เปิดใจ "ไอค่อนแพรี่" สาวหมอลำ LGBTQ+
เรามาทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้นกว่านี้ “ไอค่อนแพรี่” หรือ “ธันยบูรณ์ ทิพย์รักษ์” สาวหมอลำ LGBTQ+ วัย 20 ปี หัวหน้าคณะหมอลำ “เฟมินิสต์บันเทิงศิลป์” ซึ่งเป็นคณะหมอลำคณะแรก และก็น่าจะเป็นคณะเดียวในตอนนี้ ที่ได้รวบรวมเอานักร้อง-นักแสดงที่เต็มไปด้วยกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ใครถนัดหน้าที่ไหนก็ทำอันนั้นไป โดยไม่คำนึงถึงรูปร่างหน้าตาตาม Beauty Standard หรือไม่สนใจในเรื่องข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น และที่สำคัญ นอกเหนือจากจะสร้างเป็นอาชีพแล้ว เธอก็ยังตั้งใจที่จะใช้ความบันเทิงในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมผ่านเวทีหมอลำโดยเฉพาะความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำแท้ง, พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม, Sex Worker เพราะเธอเองบอกว่า เธอเติบโตมากับความเจ็บปวดที่ต้องโดนบูลลี่ และโดนล้อเรื่องเพศมาโดยตลอด
“เราก็คิดว่าเรียกร้องยังไงไม่ให้คนเครียด เราก็เลยใช้เสียงเพลงมาด้วย เพื่อให้ทุกคนคลายเครียด ดูแล้วมีรอยยิ้ม ดูแล้วมีความรู้สึกสนุก ดูแล้วมีความรู้กลับไปด้วย” ไอค่อนแพรี่กล่าว
นอกจากนี้ เธอเองยังมีอีกหนึ่งบทบาท ก็คือ “สตรีมเมอร์” ผ่านช่องทางยูทูป “Icon_channel” อีกด้วย และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เราจะบอกว่า เธอเป็นเพียงแค่เด็กวัย 20 ปี ที่มีความฝันอย่างเช่นคนอื่นๆ ที่ใช้ทั้งสองอาชีพ ดูแลครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เธอมีความน่าสนใจยังไงบ้าง เราจะพาไปรู้จักกับเธอให้มากขึ้น รวมถึงจุดเริ่มต้นในการตั้งคณะหมอลำของเธออีกด้วย
“พอดีตัวเองก็เป็นคนตกงานอยู่แล้ว แล้วก็เป็นนักร้องด้วยในตอนนั้น แล้วก็แต่ก่อนตัวเองก็เคยเป็นนักร้องร้านเหล้า แล้วก็เคยเป็นเด็กเสิร์ฟ แล้วทีนี้ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดนะคะ แล้วรู้สึกตัวเองไม่มีจะกิน รู้สึกว่าเราต้องไปเรียกร้องอะไรสักอย่าง เราก็เลยออกไปตามม็อบ
หลายๆ คน ก็จะเห็นว่าไอค่อนชอบใส่ชุดหมอลำไปตามม็อบ ก็คือ เป็นชุดตัวเองเลย เป็นอาชีพของตัวเองเลย ที่เราไปแสดงออก แล้วก็ไปแสดงอัตลักษณ์ทางเพศเราด้วยว่าเราเป็นหมอลำ เราตกงาน แล้วก็เราเป็น LGBTQ+ ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลชุดนี้ด้วย หนูจะเรียกร้องประเด็นที่ถูกลืม เป็นอาชีพที่ทำงานกลางคืน เรียกร้องสมรสเท่าเทียม แล้วก็sex worker มันเยอะค่ะ ในเฟมินิสต์ของหนู ไหนจะเรื่องการทำแท้งให้ถูกกฎหมาย” ไอค่อนแพรี่กล่าว
เธอเริ่มยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยได้จากการวิ่งเต้นหาทุนด้วยมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ และรับงานโชว์ไปทั่วประเทศ จนตอนนี้มีสมาชิกในวงทั้งหมด 56 คน
