ตัวอย่าง
หนี้สินล้นพ้นตัวถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย หากลูกหนี้สามารถนำสืบได้ว่าตนมิได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลไม่อาจสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายได้
หลายๆ ท่านอาจจะเกิดปัญหาสภาวะเงินติดขัดหมุนเงินไม่ทันจนถูกเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าจะตามสัญญา ตามการจ้างงานหรือตามธุรกิจค้าขายของตนที่ได้ให้ไว้ต่อเจ้าหนี้ เมื่อตกเป็นผู้ผิดนัดเจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลไม่ว่าจะเรียกร้องเอาจากศาลแพ่ง หรือข้ามไปยื่นให้เป็นบุคคลล้มละลายตามมูลหนี้ได้ เมื่อลูกหนี้มิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวกลับถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีทางที่จะชำระหนี้ของตนได้อยู่ หากพิสูจน์ไม่ได้ย่อมตกเป็นบุคคลล้มละลายเป็นแน่นอน แต่เมื่อพิสูจน์ได้แล้วศาลก็ไม่อาจสั่งให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายได้
ตัวอย่าง นาย ก เป็นหนี้ นาย ข สามสิบล้านบาท เมื่อหนี้ครบกำหนด นาย ก ไม่ได้ชำระเงินใดๆ แก่นาย ข เลยเมื่อนาย ข เห็นว่านาย ก ไม่ได้มีทรัพย์สินมากมายพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งทรัพย์ที่นำมาจำนองค้ำประกันเงินกู้ก็มีมูลค่าเพียงยี่สิบล้านบาทเท่านั้นยังขาดไปอีกสิบล้าน และตนก็มิได้รู้ถึงทรัพย์สินอื่นใดของนาย ก อีกเลย จึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้นาย ก เป็นบุคคลล้มละลายและนำทรัพย์ออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่ตน แต่นาย ก กลับเข้าสู้คดีว่าตนยังมีทางอื่นที่จะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ นาย ข ได้ เพราะยังมีที่ดินอีกจำนวนร้อยกว่าไร่ ราคาประเมินรวมไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะสั่งให้นาย ก เป็นบุคคลล้มละลายได้ จึงต้องพิพากษายกฟ้องนาย ข ออกเสีย
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2548 จำเลยที่ 1 กับเพื่อนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการเปิดคลินิกทันตแพทย์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าเป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ติดต่อชำระหนี้แก่โจทก์อีกหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์อีกเพื่อขอผ่อนชำระหนี้ ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้ทำงานประจำที่คลินิกทันตกรรม มีรายได้ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 60,000 บาท กรณีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มาเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพโดยสุจริต แม้ไม่ประสบความสำเร็จก็ยังพยายามติดต่อขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมา การกระทำดังกล่าวย่อมแสดงถึงความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในภาระหนี้ที่มีต่อโจทก์ เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพทันตแพทย์และมีรายได้ในการประกอบอาชีพที่แน่นอน ประกอบกับความพยายามโดยสุจริตในการที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นอีก จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในวิสัยที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย
สรุปคือหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินคือ เอาหนี้- ทรัพย์สิน หนี้ต้องมากกว่า 1ล้าน ศาลอาจสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายได้