"ดาวเทียมไทย-ที่จะไปดวงจันทร์" .. ไปถึงไหนแล้ว ?
ล่าสุดทางอาจารย์เจษฎา ก็ได้มาโพสต์เกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับดาวเทียมของไทยว่าดังนี้..
"ดาวเทียมไทย-ที่จะไปดวงจันทร์" .. ไปถึงไหนแล้ว ?
ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่าน มีข่าวใหญ่ในแวดวงดาราศาสตร์และอวกาศ ที่ประเทศอินเดียประสบความสำเร็จในการส่ง "ยานจันทรายาน-3" ไปลงพื้นผิวดวงจันทร์ได้ กลายเป็นชาติที่ 4 ของโลกหลังจากที่สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน เคยทำได้แล้ว (ขนาดรัสเซีย พยายามจะส่งไปบาง ยังไม่สำเร็จเลย)
ก็มีคนตั้งคอมเม้นต์คำถามไว้ว่า แล้วของไทยเราล่ะจารย์ ที่เคยมีข่าวว่าไทยจะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์บ้างน่ะ ไปถึงไหนแล้ว ?
ล่าสุด นิตยสาร "สาระวิทย์" ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง อว. (ฉบับที่ 127 เดือนตุลาคม 2566) ได้มีบทความสำคัญขึ้นปกวารสาร เรื่อง "บนเส้นทางความท้าทาย ดาวเทียมไทยจะไปดวงจันทร์" เขียนโดย คุณเบ้ง ปริทัศน์ เทียนทอง ของ สวทช. ที่ได้สัมภาษณ์ ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะผู้จัดการโครงการ สร้าง
ดาวเทียม TSC-1 ได้ พอดี
เลยขอเอาสรุปข่าว ให้ผู้สนใจติดตามความคืบหน้าของ "ดาวเทียมไทยที่จะไปดวงจันทร์ (ถ้ายังมีงบประมาณต่อเนื่อง)" นะครับ .. สามารถดาวน์โหลดวารสารทั้งเล่ม ได้ที่ https://www.nstda.or.th/sci2pub/sarawit/ ครับ
#สรุปย่อ : ประเทศไทยเรามีโครงการภาคความร่วมมืออวกาศ หรือ TSC และตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาดาวเทียม TSC-1 เพื่อสำรวจโลก ซึ่งดาวเทียม TSC-1 นั้น ตอนนี้สร้างเสร็จแบบ Table Sat แล้ว (เป็นแผงวงจรทั้งหมดที่จะใช้ในดาวเทียม) รองบประมาณปี 2567 ที่จะนำมาสร้างเป็นดาวเทียมต้นแบบเหมือนจริง หรือ engineering model แล้วก็รองบประมาณปีต่อไปที่จะสร้างเป็นดาวเทียม flight model ที่จะส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก (ส่วนดาวเทียม TSC-2 สำหรับสำรวจดวงจันทร์นั้น มีแผนแล้ว แต่ต้องรองบประมาณในอนาคต รวมทั้งความสำเร็จของ TSC-1 ด้วย)
-----------
- ปลายปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมาย ส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ ภายในระยะเวลา 7 ปี โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้วางนโยบายและก่อตั้ง ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย หรือโครงการ Thai Space Consortium (TSC)
- โครงการ Thai Space Consortium นี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นมาได้ประมาณ 4-5 ปีแล้ว ประกอบไปด้วยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (NARIT) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่น ๆ กว่า 10 หน่วยงาน (ดูในรูปประกอบ) โดยแบ่งงานกันตามความเชี่ยวชาญ
- เป้าหมายของ TSC คือ พัฒนาสร้าง "ดาวเทียม" ไปสำรวจดวงจันทร์ ประกอบด้วย ดาวเทียม TSC Pathfinder (TSC-P) และดาวเทียม ถ่ายภาพหลายความยาวคลื่น (TSC-1) ด้วยฝีมือคนไทยทั้งหมด / นอกจากนี้ ยังร่วมถึงการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น เทคโนโลยีจรวด ท่าอวกาศยาน และระบบ Space Human Support System
- แผนระยะยาวคือจะสร้างดาวเทียมของไทย ออกมาให้เป็นซีรีส์ เริ่มจากดาวเทียม TSC Pathfinder และดาวเทียมTSC-1 ที่จะโคจรรอบโลก หลังจากนั้นจะสร้างดาวเทียม TSC-2 เพื่อไปโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบในหลักการ (ของดาวเทียม TSC-2) แล้ว แต่ยังไม่ได้พิจารณาให้งบประมาณ
- ส่วนดาวเทียม TSC-3 ถึง TSC-5 ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดภารกิจเป้าหมาย เพราะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของดาวเทียมดวงก่อนหน้า ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะกำหนดเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นให้กับดาวเทียม TSC-3 ถึง TSC-5 ได้ แต่ถ้าพบปัญหา ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขก่อน
- "ดาวเทียม TSC-1" จะเป็นดาวเทียมสำหรับงานวิจัย มีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าดาวเทียมวิจัยที่เคยพัฒนากันในอดีต เช่น ดาวเทียม KnackSat (แน็กแซต) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- โครงการ TSC-1 ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเริ่มลงมือสร้างดาวเทียมมาได้ประมาณ 2 ปี โดยสร้างตัวต้นแบบเสร็จ
แล้ว หน้าตายังไม่ได้ดูเป็นดาวเทียม แต่จะเป็นลักษณะของบอร์ดและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ วางทดสอบอยู่บนโต๊ะ หรือที่เรียกว่า Table
Sat
- ถ้าโครงการได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายในเดือนตุลาคม 2567 เราก็จะได้เห็นดาวเทียมตัวต้นแบบทางวิศวกรรม (หรือ engineering model) ซึ่งเหมือนเป็นฝาแฝดของดาวเทียมจริงทุกประการ แต่จะยังไม่ได้ส่งออกไปสู่อวกาศ เก็บไว้บนโลก
- จากนั้น จะทำดาวเทียมดวงที่จะส่งขึ้นไปใช้งานจริงบนอวกาศ (เรียกว่า flight model) ซึ่งพอดาวเทียมดวงนี้ขึ้นไปแล้ว และถ้าเกิดมีปัญหาอะไรขึ้น ก็จะนำเอาดาวเทียม engineering model มาทดสอบระบบกัน เพื่อให้รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับดาวเทียมบนอวกาศคืออะไร
- งบประมาณในการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมในระยะแรกนี้ ประมาณ 1050 ล้านบาท ซึ่งจากที่มีกระแสสังคมตั้งคำถามว่าจะคุ้มค่าเงินภาษีประชาชนหรือไม่นั้น อยากให้มองว่าเป็นโอกาสที่คนไทยจะพัฒนาความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีอวกาศขึ้นเอง ให้มีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอวกาศขั้นสูงของโลก ซึ่งการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างการพัฒนาโครงการอวกาศนั้น จะช่วยผลักดันเทคโนโลยีแขนงขึ้นอื่นๆ ของประเทศไทยให้พัฒนาขึ้นด้วย และส่งเสริมให้คนในชาติมีฐานะดีขึ้น
- ประเทศไทยของเรามีบุคลากรที่มีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ หากมีการบริหารจัดการที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเทคโนโลยีอวกาศด้วยฝีมือคนไทย ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ก็จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่การสร้างคน สร้างอนาคต สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