ทำไมพระเรียกผู้หญิงว่า "สีกา"
หากเราสงสัยกันว่า ทำไมพระท่านถึงเรียกผู้หญิงว่าสีกา เป็นสีอื่นไม่ได้เหรอ มีคำตอบให้ว่า
เป็นสีอื่นไม่ได้หรอก ต้องเป็นสีกานั่นแหละ เพราะคำนี้ตัดมาจากคำว่า อุบาสิกา ซึ่งเป็นคำที่บรรพชิตเรียกคฤหัสถ์ผู้หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง คำ อุบาสิกา คงจะยาว เรียกไม่สะดวกปาก จึงถูกตัดเหลือเพียง “สิกา” แล้วกลายเป็น “สีกา” ในที่สุด
เมื่อมีอุบาสิกาแล้วก็ต้องมีอุบาสก ซึ่งหมายถึงชายผู้แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา เรียกอย่างสั้นว่า “ประสก”
อุบาสิกาจึงคู่กับอุบาสก และสีกาก็คู่กับประสก
ถูกต้องที่สุด และที่ถูกไปกว่านั้น พระ-เณร ต้องเรียกพุทธศาสนิกชนชายว่า "ประสก" เรียกต้องเรียกพุทธศาสนิกชนหญิงว่า "สีกา"
ส่วนที่เราได้ยินกันคุ้นหูอยู่ทุกวันนี้ พระ-เณร จะเรียกรวมกันไปหมดว่า "โยม" ซึ่งความจริงแล้วคำว่าโยม ใช้เรียกคนที่เป็น พ่อ-แม่ ของพระหรือเณรหรือเรียกผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับบิดามารดา เช่น โยมพ่อ โยมแม่ โยมย่า โยมยาย โยมน้า จึงจะถูกต้องกว่า
ที่มา : พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ความหมาย
น. คําที่พระสงฆ์ใช้เรียกบิดามารดาของตนหรือเรียกผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับบิดามารดา เช่น โยมพ่อ โยมแม่ โยมย่า โยมยาย โยมน้า; เป็นคําใช้แทนชื่อบิดามารดาของพระภิกษุสามเณร; เรียกผู้ที่เป็นบิดามารดาของพระว่า โยมพระ; เรียกผู้ที่แสดงตนเป็นผู้อุปการะพระภิกษุสามเณรโดยเจาะจงว่า โยมอุปัฏฐาก; เรียกฆราวาสที่อยู่ปฏิบัติรับใช้พระภิกษุสามเณรในวัดว่า โยมวัด; เรียกฆราวาสผู้อุปการะพระทั่ว ๆ ไป ว่า โยมสงฆ์
พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร