มารู้จักกับภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตกันเถอะ
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย ได้แก่ กำจัดของเสีย รักษาสมดุลย์ของน้ำและเกลือแร่ต่างๆในร่างกายและยังผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ เช่น อีรีโทรพอยอีติน(Erythropoietin) ที่มีความจำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ถ้าไตทำงานเสื่อมลงจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ภาวะโลหิตจางได้
อาการของผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง
เมื่อเกิดภาวะโลหิตจางเม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่พาออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่างๆลดลงทำให้เซลล์ต่างๆทั่วร่างกายรับออกซิเจนไม่เพียงพอทำให้เกิดอาการดังนี้
1.เหนื่อยง่าย จะรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติเวลาที่ต้องออกแรง เวลาเหนื่อยอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย
2.มีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
3.มีอาการหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน
4.อาการทางสมอง เช่น สมองล้า หลงลืมง่าย ขาดสมาธิในการทำงาน นอนไม่หลับ
5.อาการหัวใจขาดเลือด มักพบในคนที่มีโรคหัวใจตีบ โลหิตจาง ทำให้อาการของหัวใจรุ่นแรงขึ้น
6.อาการขาขาดเลือด พบในคนที่มีโรคหลอดเลือดของขาทำให้ปวดขา
7.เบื่ออาหาร ท้องอืด
สำหรับภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยไตวายเกิดจากการสร้างอีรีโทรพอยอีตินไม่เพียงพอ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตลดลงระยะหนึ่งแล้ว ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่าง และความยืดหยุ่นที่เปลี่ยนแปลงไปจึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุที่ลดลง อาจตรวจพบระดับการทำงานของไตด้วยการวัดอัตราการกรองของเสียของไต ( GFR = Glomerular Filtration Rate )ที่ต่ำกว่า 60 มิลลิลิตรต่อนาที หรือระดับครีอะตินินในเลือดที่สูงกว่า 2 - 3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การรักษาโลหิตจาง
1.การรักษาทั่วไป เป็นการบำบัดอาการของโลหิตจาง เช่นรักษาภาวะหัวใจวาย ลดการออกแรง ให้ออกซิเจน ให้เลือดทดแทน
2.การรักษาจำเพาะ เป็นการรักษาที่สาเหตุ กำจัดสาเหตุ และให้การรักษาโรคสาเหตุนั้นๆ เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแก้ไขโดยการฉีดยาฮอร์โมนอีรีโทรพอยอีตินชนิดสังเคราะห์ การฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีข้อบ่งชี้เพียงพอในการให้ การให้เหล็กกรณีโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
ดังนั้นแนวทางที่ดีคือป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึ่งต้องอาศัยการดูแลตนเอง และป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่อาจนำมาสู่ภาวะโลหิตจาง