หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

เจ้าคุณจอมมารดาเอม รักแรกของพระปิ่นเกล้าฯ

โพสท์โดย อับดุล รอเเย๊ะส์

ในสมัยที่เขาไม่สอนประวัติศาสตร์ไทยกันในโรงเรียนแล้ว เด็กรุ่นใหม่สักกี่คนจึงจะทราบว่า ครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาติไทยมีพระมหากษัตริย์สองพระองค์พี่น้องครองแผ่นดินร่วมกัน คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้ว เพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑ ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่รู้จักน้อยกว่า เพราะมิได้ทรงกระทำพระองค์ให้มีบทบาททางการเมืองนัก พอพระทัยที่จะเป็นเพียงนักการทหาร ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๓ ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (บุญรอด) คนในวังจะออกพระนามพระองค์ท่านว่าเจ้าฟ้าน้อย ส่วนสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ออกพระนามว่าเจ้าฟ้าใหญ่ แม้จะทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒ ทั้งนี้เพราะว่าเจ้าฟ้าพระองค์แรกนั้นสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่มีพระประสูติกาลแล้ว

เมื่อเจ้าฟ้าจุฑามณีทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ชันษา สมเด็จพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคต เวลานั้นพระเชษฐา เจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงพระผนวชอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้าจุฑามณีจึงได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกจากพระราชวังหลวงไปประทับที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรีนับแต่นั้น

เป็นที่ทราบกันว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ค่อยจะโปรดชาวยุโรปสักเท่าไหร่ การประทับอยู่นอกวังหลวงจึงเป็นโอกาสให้เจ้าฟ้าน้อยทรงคบหากับฝรั่งได้สะดวก จึงทรงศึกษาวิชาจากตำรับตำราของชาวตะวันตกจนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดี ที่โปรดที่สุดคือวิชาการด้านทหารปืนใหญ่ และการต่อเรือกลไฟ แต่การนิยมฝรั่งมิได้หมายความว่าจะทรงทิ้งการศึกษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เมื่อถึงพระชนมายุอันสมควรก็ทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จฯไปจำพรรษาที่วัดระฆังฯซึ่งอยู่ใกล้ๆกับพระราชวังเดิมนั่นเอง

เจ้าฟ้าน้อยทรงมีพระอุปนิสัยไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง โปรดที่จะปฏิบัติพระองค์ง่ายๆเช่นเดียวกับสามัญชน เมื่อทรงเป็นพระภิกษุนั้น พอถึงเวลาออกบิณฑบาตก็โปรดที่จะทรงพายเรือเข็มลำเล็กๆไปแต่เพียงลำพังพระองค์เอง เที่ยวทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวบ้านไปตามริมน้ำลำคลองแต่ฟ้าสาง คล้ายจะทรงออกกำลังพระกายไปในตัว เพราะเสด็จเที่ยวไปไกลมากถึงคลองบางกอกน้อย

ไม่มีใครทราบว่า แรงจูงใจที่ทำให้ทรงหมั่นเสด็จฯไปที่นั่น เป็นเพราะสตรีน้อยนางหนึ่งจะลงมาตั้งโต๊ะตักบาตรพระอยู่ที่ท่าน้ำหน้าบ้านเป็นประจำแทบจะทุกวัน พระภิกษุเจ้าฟ้าน้อยทรงได้ยลโฉมสีกาน้อยเข้าแล้วก็ต้องพระทัยตั้งแต่ครั้งแรกที่พบ หลังจากนั้นก็ทรงพายเรือมาเข้าคิวรอรับบาตรหน้าบ้านหลังนี้เสมอๆ วันไหนเธอไม่ออกมา หรือทรงมาไม่ทัน วันนั้นก็ทรงรุ่มร้อนพระทัยด้วยกิเลสมนุษย์จนแทบจะมิได้มีใจปฏิบัติสมณกิจ

ไม่ทราบว่าจะทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุหนุ่มๆชักจะมาเข้าคิวเป็นแถวยาวขึ้นทุกทีหรืออย่างไร เช้าวันหนึ่งขณะที่แม่นางกำลังตักข้าวใส่บาตรถวาย ภิกษุหนุ่มรูปงามท่าทางดูจะมิใช่สามัญชนองค์นั้น ก็ปิดฝาบาตรลงงับมือของเธอโดยเจตนา แม่นางตกใจปล่อยมือจากทัพพีจนมันหล่นลงน้ำไปต่อหน้าต่อตา แล้วก็รีบถอยหลังกลับขึ้นกระได วิ่งหนีขึ้นเรือนไป

ส่วนพระภิกษุหนุ่มเห็นดังนั้นก็ดูจะพึงใจมาก

บ่ายวันนั้นปรากฏขบวนเชิญทัพพีทองคำลงยาและเครื่องทำขวัญมายังบ้านนั้นอย่างเอิกเกริก เจ้าสัวบุญมีผู้เป็นเจ้าของบ้านเห็นทัพพีนั้นเข้าก็ทราบได้ทันทีถึงฐานันดรศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ เมื่อรับไว้แล้วก็สำนึกว่าของนั้นคือของที่ทรงหมั้น จึงห้ามมิให้บุตรีของตนลงไปใส่บาตรพระที่ท่าน้ำอีก และคอยเฝ้าถนอมรักษาแม่นางไว้อย่างดี รอคอยวันปวารณาออกพรรษา

เรื่องดังกล่าวทราบความถึงสมเด็จพระราชชนนี เมื่อทรงทราบว่าเจ้าฟ้าน้อยโปรดบุตรีเจ้าสัวบุญมีก็มิได้ทรงขัดขวาง เพราะท่านผู้นี้แม้จะมิได้รับราชการ แต่ก็เป็นผู้ที่มีประวัติตระกูลอันงดงามและมีฐานะมั่นคงมาอย่างยาวนานตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครั้นพระภิกษุเจ้าฟ้าจุฑามณีทรงลาพระผนวชแล้ว จึงทรงแต่งเถ้าแก่มาสู่ขอแม่เอม บุตรีของเจ้าสัวบุญมีไปเป็นหม่อมห้ามคนแรกของพระองค์

หม่อมเอมได้เป็นเจ้าจอมมารดาเอมเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณีได้เฉลิมพระนามเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระราชโอรสพระองค์โตได้รับสถาปนาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้ขนานนามท่านเป็นเจ้าคุณจอมมารดาเอม หรือเจ้าคุณพระชนนี

สายสกุลของท่านเจ้าคุณจอมมารดาเอมนั้น มีประวัติจารึกไว้ในสมุดข่อยโบราณว่า ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ กษัตริย์องค์ที่ ๓๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันสั้นๆในหน้าประวัติศาสตร์ว่าพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ เพราะพระที่นั่งที่กษัตริย์ประทับอยู่เป็นประจำนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางสระค่อนมาทางท้ายๆ รัชกาลนี้มีสำเภาจีน ๕ ลำ ของเถ้าแก่ชื่อ อ๋องเฮงฉ่วนเข้าเทียบท่า สินค้าที่ขนมาคือตุ๊กตาหินแกะสลักรูปคนและสัตว์ต่างๆ เพราะข่าวว่าคนไทยนิยมซื้อตุ๊กตาเหล่านั้นประดับวัดวาอาราม บังเอิญคราวนั้นยังไม่มีใครสร้างวัดขึ้นมาใหม่ บรรดาวัดเก่าที่สร้างไว้แต่เดิมก็มีตุ๊กตาเช่นนั้นตั้งประดับวัดมากแล้ว อ๋องเฮงฉ่วนจึงขายสินค้าในเรือไม่ออก ครั้นจะเอาไปขายเมืองพม่าเมืองญวนก็คงไม่มีใครซื้อเพราะไม่เป็นที่นิยม มีหวังจะต้องขนตุ๊กตาหินเหล่านั้นไปทิ้งทะเลสถานเดียว

อ๋องเฮงฉ่วนจึงได้หาทางเข้าปรึกษาความกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีกรมพระคลังซึ่งว่าการด้านต่างประเทศด้วย จึงเรียกขานกันโดยตำแหน่งอีกชื่อหนึ่งว่าเจ้าพระยาพระคลัง สำนวนเดิมพรรณนาว่า

"ข้าพเจ้าเป็นนายพานิชนาวาเดินเรือค้าขายกับนานาประเทศแต่เป็นครั้งแรกที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา และประจวบเหตุอาจต้องขาดทุน จึงเข้ามาขอความกรุณาต่อท่านเจ้าคุณขอเป็นที่พึ่ง ได้โปรดนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯช่วยซื้อตุ๊กตาเครื่องสลักหินเหล่านี้ทั้ง ๕ ลำเรือ โดยข้าพเจ้ายอมขาดทุนครึ่งหนึ่ง และยอมรับชำระเป็นของแลกเปลี่ยนตามมูลค่า เป็นสินค้าที่จะไปขายเมืองจีนได้ เช่น ฝาง ไม้แดง ไม้แก่น เขา หนัง งาช้าง นรมาด กำมะยาน ครั่ง ไหม รง เร่ว กระวาน ดีบุก เนื้อแห้ง ปลาแห้ง ข้าว เกลือ เป็นต้น เพื่อที่ข้าพเจ้าจะพอมีโอกาสฟื้นตัว และจะได้กลับมาทำการค้าขายกับกรุงสยามอีกในอนาคต หากแม้ไม่ทรงพระกรุณา ข้าพเจ้าก็จักขอถวายสินค้าของข้าพเจ้าทั้ง ๕ ลำเรือนี้เป็นราชบรรณาการ ยอมนำเรือเปล่าๆกลับไปเมืองจีน ยอมรับความพินาศซึ่งเป็นการจำเป็นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยเหตุนี้"

อันเรื่องประเภทนี้เป็นธรรมเนียมว่าจะต้องมีค่าน้ำร้อนน้ำชาที่คนจีนเรียกว่าจิ้มก้องไปเสนอแก่ท่านด้วย สมัยนั้นไม่ถือว่าเป็นคอร์รัปชัน เมื่อจิ้มก้องถึงอกถึงใจ เจ้าพระยาพระคลังจึงเกิดความสงสารพอที่จะคิดหาทางช่วย โดยนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จนทรงมีพระทัยสังเวชอ๋องเฮงฉ่วนตามไปด้วย จึงมีพระราชดำรัสตรัสสั่งเจ้าพระยาพระคลัง ให้สั่งการพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จางวางพระคลังภาษีสินค้า ให้จัดของป่าต่างๆที่ได้มาจากส่วยของบรรดาหัวเมือง เอาแลกกับสินค้าเครื่องสลักหินทั้ง ๕ ลำเรือโดยสมควรแก่ราคา อ๋องเฮงฉ่วนจึงได้รอดพ้นจากการขาดทุนยับเยินสิ้นเนื้อประดาตัวไปได้ในครั้งกระนั้น

พระมหากรุณาธิคุณนี้ อ๋องเฮงฉ่วนซาบซึ้งใจนัก เมื่อทราบว่าเวลานั้นพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระกำลังมีพระราชประสงค์จะได้หินอ่อนมาปูสระปลาตาเหลือกและสระปลาหน้าคนที่ขนาบสองข้างพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์มหาปราสาท กับรอบๆพระที่นั่งทรงปืนที่อยู่ริมสระด้านตะวันออกอยู่พอดี จึงติดต่อทูลเกล้าฯถวายแผ่นหินอ่อนสองหมื่นแผ่นมูลค่าตามราคาตลาดขณะนั้นถึง ๕,๐๐๐ บาท เมื่อทรงได้แผ่นหินอ่อนที่อ๋องเฮงฉ่วนทูลเกล้าฯถวายก็โสมนัส และแทนที่จะทรงรับไว้ฟรีๆ พระองค์ก็มีพระกรุณาพระราชดำรัสสั่งพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีให้จัดหาของป่าในคลังภาษีสินค้าตอบแทนให้จีนอ๋องเฮงฉ่วนอีกตามสมควร สินค้าที่อ๋องเฮงฉ่วนได้รับตอบแทนไปนั้นมีมูลค่าประมาณ ๓,๐๐๐ บาท

ปลาตาเหลือกที่คนสมัยนี้รู้จักกันเป็นปลาน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย จึงไม่น่าจะใช่ปลาที่กษัตริย์อยุธยาจะทรงเลี้ยงไว้ดูเล่น บางคนจึงตีความว่าน่าจะเป็นจำพวกปลาทองที่มีผู้นำมาถวายจากเมืองจีนมากกว่า ส่วนปลาหน้าคนก็เป็นปลานำเข้าอยู่ในตระกูลปลาตะเพียนที่โปรดสายพันธุ์หนึ่งนั่นเอง

เมื่องานเสร็จแล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อ๋องเฮงฉ่วนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่บริเวณสระน้ำดังกล่าว หลังจากทรงปฏิสันถารพอสมควรแก่เหตุแล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า "เราจะตั้งเจ้าให้เป็นที่ขุนท่องสื่อ เจ้าพนักงานผู้นำราชทูตานุทูตสยามไปเจริญพระราชไมตรียังกรุงปักกิ่งประเทศจีนในคราวมรสุมนี้ เจ้าจะรับตำแหน่งยศแลหน้าที่หรือไม่" อ๋องเฮงฉ่วนได้ยินดังนั้นก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้ามีความยินดีด้วยเกล้าเป็นที่สุดที่จะรับตำแหน่งยศเป็นขุนนางไทย สนองพระมหากรุณาธิคุณให้ถึงที่สุดแห่งชีวิต

เมื่อเข้าฤดูมรสุมลมพัดมาต้องตามฤดูกาลแล้ว พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เสนาบดีกรมวัง ออกหมายตั้งคณะราชทูต อัญเชิญพระราชสาสน์มีบุคคลสำคัญทั้งหมด ๕ ท่าน ได้แก่ ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ท่องสื่อใหญ่ เป็นล่ามในคณะทูต และปั้นสื่อ พนักงานอาลักษณ์ที่สมัยนี้เรียกเลขานุการ ให้อ๋องเฮงฉ่วนเป็นขุนท่องสื่ออักษร อันเป็นตำแหน่งของเสมียนตรากรมท่าซ้ายซึ่งหน้าที่เป็นล่ามจีน คณะทูตไทยที่เดินทางไปจิ้มก้องฮ่องเต้ที่กรุงปักกิ่งโดยทางเรือสมัยนั้นกว่าจะโต้คลื่นไปขึ้นบกทางใต้ของจีน แล้วเดินทางระหกระเหินกว่าจะถึงกรุงปักกิ่งกินเวลายาวนานหลายเดือน เมื่อสิ้นมรสุมลมกลับทิศแล้วจึงนำขบวนเรือกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยาโดยสวัสดิภาพ ขุนท่องสื่ออักษรมีความดีความชอบ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นหลวงศิริสมบัติ เจ้าท่าเปิดระวางสำเภาจีนที่เข้าเทียบท่ากรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น

หน้าที่เปิดระวางก็คือลงไปตรวจสินค้าที่บรรทุกเข้ามาว่ามีอะไรบ้าง รายการใดหลวงผูกขาดจะต้องเป็นผู้ซื้อไว้เอง ก็ต่อรองกำหนดราคากัน ถ้าไม่พอใจจะขายก็เชิญขนไปขายที่อื่น ส่วนสินค้าที่อนุญาตให้ขายได้โดยเสรีนั้น ก็ต้องเสียภาษีตามพิกัด ตำแหน่งเจ้าท่าเปิดระวางสำเภาจึงเป็นตำแหน่งเงินตำแหน่งทอง เพราะคนจีนเชี่ยวชาญเรื่องจิ้มก้องอยู่แล้ว

กฎหมายพระธรรมนูญสมัยอยุธยาระบุไว้ว่า กรมท่าหน้าที่รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ แบ่งเป็นซ้ายและขวา กรมท่าซ้ายมีพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรม รับผิดชอบการค้าด้านตะวันออกของอยุธยาอันได้แก่ เขมร ญวน จีน ญี่ปุ่น และบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ซึ่งอยู่ที่ปัตตาเวีย ส่วนกรมท่าขวามีพระยาจุฬาราชมนตรีเป็นเจ้ากรม รับผิดชอบการค้าด้านตะวันตกกับเกาะชวา มลายู อินเดีย และแขกเปอร์เซีย ทั้งสองกรมขึ้นอยู่กับเจ้าพระยาพระคลัง โดยมีพระยาศรีพิพัฒน์เป็นเจ้ากรมพระคลังสินค้า

พ่อค้าต่างชาติเข้ามาค้าขายยังกรุงศรีอยุธยานั้น มีความต้องการบ้านอยู่อาศัยและสร้างโรงคลังสินค้าของตนเอง พระมหากษัตริย์จึงได้พระราชทานที่ดินให้นอกพื้นที่เกาะอยุธยา เป็นประชาคมที่เรียกชื่อตามกลุ่มเชื้อชาติ เช่น บ้านญี่ปุ่น บ้านโปรตุเกส บ้านฮอลันดา บ้านจีน บ้านญวน บ้านแขก ฯลฯ ใช้ลำน้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นแบ่งเขตประชาคมชาวต่างชาติ โดยให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมท่าซ้ายและกรมท่าขวาคนละฟากแม่น้ำ

นอกจากกรมท่าต้องทำหน้าที่ด้านการค้าต่างประเทศแล้ว ยังต้องมีภาระด้านการทูตควบคู่กันไปด้วยโดยเฉพาะการจัดคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้รวมกรมท่าซ้ายและขวาเข้าด้วยกันภายใต้เสนาบดีกรมท่า จนถึงรัชกาลที่ ๕ ตำแหน่งนี้จึงเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็นเสนาบดีการต่างประเทศ

อ๋องเฮงฉ่วนถึงจะเป็นหลวงศิริสมบัติแล้วก็ยังคงรักษาสถานะความเป็นนายพานิชสำเภาดังเช่นเดิม เมื่อใดที่แต่งเรือสำเภาของตนออกไปค้าขายยังเมืองจีนก็นำสำเภาหลวงไปด้วย การเป็นผู้จัดการนำเรือสำเภาหลวงไปทำการค้าขายนั้น ตามธรรมเนียมจะได้รับพระราชทานแบ่งกำไรให้สองในสิบส่วน และยกเว้นภาษีจังกอบต่างๆให้ อ๋องเฮงฉ่วนค้าขายมีกำไรทั้งเข้าพระคลังและเข้ากระเป๋าตนเอง วินวินด้วยกันทั้งคู่ แม้ธุระราชการมิบกพร่องหน้าที่ ทุกเวลา ๓ ปี ก็จะพาคณะราชทูตสยามออกไปจิ้มก้องยังกรุงปักกิ่งมิได้ขาด ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในรัชกาลนี้กรุงศรีอยุธยาส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับจีนถึงสี่ครั้ง ทำให้การค้าขายระหว่างสยามกับจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก

ท้ายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระเมื่อทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคตนั้น มีพระราชประสงค์จะพระราชทานราชสมบัติให้แก่ให้เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์โต ซึ่งทรงพระผนวชป็นพระภิกษุอยู่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่ทรงยินดีรับ เพราะขณะนั้น เจ้าฟ้าพร พระราชอนุชาของพระเจ้าอยู่หัวผู้ครองวังหน้าในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงเป็นพระมหาอุปราชอยู่ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระขัดพระทัยจึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าฟ้าอภัย พระราชโอรสพระองค์รองขึ้นครองแผ่นดินแทน เรื่องนี้ทำให้กรมพระราชวังบวรไม่พอพระทัย นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่า หากเจ้าฟ้านเรนทรทรงรับแต่แรก กรมพระราชวังบวรคงจะยอมรับ แต่นั่นก็เป็นเพียงสมมติฐาน ส่วนความจริงก็คือภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระไม่นานก็เกิดการสู้รบระหว่างอากับหลานขึ้น กลายเป็นสงครามกลางเมือง ใช้เวลากว่าปีจึงพอจะสงบลง

ศึกคราวนั้นกรมพระราชวังบวรเป็นฝ่ายมีชัย เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระถูกจับไปสำเร็จโทษตามธรรมเนียม ส่วนพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทรผ้าเหลืองคุ้มอยู่จึงรอดไป พระมหาอุปราชก็ได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือที่ชาวกรุงศรีเรียกว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามดังกล่าวนี้เรียกขานภายหลังเสด็จสวรรคตแล้ว ย่อมาจากคำเต็มๆว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

หลวงศิริสมบัติ (อ๋องเฮงฉ่วน) ไม่มีส่วนในสงครามกลางเมืองครั้งนั้นตามวิสัยพ่อค้าผู้ชาญฉลาดที่จะวางตนเป็นกลางในสถานการณ์ที่ไม่แน่ใจ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปราบดาภิเษกเรียบร้อยแล้วจึงยังรับราชการต่อไปได้ดังเดิม

ในต้นรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ นั้นบ้านเมืองยังไม่สู้จะเรียบร้อย เพราะผู้มีอำนาจรัฐติดภารกิจในการรบราฆ่าฟันกันเอง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจึงเบ่งอำนาจขึ้น รัชกาลที่แล้วคนจีนอพยพเข้ามามาก จึงเกิดตั้วเฮียคนหนึ่งชื่อจีนก่าย คิดกำเริบคุมคนได้ร่วมพัน แล้วคบคิดกันวางแผนจะยึดเมืองหลวงในคราวที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่ลพบุรี นัดแนะกันให้ยกกำลังเข้ามาในเวลากลางคืน แล้วให้รอรวมพลที่ท้องสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งเย็นบริเวณบึงพระราม พร้อมแล้วจึงจะบุกเข้าปล้นพระราชวังหลวงที่อยู่ใกล้ๆกัน

ฝ่ายพระยาเพชรพิชัยซึ่งอยู่รักษาพระนครได้ทราบข่าวร้าย จึงรีบแจ้งบรรดาข้าราชการทั้งปวงให้คุมกำลังออกต่อต้าน หลวงศิริสมบัติ (อ๋องเฮงฉ่วน)ได้นำสมัครพรรคพวกแถวท่าเรือมาเข้าช่วยปราบ พวกกบฏจีนยังไม่ทันจะได้เข้าพระราชวัง ถูกรุมล้อมฆ่าฟันบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็แตกพ่ายหนีไป

พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรีบเสด็จฯโดยชลมารคจากเมืองลพบุรีกลับมายังพระนครศรีอยุธยาทันทีที่ทรงทราบ แล้วดำรัสสั่งให้พิจารณาสืบสาวเอาเรื่อง ครั้งนั้นคนจีนระดับตั้วเฮียถูกฆ่าตายและจับเป็นได้หลายร้อยคน สอบสวนแล้วโปรดเกล้าฯให้นำพวกหัวหน้าไปประหารชีวิต ๕๓ คน พวกรองๆลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้จำคุกไว้ ๑๖๔ คน ที่รอดตาย ๗๐๐ คน ให้ตัดผมเปียออกแล้วสักหน้าเป็นไพร่หลวง ส่งไปทำงานรักษาเรือรบทะเลที่ปากคลองตะเคียนบ้าง ที่แสบๆก็ขังไว้ให้เป็นตะพุ่นหญ้าช้าง

เสร็จการแล้วทรงพระกรุณาความดีความชอบ หลวงศิริสมบัติ (อ๋องเฮงฉ่วน) เป็นคนหนึ่งที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย

ต่อมาออกพระโชฎึกราชเศรษฐี (อ๋องเฮงฉ่วน) ได้ข่าวจากนายสำเภาจีนที่เพิ่งเข้ามาเทียบท่ากรุงศรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชกำลังสมคบกับพวกเจ้าเมืองแขกผิดสังเกต เกรงว่าพวกหัวเมืองปักษ์ใต้จะร่วมกันคิดการขบถ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาตนำกำลังพลไปสร้างค่ายที่บ้านโกรกกราก ใกล้ปากน้ำท่าจีนค่ายหนึ่ง ที่ปากน้ำแม่กลองค่ายหนึ่ง และที่หน้าวัดพระธาตุปากน้ำพระประแดงอีกค่ายหนึ่ง เพื่อที่จะได้รับมือหากนครศรีธรรมราชจะยกทัพเข้ามาจริงตามข่าว ทรงมีพระราชานุญาตตามคำกราบบังคมทูลเสนอ

