2ข้อคิดการทำงานจากสามก๊ก ใช้ได้ตลอดชีวิต!
เรื่องราวของ สามก๊ก มีข้อคิดมากมาย วันนี้ฝากไว้ 2 ประเด็น คือ
- การดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย หรือความสำเร็จ นั้น สำหรับนักทำงาน มี 2 แบบ
1.1 นักทำงานที่ยึดเอาผลลัพธ์ เป็นสำคัญ หรือ The end justifies the means ตัวอย่างของการทำงานลักษณะนี้คือ โจโฉ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการน้อย แต่ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มาก
1.2 นักทำงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ เช่น เล่าปี่ ที่เน้นคุณธรรมเป็นหลัก
เราสามารถวิเคราะห์วิถีของเล่าปี่ได้ว่า ...
เล่าปี่ เมื่อแรกตั้งตัว นั้นมี ทหารในมือเพียงหลักหมื่น ตั้งทัพอยู่ที่เมืองซินเอี๋ย ต่อมาเล่าเปียว ซึ่งรู้ว่าลูกชายตัวเองไม่สามารถปกครองเมืองได้ จึงขอร้องให้เล่าปี่ช่วยปกครองเมืองเกงจิ๋วต่อ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีกำลังทหาร 2 แสน เหมาะที่จะเป็นฐานที่มั่นยันทัพใหญ่ของโจโฉได้ บวกกับกำลังความสามารถของกุนซือและทหารเอก อย่าง ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย จูล่งแล้ว ย่อมสามารถตั้งรับทัพโจโฉ ได้แน่นอน แต่เล่าปี่ก็ปฏิเสธ ด้วยเกรงว่าจะถูกครหานินทา,
ไม่นาน โจโฉ ก็ยกทัพเข้ายึดเมืองเกงจิ๋ว อย่างง่ายดาย เพราะเล่าเปียวที่เจ็บป่วย ก็ยอมยกเมืองให้โจโฉ แต่เมื่อได้เมืองแล้ว โจโฉกลับฆ่าครอบครัวของเล่าเปียวเสียหมด แล้วยึดเอากองทัพของเกงจิ๋ว แล้วยกไปรุกก๊กซุนกวน
ตัวเล่าปี่เอง แม้จะตั้งทัพยันทัพโจโฉ ที่เมืองซินเอี๋ย ไว้ได้ แต่ด้วยกำลังที่น้อยกว่ามาก ก็ต้องอพยพผู้คน หนีทัพโจโฉ แต่ก็ถูกทัพโจโฉตามทัน และทำให้ผู้คนต้องล้มตายไปเป็นอันมาก
กระทั้งเมื่อได้ร่วมมือ กับซุนก๊ก กองทัพของเล่าปี่ กับซุนกวนจึงสามารถเอาชนะทัพเรือของโจโฉได้ ด้วยความสามารถและความร่วมมือของ ขงเบ้ง และจิ๋วยี่
วิเคราะห์ การทำงานของเล่าปี่ ที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าทรงคุณธรรมมาก ขนาดเล่าเปียวยกเมืองให้ก็ไม่รับ, .. มองอีกด้านหนึ่ง ถ้าเล่าปี่ ยอมรับปกครองเมืองเกงจิ๋ว สถานการณ์จะตีกลับว่า ... เล่าเปียว และครอบครัวจะไม่ถูกฆ่า เมืองเกงจิ๋ว และกองทัพเกงจิ๋ว จะสามารถต่อกรกับทัพโจโฉได้อย่างแน่นอน ด้วยความสามารถของขงเบ้ง และทหารเอกของเล่าปี่ ผู้คนไม่ต้องอพยพหนีตาย จากทัพโจโฉขนาดนั้น
การกระทำของเล่าปี่นั้นวิเคราะห์ได้ว่า
- ถ้าเล่าปี่มองไม่ออก ว่าอนาคตเมืองเกงจิ๋วจะเป็นอย่างไรนั้น แปลว่า มือไม่ถึง,
