การออมเละจัดการการเงิน ในยุคที่ค่าครองชีพสูง
การออมเงินหรือการจัดการเงินนั้นถือว่าสำคัญมากในยุคสมัยปัจจุบัน เนื่องจากผลของเศรษฐกิจ หรือค่าครองชีพต่างๆที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้นเพราะฉะนั้นการออมเงินหรือการจัดการเงินภายในครัวเรือนถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากเพื่อความมั่นคงภายในครอบครัว หรือความมีภูมิคุ้มกันเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน
รู้กระแสเงินสดของคุณ
คุณอาจคิดว่าคำศัพท์อย่างเช่น "กระแสเงินสด" และ "ค่าใช้จ่าย" เป็นคำที่ใช้ในที่ทำงานเท่านั้น แต่การใช้จ่ายเงินให้ดีนั้นเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจหรือเพียงต้องการแน่ใจว่าครอบครัวของคุณไม่ใช้จ่ายมากเกินไป การทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับเงินที่คุณได้รับในแต่ละเดือนและเงินที่คุณจ่ายออกไปเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง คุณไม่สามารถจัดการงบประมาณได้ถ้าคุณไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วคุณมีงบประมาณเท่าใด
ถ้าคุณคิดว่าการจดจำเรื่องทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยากเกินไป ให้ลองใช้ Excel เพื่อสร้างแผ่นงานแสดงงบประมาณ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น คุณควรจัดเก็บข้อมูลนี้ไว้ในเอกสารออนไลน์ที่ปลอดภัยเพื่อให้คุณสามารถเข้าถึงได้ทุกที่และอัปเดตข้อมูลได้เมื่อสถานการณ์ในชีวิตของคุณเปลี่ยนไป ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณต้องแสดงรายการ
- รายได้ต่อเดือน (รายได้สุทธิและแหล่งรายได้อื่นๆ)
- การชำระค่าบัตรเครดิต (ตัวเลขโดยประมาณ)
- เบี้ยประกันที่ถึงกำหนดชำระ (ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ฯลฯ)
- การชำระค่าจำนองหรือค่าเช่า
- เงินกู้นักเรียน (ถ้ามี)
- ค่าใช้โทรศัพท์มือถือ
- ค่ากินอยู่ (ค่าอุปโภคบริโภค และค่าสาธารณูปโภคโดยเฉลี่ยต่อเดือน)
- ค่าใช้จ่ายในการใช้รถหรืองบประมาณการใช้ขนส่งสาธารณะ
- ค่าดูแลลูก/ค่าสมาชิกการเข้ายิม ฯลฯ
- เงินออม/เงินฉุกเฉิน (เงินที่คุณตั้งใจจะออมในแต่ละเดือนโดยสามารถทำได้แน่นอน)
เมื่อคุณหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกจากเงินเดือนของคุณแล้ว คุณจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าคุณมีรายได้ในครัวเรือนเหลืออยู่
สร้างความคาดหวังในการออมของคุณที่ทำได้จริง
แน่นอนว่าเราทุกคนอยากออมเงินให้ได้ 10,000 บาทต่อเดือน แต่นั่นเป็นไปไม่ได้สำหรับคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ให้กำหนดงบประมาณและแผนการใช้จ่ายที่สามารถทำได้ ถ้าคุณตั้งเป้าหมายที่จะประหยัดเงิน 4,000 บาท แต่พบว่าค่าใช้จ่ายรายเดือนของคุณเบียดเบียนเงินส่วนนั้นอยู่ตลอด คุณจะเริ่มคิดว่าคุณใช้จ่ายมากเกินไปอย่างต่อเนื่องและต้องเผชิญกับความเครียดทั้งหมดที่เกิดจากเรื่องนี้ ในความเป็นจริงแล้ว เงินออม 3,000 บาท ยังคงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและคุณไม่ควรรู้สึกผิดที่ต้องจ่ายบิล
จับตาดูค่าใช้จ่ายของคุณ
