ระบำดาวดึงส์
ระบำดาวดึงส์
เป็นการแสดงมาตรฐานที่เป็นฉบับไทยอีกชุดหนึ่ง ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ได้ทรงนิพนธ์บทร้องขี้นประกอบการแสดงในบทละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ทอง ตอนที่ ๒ ตอนตีคลี ฉากดาวดึงส์ ในฉากนี้มีพระอินทร์กับพระมเหสีประทับอยู่บนแท่น พระวิศนุกรรม และพระมาตุลี นั่งอยู่ชั้นลดสองข้าง พวกคนธรรพ์ประจำเครื่องดนตรีอยู่ด้านหน้า เหล่าเทวดานางฟ้าเข้านั่งเฝ้าสองข้าง เริ่มเปิดฉากเหล่าเทวดานางฟ้าก็จับระบำถวาย
การแสดงเรื่องนี้จัดแสดงที่โรงละครดึกดำบรรพ์ ริมถนนอัษฎางค์ (วังบ้านหม้อ) ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อร้องของระบำพรรณนาถึงความงดงามความโอฬารของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และความมโหฬารตระการตาในทิพย์สมบัติของพระอินทร์ ตลอดจนความงดงามของเหล่าเทวดานางฟ้าในสรวงสวรรค์ หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา (หม่อมเจ้าในพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์) เป็นผู้ควบคุมฝึกหัดคิดท่ารำ
ต่อมาการแสดงชุดนี้ได้นำมาจัดเป็นชุดเอกเทศ จึงนำออกด้วยเพลงเหาะ และรำตามเนื้อร้องในเพลงตะเขิ่ง, เจ้าเซ็น แล้วจบท้ายด้วยเพลงรัว นับเป็นระบำชุดหนึ่งที่ได้ปรับปรุงทางดนตรี และทางรำให้ได้กะทัดรัด จนเป็นนาฏศิลป์ไทยชุดหนึ่งที่ได้ยึดถือเป็นแบบระบำแสดงความรื่นเริงบันเทิงใจ ซึ่งศิลปินได้อนุรักษ์ไว้เป็นแบบแผนสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง
ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ได้แก่เพลงเหาะ เพลงรัว เพลงตะเขิ่ง เพลงแขกเจ้าเซ็น และเพลงรัว
เครื่องแต่งกาย
ผู้แสดงแต่งกายยืนเครื่อง พระสวมเสื้อแขนสั้น ศิราภรณ์ชฎายอดชัย นางศิราภารณ์มงกุฏกษัตรีย์
โอกาสที่ใช้แสดง
เริ่มต้นที่ใช้แสดงประกอบละครดึกดำบรรพ์ เรื่องสังข์ทอง ตอนตีคลี ต่อมาได้จัดเป็นชุดระบำเอกเทศ
จึงสามารถใช้แสดงในงานต่าง ๆ ทั่วไปได้