เจ้าพระยานครศรีธรรมราชคงจะมีสายสืบรายงานการเคลื่อนไหวในเมืองหลวง จึงไม่ได้กระทำการอะไรต่อให้เป็นภัยต่อตัวเอง แต่บังเอิญมีเหตุว่าทหารจากเมืองตานียกกองเรือมาขึ้นบกที่ปากน้ำเมืองเพชรบุรี เจ้าเมืองที่ได้รับคำสั่งให้เฝ้าดูอยู่ก็รีบมีใบบอกมายังค่ายเมืองสมุทรสงคราม ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี (อ๋องเฮงฉ่วน) จึงรีบยกทัพเรือออกไปได้โดยทันการ และสามารถจับได้เรือสำเภาแขกเมืองตานีได้หลายลำ ทหารที่มากับเรือให้การว่ามาติดตามจับพวกโจรสลัดที่ออกปล้นในทะเล ไม่ได้คิดจะมาปล้นเมืองไทย จึงโปรดเกล้าฯในฐานกรุณา ให้สักข้อมือเป็นเชลยแขกสังกัดกองอาษาจาม มอบไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของออกญาราชวังสันถึง ๒๖๗ คน

ความดีความชอบของออกพระโชฎึกราชเศรษฐี (อ๋องเฮงฉ่วน) ในครั้งนี้มีมาก ครั้นเจ้าพระยาพระคลังถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าฯให้ออกพระโชฎึกราชเศรษฐี (อ๋องเฮงฉ่วน) ขึ้นว่าที่เจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ เป็นเสนาบดีจตุสดมภ์แทนสืบต่อไป ตามเอกสารเรียกราชทินนามนี้ว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (จีน) แต่ชาวบ้านถนัดปากเรียกว่าเจ้าคุณพระคลังจีน

http://www.sakulthaionline.com

⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
แน็ก ชาลี ยอมรับ อักษรย่อ ว. คือแม่ผมเอง ลั่นพร้อมจ่ายแทนเต็มที่ขอเน้นย้ำถึงกลุ่มที่ยังไม่ได้รับเงิน กรุณาแก้ไขบัญชีโดยด่วน เงินจำนวน 10,000 บาทจะถูกโอนในรอบสุดท้ายในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ปลัดสาวเมาขับ ชนเด็กเสียชีวิตกลัวการขาดมือถือ เล่นมือถือทั้งวัน วันไหนไม่ได้เล่นเหมือนจะขาดใจ คุณอาจเป็น “โนโมโฟเบีย (Nomophobia)”ทำไมสนมเมื่อออกจากวังหลวงจึงมีบุตรยาก? ฮ่องเต้ปูยีเปิดเผยความลับนี้ลิลลี่ ได้หมดฯ ฉลองวันเกิดสุดแซ่บ! เจอแซวแรง รีบสวนกลับทันควันนักท่องเที่ยวดื่มเหล้าปนพิษในลาว กลายเป็นดราม่าเดือด เมื่อชาวเกาหลีขยี้มุมมองจนต้องร้อง อีหยังวะเจ้าอาวาสหลับลึกเกิน ปลุกกันทั้งวัดก็ยังไม่ตื่น ถึงกับต้องงัดประตูไปช่วย ลูกศิษย์บอกเพราะท่านหูตึงถอนผมหงอก ยิ่งถอนยิ่งหงอกจริงหรือไม่ ดูแลเส้นผมอย่างไรเมื่อเริ่มมีผมหงอกแห่ถาม "หนุ่ม กรรชัย" ลาออกแล้ว"ไวรัลชุดเชียร์ลีดเดอร์คณะพายุ: ชุดหรือศิลปะ?"กระหน่ำยิงโคราช!ล่าสุดดับหนึ่งราย!
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
แห่ถาม "หนุ่ม กรรชัย" ลาออกแล้ว"ไวรัลชุดเชียร์ลีดเดอร์คณะพายุ: ชุดหรือศิลปะ?"สกัดจับแก๊งซิ่ง'น้ำไม่อาบ'!บางรายเจ็บสาหัส!
ประโยชน์ของชาเขียวโครงการช่วยเหลือให้เกิดสภาพคล่องของเศรษฐกิจรู้หรือไม่? แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้ข้อมูลอะไรหลอกลวงคุณแผนที่ที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรปอายุ 4,000 ปี
ตั้งกระทู้ใหม่