แรงงานไทยภาคเกษตรกรรมมีมากถึง4,500คนทำงานไกล้บริเวณฉนวนกาซา
การสู้รบในอิสราเอล เริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หรือ วันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิที่สุดของชาวยิว ซึ่งประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน โดยกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวปาเลสไตน์ เริ่มต้นยิงจรวดเข้าใส่ชายแดนภาคใต้ของอิสราเอลในช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น โดยเรียกว่า ปฏิบัติการ อัล-อักซา ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) โดยฮามาสอ้างว่า ใช้จรวดกว่า 5 พันลูก ขณะเดียวกันกองกำลังติดอาวุธได้บุกเข้าไปยังชายแดนโจมตีและจับประชาชนเป็นตัวประกัน
หลังจากอิสราเอลได้ส่งเครื่องบินไอพ่นและเฮลิคอปเตอร์อาปาเช เข้าโจมตีเป้าหมายในฉนวนกาซา ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้หลายร้อยคน โดยเป็นฝ่ายปาเลสไตน์ราว 300 คน และในฝั่งอิสราเอลประมาณ 350 คน
สถิติของกระทรวงแรงงานฯ ถึงเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า มีแรงงานคนไทยทำงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ ไปทำงานใกล้ฉนวนกาซา 4,533 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000-50,000 บาทต่อเดือน
เมื่อช่วงกลางปี 2564 เคยมีคนไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส โดยในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากแรงงานไทยทั้งหมดขณะนั้นที่มีกว่า 1.87 หมื่นคน
ความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ย้อนหลังไปได้ถึงได้หลายทศวรรษ โดยที่หลังจากอังกฤษและฝ่ายพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว อังกฤษได้สัญญาที่จะหาที่ตั้งประเทศให้กับชาวยิว