เครื่องเร่งอนุภาคขนาดจิ๋วที่สุดในโลกเล็กกว่าเหรียญบาท
เครื่องเร่งอนุภาคขนาดจิ๋วที่สุดในโลกเล็กกว่าเหรียญบาท
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย FAU ของเยอรมนี
ประดิษฐ์เครื่องเร่งอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วที่สุดในโลกได้สำเร็จ
โดยเราสามารถนำอุปกรณ์ไฮเทคนี้วางบนเหรียญ 1 บาทของไทย
หรือเหรียญ 10 เซนต์ ของสหรัฐฯ ได้สบาย ๆ
เพราะมันมีขนาดเล็กกว่าเหรียญเงินดังกล่าวถึง 3 เท่า
เครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนเชิงแสงระดับนาโนเมตร
(Nanophotonic Electron Accelerator - NEA)
เครื่องแรกของโลก ประกอบด้วยไมโครชิปขนาด 6 มิลลิเมตร
ที่บรรจุท่อสุญญากาศขนาดจิ๋วยาว 0.5 มิลลิเมตร
กว้าง 225 นาโนเมตร ซึ่งนับว่าเล็กยิ่งกว่าความหนาของเส้นผมมนุษย์
ที่ปกติจะมีขนาดประมาณ 80,000 – 100,000 นาโนเมตร
ภายในท่อสุญญากาศดังกล่าวมี “เสา” (pillars)
ต้นเล็กจิ๋วจำนวนหลายพันแท่ง ซึ่งการยิงลำแสงเลเซอร์เส้นบางเฉียบเข้าใส่แท่งเสาจิ๋วเหล่านี้
จะช่วยเร่งให้อนุภาคอิเล็กตรอนมีความเร็วสูงขึ้นอย่างมหาศาลได้
ท่อสุญญากาศซึ่งเป็นตัวเครื่องเร่งอนุภาคที่แท้จริงนั้น
มีขนาดเล็กกว่าเครื่องเร่งอนุภาคโดยทั่วไปที่เรารู้จักนับล้านเท่า และเมื่อนำเครื่องเร่งอนุภาคจิ๋ว NEA
ไปเทียบกับเครื่องเร่งและชนอนุภาคแอลเอชซี (LHC) ขององค์การวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรปหรือเซิร์น
(CERN) ท่อสุญญากาศของ NEA จะสั้นกว่าท่อวงแหวนเร่งอนุภาคยาว 27 กิโลเมตรของ LHC ถึง 54 ล้านเท่า
รายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 18 ต.ค.
ที่ผ่านมา ระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จากเยอรมนีสามารถใช้เครื่องเร่งอนุภาค NEA เพิ่มระดับพลังงานให้กับอิเล็กตรอน จาก 28.4
ไปเป็น 40.7 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ (keV)
นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถเดินเครื่องและใช้งาน NEA ได้สำเร็จ
นับตั้งแต่มีการเสนอแนวคิดสร้างเครื่องเร่งอนุภาคจิ๋วนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2015
อย่างไรก็ตาม การเร่งระดับพลังงานของอนุภาคด้วย NEA
ไม่อาจจะเทียบได้กับประสิทธิภาพของเครื่องเร่งอนุภาคขนาดยักษ์อย่าง LHC ซึ่งเหนือกว่านับล้านเท่า
โดยวงแหวนแม่เหล็กกว่า 9,000 ตัวของ LHC
ทำให้เกิดสนามแม่เหล็กทรงพลังที่สามารถเร่งอนุภาคให้มีความเร็วสูงได้ถึง 99.9% ของความเร็วแสง
ซึ่งนำไปสู่การค้นพบอนุภาคมูลฐานเพิ่มเติมและช่วยพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ทางฟิสิกส์