“ใช้หมอลำในการขับเคลื่อน ในปัจจุบันสังคมไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ในประเด็นที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ แล้วก็ทำให้ปัญหาที่ไม่เข้าใจที่เกี่ยวกับเพศมันเยอะด้วยในสังคมที่เรียกร้องในปัจจุบันนี้ จึงเป็นปัญหาความรุนแรงในสังคมตลอดมา ยกตัวอย่างในสังคมอีสานนะคะ ที่เราทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่คิดว่า เพศหลากหลายเป็นเพศที่อ่อนแอ ตลก ไม่เข้าใจของมิติของการแสดงออก ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของเรา แล้วก็ในสังคมอีสานมักถูกบูลลี่ด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเกย์ ทอม กะเทย ดี้ ออกไปหน้าบ้านก็โดนบูลลี่ว่า อีกะเทยสันใหญ่นี่มันไปไส อีกะเทยจังซั่น อีกะเทยจังซี่ (พูดภาษาอีสาน) มันก็โดนบูลลี่มาเยอะในสังคมอีสาน เราก็เลยอยากใช้หมอลำขับเคลื่อนในการสื่อสาร แล้วก็ในการแสดง แล้วก็กลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์จึงสนใจในประเด็นเหล่านี้ แล้วเราก็รวบรวมพลังเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีในการจัดตั้งในกลุ่มๆ นี้ ส่วนมากเราทำงานขับเคลื่อนร่วมกับเด็ก และเยาวชนเยอะพอสมควร เพราะว่าในกลุ่มมีแต่เยาวชนตั้งแต่อายุ 13 ปี จนถึงอายุ 25 ปี แล้วก็ในการขับเคลื่อนนี้มันก็ต้องใช้คนอีสานเยอะด้วย ประมาณนั้นค่ะ แล้วก็ในเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์เวลาขับเคลื่อน พวกหนูก็ต้องใช้เสียงเพลงในการขับเคลื่อนด้วย สอดแทรกเรื่องละครการ เช่น สอดแทรกเรื่อง เรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม แล้วก็โชว์อาชีพที่ถูกลืม อย่างเช่น เรากำลังแสดงโชว์คาบาเร่ต์อยู่ แล้วอยู่ดีๆ โควิดก็มา แล้วรัฐบาลก็ไม่เยียวยาอะไรประมาณนี้ เราก็สอดแทรกทั้งในอาชีพเราด้วย แล้วก็สอดแทรกในการเรียกร้องในประเด็นทางการเมืองด้วย เราก็คิดว่าเรียกร้องยังไงไม่ให้คนเครียด เรียกร้องยังไงไม่ให้มันเครียด เราก็เลยใช้เสียงเพลงมาด้วย เพื่อให้ทุกคนคลายเครียด ดูแล้วมีรอยยิ้ม ดูแล้วมีความรู้สึกสนุก ดูแล้วมีความรู้กลับไปด้วย มันก็หลายอย่างนะคะภายในกลุ่มเฟมินิสต์บันเทิงศิลป์ เพราะว่าเราไม่ได้เรียกร้องสิ่งๆ เดียว แต่เราเรียกร้องทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นหลักสิทธิในทางการเมือง” ไอค่อนแพรี่กล่าวเสริม
ซึ่งเธอก็ช่วยเล่าให้เห็นภาพชัดๆ ในการแสดงโชว์ของเธอกับคณะว่า เป็นเหมือนวงหมอลำโดยทั่ว ๆ ไป เพียงแต่มีความหลากหลายของสมาชิกในวง รวมถึงไม่ลืมที่จะสอดแทรกโชว์เพื่อสะท้อนสังคม ผ่านบทละครในทุกๆ ครั้ง เพื่อให้คนได้ซึมซับ และเข้าใจพวกเธอเองให้มากขึ้นอีกด้วย