การรู้ว่าคุณสามารถประหยัดอะไรได้บ้างเป็นเรื่องที่ควบคู่ไปกับการรู้ว่าคุณสามารถใช้จ่ายอะไรได้บ้าง เราทุกคนรู้สึกผิดที่คิดว่าการใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ จะไม่สร้างความแตกต่าง แต่รายจ่ายเล็กน้อยเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อคุณกำหนดงบประมาณรายเดือนของคุณ อย่าจำกัดจำเขี่ยในเรื่องการใช้จ่ายของคุณ ถ้าคุณรู้ว่าคุณใช้จ่ายเงิน 200 บาทต่อสัปดาห์ในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ให้คิดส่วนนี้ด้วย หรือบางทีคุณอาจใช้จ่าย 200 บาทกับการอยู่บ้านและใช้บริการสตรีม เมื่อคุณสร้างภาพรวมที่รัดกุมเกี่ยวกับการเงินในบ้านของคุณ ให้พยายามอย่างสุดความสามารถ
ดูว่าธนาคารของคุณช่วยได้หรือไม่
แพลตฟอร์มการธนาคารออนไลน์จำนวนมากอนุญาตให้คุณกำหนดเป้าหมายการออม และจะส่งอีเมลแจ้งเตือนถึงคุณถ้าคุณใช้เงินเกินบัญชี ตรวจสอบกับธนาคารของคุณเพื่อดูว่าคุณสามารถตั้งเป้าหมายหรือจำกัดการใช้จ่ายของคุณได้หรือไม่ เพื่อให้คุณมีคนช่วยควบคุมเงินที่ออกจากบัญชีของคุณในแต่ละสัปดาห์ แม้ว่าธนาคารของคุณจะไม่อนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว แต่ก็ยังมีแอปการใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย และเมื่อคุณมีนิสัยในการติดตามการใช้จ่ายของคุณแล้ว คุณจะมีมุมมองที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ใช้สูตรการวางแผนการใช้จ่ายแบบ 50:30:20
สูตรการวางแผนการใช้จ่ายแบบ 50:30:20 นั้นเป็นสูตรที่ค่อนข้างเหมาะสมกับวัยทำงานที่ยังสามารถหาเงินเองได้ จึงสามารถแบ่งเงินเก็บไปใช้เพื่อช็อปปิง หรือแก้เครียดได้มากกว่าสูตรอื่นๆ ซึ่งการแบ่งเงินมาใช้กับความสุขนั้นไม่อยากให้ทุกคนคิดว่าสิ้นเปลืองเสมอไป เพราะถ้าหากชีวิตไม่มีความสุขระหว่างทางก็อาจทำให้เรารู้สึกท้อแท้ในการใช้ชีวิตได้ โดยสูตรการวางแผนการใช้จ่ายแบบ 50:30:20 นั้นมีรายละเอียด ดังนี้
แบ่งสำหรับใช้จ่ายจำเป็น 50%
เงินส่วนนี้จะเป็นเงินส่วนที่แบ่งออกมาจากรายได้มากที่สุด เพราว่าต้องนำเงินนั้นไปจ่ายสิ่งที่จำเป็นหลายอย่าง หรือค่าใช้จ่ายประจำเดือนของตัวเอง โดยส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายประจำของแต่ละคนมีอะไรบ้างนั้นสามารถดูตามนี้ได้ เช่น
- ค่าเดินทางไป-กลับแต่ในละวันของเดือน หรือค่าผ่อนรถ
- ค่าเช่าบ้าน หรือค่าผ่อนบ้าน
- ค่าน้ำ และค่าไฟ
- ค่าอาหารในแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน
- หนี้สินต่างๆ หรือค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ ต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุข 30%
การวางแผนการใช้จ่ายในส่วน 30% นั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับสิ่งที่ต้องการ หรือเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต โดยเงินส่วนนี้มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของเราเป็นอย่างมาก และสำหรับหลายๆ คนนั้นเงินส่วนนี้ยังเป็นเงินที่นำไปใช้กับการเที่ยวกับเพื่อน คนรัก และครอบครัว ซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญในชีวิตสังคมเช่นกัน และตัวอย่างของค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขนั้นมีดังนี้
- ค่าอาหารที่แพงกว่าปกติก็สามารถเอาจากส่วนนี้ไปบวกได้
- ของใช้ หรือสิ่งของที่อยากได้
- งานอดิเรก หรือของเก็บสะสม
- ไปท่องเที่ยวกับเพื่อน คนรัก หรือครอบครัว
แบ่งเก็บ 20% ก่อนที่จะใช้หมด
การมีเงินเก็บ หรือเงินออมเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต โดยการแบ่งเก็บ 20% ตามสูตรการวางแผนการใช้จ่าย ซึ่งเงินส่วนนี้จะสามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่น
- เงินออมฉุกเฉิน เป็นเงินที่มีไว้ใช้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นเวลาเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย หรือเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น
- เงินใช้หลังเกษียณ เป็นเงินเก็บที่เตรียมไว้ใช้ในยามที่เกษียณจากงานแล้ว
- เงินเพื่อลงทุน เป็นอีกตัวเลือกที่ดีกว่าการเก็บเงินไว้เฉยๆ โดยการลงทุนที่เป็นในรูปแบบ Passive Income จะเป็นการเพิ่มเงินโดยที่ไม่ต้องเพิ่มงานมากขึ้น
- ขั้นตอนการวางแผนการเงินให้เห็นผล
- สำหรับขั้นตอนการวางแผนการเงินให้เห็นผลนั้นจะต้องพึ่งปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแผนการเงินที่เหมาะสมกับตัวเอง หรือการจัดทำแผนการเงิน เพื่อให้ทุกคนสามารถทำตามแผนได้จริง และเห็นผลได้ชัดเจน โดยรายละเอียดขั้นตอนการวางแผนการใช้จ่ายนั้นมีทั้งหมด ดังนี้
- เลือกแผนการเงินที่เหมาะกับเรา
- จุดเริ่มต้นของการวางแผนการใช้จ่ายให้เหมาะกับตัวเอง คือ การประเมินจากสถานะทางการเงินของตัวเองว่าตอนนี้ค่าใช้จ่ายประจำมีอะไรบ้าง มีหนี้สินที่ต้องใช้เท่าไหร่ และมีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายจะสามารถช่วยให้ประเมินสถานะทางการเงินของตัวเองได้ง่ายขึ้น
จัดทำแผนการเงิน
หลังจากเลือกแผนการเงินที่เหมาะกับตัวเองได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การวางแผนการใช้จ่าย หรือการจัดทำแผนการเงินนั่นเอง ซึ่งการจัดทำแผนการเงินนั้นสามารถทำให้สภาพการเงินของเรามีความคล่องขึ้น เช่น มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่สามารถลด หรือควรบวกเพิ่ม เพื่อทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปได้อย่างสะดวก หรือว่ามีรายได้ใดบ้างที่สามารถหาเพิ่ม หรือทำให้มีประสิทธิภาพต่อเวลาที่เสียไปได้มากขึ้น หรือสามารถลงทุนที่ไหนได้บ้าง แต่ว่าทุกอย่างที่ทำไปนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ และไม่ก่อให้เกิดความกดดันกับตัวเองมากเกินไป
ทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังจากจัดการวางแผนการใช้จ่ายสำเร็จแล้ว คือ การทำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพราะถ้าหากขาดการปฏิบัติที่จริงจัง และต่อเนื่อง ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้ โดยหลายๆ ครั้งทุกคนอาจจะท้อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ แต่ว่าให้ย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าเราทำแผนการเงินเช่นนี้ไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อที่จะเก็บเงินแต่งงาน เพื่อจะมีชีวิตตอนเกษียณที่ไม่ลำบาก และไม่ต้องการคนอื่นดูแล หรือเพื่อที่จะมีเงินเหลือมาเที่ยว และใช้จ่ายได้ตามใจชอบ ดังนั้น การนึกถึงแต่เป้าหมายที่ดี และชัดเจนจะช่วยมอบพลังให้เราฝ่าความท้อนั้นไปได้
เคล็ดลับง่ายๆ ที่ช่วยให้การวางแผนการใช้จ่ายง่ายขึ้น
การวางแผนการใช้จ่ายนั้นมีความยากอยู่หลายอย่าง แต่ถ้าหากรู้ถึงเคล็ดลับการวางแผนการใช้จ่ายก็จะช่วยให้สามารถวางแผนได้ง่ายขึ้น โดยเทคนิคที่จะช่วยให้ทุกคนวางแผนการเงินง่ายขึ้น มีดังนี้
เก็บก่อนใช้เสมอ
การเก็บเงินก่อนใช้เสมอ เป็นวิธีการวางแผนการใช้จ่ายที่จะเป็นการเก็บเงินส่วนหนึ่งก่อนจะนำเงินที่เหลือไปใช้ เพราะว่าการเก็บเงินก่อนใช้นั้นจะทำให้เรามีเงินใช้ในยามฉุกเฉิน หรือเวลาที่จำเป็นได้ เพราะสิ่งที่เรียกว่าค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ การมีเงินเก็บจะทำให้เราสามารถผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ง่าย และรวดเร็ว ซึ่งหลายครั้งค่าใช้จ่ายฉุกเฉินก็จะเป็นสิ่งที่ยิ่งปล่อยไว้ยิ่งมีปัญหาเพิ่มขึ้น เช่น การบาดเจ็บหรือป่วย อุปกรณ์ ของใช้ หรือที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหาย หรือ อุบัติเหตุ ดังนั้น การเก็บเงินอยู่เสมอจึงเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยและประหยัดในระยะยาวกว่ามาก
ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายนั้นเป็นการวางแผนการใช้จ่ายที่จะช่วยให้ทุกคนเห็นการใช้เงินทั้งหมด และจะช่วยให้ทุกคนสามารถสังเกตถึงค่าใช้จ่ายประจำของเราได้ว่ามีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้จัดการวางแผนการเงินให้ดี และถ้าหากมีปัญหาเรื่องการเงินก็จะทำให้เรารู้ได้ว่าควรจะปรับปรุงตรงไหน และจะได้ปรับแผนใหม่ได้อย่างถูกต้อง
เก็บบิลใบเสร็จทุกครั้ง
การเก็บบิลใบเสร็จทุกครั้งนั้นควรทำให้เป็นนิสัย เพราะนอกจากจะช่วยให้สามารถติดตามรายจ่ายได้แล้ว ยังสามารถใช้ในการยืนยันการซื้อสินค้า หรือรับบริการได้อีกด้วย ถ้าหากเกิดของที่ซื้อมามีการชำรุดก็จะสามารถนำไปเปลี่ยน หรือซ่อมแซมได้ รวมถึงผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัว การเก็บบิลก็จะช่วยเป็นหลักฐานเวลาเกิดข้อพิพาททางการเงินขึ้นได้ด้วย จึงทำให้เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย
วางแผนการเงินในแต่ละเดือน
การวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือนนั้นควรวางแผนคร่าวๆ ว่าเดือนนี้จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ และจะต้องใช้ทำอะไรบ้าง เพราะในแต่ละเดือนนั้นอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การวางแผนล่วงหน้าจะเป็นการทบทวนตัวเอง และเป็นการเปิดโอกาสให้สังเกตตัวเองด้วยว่าควรปรับเปลี่ยนแผนการเงินส่วนไหนหรือไม่
ทบทวนแผนการเงินเป็นประจำ
การทบทวนแผนการเงินเป็นประจำนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะว่าสามารถช่วยให้ทุกคนนั้นปรับแผนการเงินให้เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น โดยในบางช่วงของปีทุกคนอาจจะมีเงินเก็บออมน้อยลง เพื่อใช้เงินไปกับเรื่องอื่นมากขึ้น เช่น ช่วงเทศกาล ดังนั้น การทบทวน และการปรับวางแผนการใช้จ่ายอยู่เสมอจะช่วยให้สังเกตเห็นช่องทางที่จะปรับปรุงแผนการเงินให้ดีขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ เสมอ
จากข้อมูลที่แอดรวบรวมมาหวังว่าทุกคนจะสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันกันอย่างเหมาะสมเเละเกิดประโยชน์กับทุกคนได้นะคะ
อ้างอิงจาก: https://www.apthai.com/th/blog/know-how/expenses-planning
:https://experience.dropbox.com/th-th/get-organized/household-budget