8 สัตว์มีพิษที่ชอบเข้าบ้านช่วงหน้าฝนพร้อมวิธีป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ฤดูฝนมาถึงให้ได้เย็นชื่นใจ แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คืออันตรายที่มาพร้อมกับหน้าฝน ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำขัง ก็นำพาสัตว์ทั้งอันตรายและไม่อันตรายมาทำร้ายเราได้ วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับสัตว์ที่จะมาพร้อมกับหน้าฝนรวมถึงวิธีการป้องกันกันค่ะ
1.งู มักจะอาศัยในบริเวณที่ชื้นแฉะ และบริเวณพื้นที่รกตามพุ่มไม้ ต้นไม้ ป่าไม้ หรือแม้กระทั่งบ้านเรือนที่ไม่มีการจัดระเบียบให้เรียบร้อย
วิธีป้องกัน
1. ทำลายแหล่งอาหารของงู เก็บกวาดเศษอาหารให้มิดชิด ทิ้งขยะลงถังที่แข็งแรง ไม่รั่วซึม เก็บอาหารในตู้เก็บอาหาร หรือใช้ฝาครอบ อาจจะเลี้ยงแมวหรือสุนัข ซึ่งจะช่วยกำจัดหนู รวมถึงช่วยไล่งูได้อีกด้วย
2. หากเลี้ยงไก่ เป็ด ห่าน นก หรือสัตว์ต่างๆ ต้องทำกรงหรือคอกที่มิดชิด ปิดกั้นรูหรือช่องที่งูจะเข้าไปได้
3. ทำความสะอาดบ้านและบริเวณบ้านอยู่สม่ำเสมอ ไม่ควรเก็บวัสดุอุปกรณ์รกรุงรังที่อาจเป็นที่หลบซ่อนของงู หากมีหลุมหรือโพรงควรกลบให้เรียบร้อย โดยเฉพาะบริเวณสนาม ขอบรั้ว กำแพง และหมั่นตัดกิ่งไม้ที่พาดใกล้กับชายคาบ้าน รั้ว หรือกำแพง เพื่อป้องกันงูเลื้อยเข้าไปในบ้าน
4. ตรวจสอบระบบท่อน้ำ ไม่ให้มีรูรั่ว รอยแตก เพราะงูอาจจะเลื้อยเข้าไปตามท่อระบายน้ำ เข้าไปในบ่อเกรอะและเลื้อยเข้าท่อที่เชื่อมกับคอห่าน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แก้ไขได้โดยการให้ช่างมาติดตะแกรงกันงูตามท่อน้ำทิ้ง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด น้ำสะอาดจะช่วยลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือพิษงูได้
2. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด หาท่อนไม้ ท่อ PVC หรือสิ่งของที่เป็นแท่งตรงและแข็งแรง เพื่อลดการการเคลื่อนไหวและหดตัวของกล้ามเนื้อ ป้องกันพิษงูที่อาจถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด
3. วางอวัยวะส่วนที่ถูกงูกัดให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ
4. รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถพยาบาลมารับทันที
2.คางคก ต่อมพิษของคางคกจะอยู่ที่เส้นสันหลัง ซึ่งหากเราโดนพิษคางคกสัมผัสผิว จะเกิดอาการระคายเคืองได้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ในกรณีโดนพิษคางคกที่ผิวหนัง ให้รีบล้างทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำและสบู่ให้หมดจด
3.เห็บ/หมัด เป็นสัตว์กินเลือด มักอยู่บนตัวของหมา แมว สัตว์เลื้อยคลาน นก รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เราอาจจะคิดว่าไม่อันตรายแต่บางชนิดสามารถเป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ หากโดนเห็บ/หมัด กัดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ อักเสบ บวม แดง บางกรณีอาจจะเกิดการอักเสบเรื้อรัง แม้ว่าจะมีการรักษาโดยการฉีดยาสเตียรอยด์ แต่ด้วยความที่เห็บและหมัดบางชนิดมีขนาดเล็กมาก อาจจะทิ้งอวัยวะบางส่วนเอาไว้บนผิวหนังได้
วิธีป้องกันเห็บ/หมัด
หมั่นดูแลรักษาความสะอาดหมา แมว และสัตว์ชนิดอื่นๆที่มักจะมีเห็บ/หมัดมาเกาะ และต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าไปในบริเวณที่มีความชื้นแฉะ เช่น ดงหญ้า หากมีความจำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากเห็บ/หมัด ที่มีขนาดใหญ่สามารถใช้แหนบค่อยๆ ดึงออกอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อวัยวะบางส่วนติดอยู่ที่ผิวหนังจนทำให้อักเสบหนักกว่าเดิม แต่ถ้าเห็บ/หมัดมีขนาดเล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ แนะนำว่าให้พบแพทย์ เพื่อให้แพทย์เป็นผู้นำเห็บ และหมัดออกมาด้วยเครื่องมือแพทย์จะดีที่สุด
4. ตะขาบ เป็นสัตว์มีเขี้ยวพิษ มีสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่นสารเซโรโทนิน (Serotonin) หรือสารฮิสตามีน (Histamine) โดยปริมาณพิษและความระดับความปวดบริเวณผิวหนังจะขึ้นอยู่กับขนาดตัว เรามักพบตะขาบได้บ่อยมากขึ้นในฤดูฝน เนื่องจากฝนตกน้ำท่วมขังทำให้ตะขาบหนีน้ำเข้ามาภายในตัวบ้าน โดยทั่วไปแล้วหากูกตะขาบกัดมักจะไม่อันตรายถึงชีวิต และสามารถปฐมพยาบาล เพื่อบรรเทาอาการต่างๆเองได้
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ล้างแผลและผิวหนังบริเวณโดยรอบด้วยสบู่และน้ำสะอาดแล้วซับให้แห้ง
2. ประคบเย็นด้วยเจลเย็นหรือถุงน้ำแข็งห่อผ้าขนหนูบริเวณผิวหนังที่ถูกตะขาบกัด เพื่อบรรเทาอาการบวมและคัน
3. รับประทานยาสามัญประจำบ้านหรือยาที่หาซื้อได้เองที่เหมาะกับอาการตะขาบกัด เช่น ยาแก้ปวดยาแก้แพ้ หรือยาแก้อักเสบ โดยต้องปรึกษากับเภสัชกรก่อนรับประทานยาอย่างเคร่งครัด
แต่หากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วหลังจาก 48 ชั่วโมงอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบทำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรืออาการแพ้จากพิษของตะขาบทันที
5. ยุง เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ถึงแม้อาการของโรคจะไม่ได้รุนแรงแต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้
โดยอาการของโรคไข้เลือดออกคือ
1. มีไข้สูง 39 – 40 องศา นานเกิน 2 วัน
2. ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
3. อ่อนเพลีย ซึมลง
4. ปัสสาวะสีเข้ม
5. เบื่ออาหาร อาเจียน
6. อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดตามผิวหนัง
7. อุจจาระมีสีดำ
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
หมั่นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อ เช่นบริเวณที่มีน้ำขังหรือในบริเวณที่มีความรกทึบ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)
6. แมลงก้นกระดก หลายๆคนอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก มีลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็กประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้องๆ บริเวณส่วนหัวและหางจะมีสีดำ และส่วนท้องเป็นสีส้ม พิษของแมลงก้นกระดกแมลงก้นกระดกจะปล่อยสารพิษที่มีชื่อว่า “พิเดอริน” ที่มีลักษณะเป็นกรดออกมา หากสัมผัสถูกพิษของแมลงก้นกระดกจะทำให้ผิวหนังชั้นนอกอักเสบเกิดอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน หรือมีรอยแผลในลักษณะไหม้
การป้องกันแมลงก้นกระดก
ไม่ควรโดนหรือสัมผัสตัวแมลงโดยตรง หากพบควรหาสิ่งของเพื่อปัดแมลงออกไปและควรปัดอุปกรณ์บนที่นอน สะบัดเสื้อผ้า อุปกรณ์ที่สวมใส่ เพื่อป้องกันแมลงซ่อนตัว ในตอนกลางคืนแมลงก้นกระดกมักชอบออกมาเล่นแสงไฟ ดังนั้นควรปิดหน้าต่าง ประตู บ้านให้มิดชิดทและควรเปิดไฟเฉพาะดวงที่จำเป็นเท่านั้น
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ล้างด้วยน้ำเปล่าที่สะอาด
2. ประคบเย็นในบริเวณที่โดนสัมผัส
3. กินยาแก้แพ้
4. ทายาสเตียรอยด์ทาบริเวณที่โดนสัมผัส
5. สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
7. แมงป่อง มักจะอาศัยอยู่ในที่ชื้น เย็นหรือในที่รกทึบ มักหากินเวลากลางคืน พิษของแมงป่องมีสาร neurotoxin เป็นส่วนใหญ่ ออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หลังถูกต่อย มักจะมีอาการปวดบวมแดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน โดยจะเริ่มออกอาการภายใน 30 นาที
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1. ทำความสะอาดแผลและผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ด้วยน้ำและสบู่อ่อนๆ
2. ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวดบวมและลดการแพร่กระจายของพิษ
3. รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เองอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือความรู้สึกไม่สบายตัว โดยควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
8.กิ้งกือ ในช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่อาจจะพบกิ้งกือได้บ่อยๆ ในบ้าน หรือสวนสาธารณะต่างๆ โดยสารพิษของกิ้งกือมีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไฮโดนเจน ไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควิโนน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังมีแผลไหม้ได้ แต่ในบางรายที่มีอาการแพ้อาจจะมีมีอาการปวด รวมถึงระคายเคืองผิวหนัง
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
หากรู้สึกว่าโดนสารพิษของกิ้งกือ ให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดโดยมันที สามารถทานยาแก้อักเสบได้ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงให้รีบมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
อ้างอิงจาก: ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันอาการบาดเจ็บในเด็ก,ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี,สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ,wikihow