- ถ้าเล่าปี่มองออก แต่ยังทำ คือ ปฏิเสธที่จะปกครองเมืองเกงจิ๋ว โดยเอาแต่ยึดภาพลักษณ์ที่ต้องรักษาคุณธรรมของตัวเอง ก็แปลว่า โหดมาก เพราะถือตัวเองเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้คิดถึงคุณประโยชน์ของอาณาประชาราษฎ์ ส่วนรวม
คำถามก็อาจมีว่า แล้ว การทำงานแบบไหนดี แบบไหนถูก ผลลัพธ์ หรือ วิธีการ ด้วยหลักพุทธวิธีแล้ว ต้องใช้ทั้งสองอย่างผสมผสานกัน จะเอาแต่ผลลัพธ์ โดยไม่สนใจวิธีการว่าถูกหรือผิด นี้ก็ใช้ไม่ได้, แต่จะเน้นวิธีการ แล้วผลลัพธ์เสียหาย ก็ไม่ได้อีก
เช่นกรณีเล่าปี่ ... ถ้าหากว่า มองอนาคตเมืองเกงจิ๋วออก แล้วบอกจะปกครองเกงจิ๋วเอง แล้วยึดอำนาจแย่งเอา อันนี้ไม่ถูก, ถือว่าเนรคุณ, แต่ในกรณีนี้ เจ้าเมือง ขอร้องให้รับปกครองเมืองต่อ เพราะเล่าเปียวรู้จักลูกตัวเองดีว่าไม่มีความสามารถ และครอบครัวเล่าเปียวจะปลอดภัยด้วย แล้วเล่าปี่ยอมรับปกครองเมือง ดูแลครอบครัวเล่าเปียว ตั้งรับโจโฉ ถ้าเป็นแบบนี้, เล่าเปียวและครอบครัวก็ปลอดภัย ทหาร และประชาชนก็มีทางรอด
- เมื่อประสบความสำเร็จ อย่าหึกเหิมลำพองใจ
โจโฉ รบที่ใดก็ชนะ รบชนะก็รวมคนดีมีความสามารถเข้ามาทำงานกับตัวเอง แล้วก็ประสบความสำเร็จก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่ในการศึกกับซุนกวน ที่ถือได้ว่า หากโจโฉชนะ ก็สามารถรวมแผ่นดินได้, แต่การณ์ ณ จุดนี้ โจโฉลำพองตัว ไม่ฟังใครทั้งนั้น จนในที่สุดก็ได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
แม้เล่าปี่เอง ผู้มีมือพนมทั้งสิบทิศ ในตอนแรก ขงเบ้งแน่ะนำอะไรทำตามทั้งหมด ก็ประสบความสำเร็จมาตลอด และสามารถมีกองทัพที่เกรียงไกร ในระดับที่ว่า ก๊กของโจโฉ กับ ซุนกวน ยังสะท้านหวั่นกลัว, แต่เมื่อถึงคราวสถาปนาตัวเองเป็น ฮ่องเต้ เล่าปี่กลับต้องการยกทัพ ไปปราบซุนกวน เพราะต้องการแก้แค้นให้น้องร่วมสาบาน ขงเบ้งเห็นสถานการณ์ทั้งแผ่นดินแล้ว วิเคราะห์ว่าไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ และโดยหลักยุทธศาสตร์แล้ว เล่าปี่ควรร่วมมือกับซุนกวน แล้วยกไปปราบก๊กโจโฉซะ แบบนี้ เล่าปี่จะสามารถรวมแผ่นดินได้สำเร็จ แต่เล่าปี่ไม่ฟังใครทั้งหมด เอาแต่จะไปแก้แค้นกับซุนกวนอย่างเดียว และไม่ให้ขงเบ้งไปด้วย, ... ผลคือ ถูกแม่ทัพซุนกวน วางแผนเผาทหารซะราบ เล่าปี่ทั้งแค้นทั้งอาย ไม่กล้ากลับไปมองหน้าขงเบ้ง และขุนนาง ในที่สุดก็ตรอมใจตาย ที่เมืองเล็กๆ
คนเราเมื่อเกิดทิฏฐิมานะทรนงตัวเมื่อไหร่ ก็ไม่รอด
เพราะฉะนั้น หนทางสู่ความสำเร็จ ต้องคำนึงถึง ความถูกต้อง และผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว อย่าทะนงตน จงอ่อนน้อมถ่อมตนเสมอ ทำได้อย่างนี้ ความสำเร็จที่ได้ จะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน
ขอบคุณภาพประกอบ https://www.bluestacks.com/apps/strategy/three-kingdoms-tactics-on-pc.html