตแดนในอดีต และตัวปราสาทยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณอีกด้วย ลึกลงไปในผืนดินพบโบราณวัตถุซึ่งยังคงขุดค้นอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ บ้านหนองผักแว่น ตำบลคลองยาง อำเภอตาพระยา เป็นต้น
โบราณวัตถุที่พบ เช่น พระพุทธรูป ชิ้นส่วนเทวรูป ลูกปัด ขวานหิน หินบดยา หม้อ ไห ฯลฯ ชี้ให้เห็นการเป็นชุมชนที่มีระบบความเชื่อและวัฒนธรรม ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ มีชุมชนห้วยโสมง อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี คลองบ้านนา อำเภอบ้านนา และดงละคร จังหวัดนครนายก และคลองบอน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี