ต้นกำเนิดผัดกะเพรา
ผัดกะเพรา เป็นอาหารจานเดียวของไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจานหนึ่งเป็นอาหารริมทาง อาหารตามสั่งที่มีทั่วไปในประเทศไทย บางครั้งเรียกว่า เมนูสิ้นคิด เนื่องจากเมื่อจะสั่งอาหารแล้วไม่รู้ว่าจะรับประทานอะไรก็มักจะสั่งผัดกะเพรา
จากหลักฐาน จดหมายเหตุลาลูแบร์(พ.ศ. 2230) ได้ระบุถึงใบกะเพราไว้ว่า “…ผักลางชนิดที่มีกลิ่นดี เช่น กะเพรา…” มีข้อสันนิษฐานน่าจะรับเอาต้นกะเพรามาจากศาสนาพราหมณ์เพราะพราหมณ์ มักจะใช้กะเพราสำหรับบูชาเทพเจ้าส่วนที่บันทึกไว้ใน อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลพ.ศ. 2416 ให้ความหมายว่า "ผักอย่างหนึ่งต้นเล็ก ๆ ใบกลิ่นหอม ใช้แกงกินบ้าง ทำยาบ้าง"
ผัดกะเพราน่าจะเกิดขึ้นราวสมัยรัชกาลที่ 7 เพราะคนจีนนำเอามาขายในร้านอาหารตามสั่งอย่างไรก็ดี ผัดกะเพราน่าจะเพิ่งนิยมราว พ.ศ. 2500 โดยน่าจะดัดแปลงจาก อาหารจีนที่ตำรับจีน เอาเต้าเจี้ยวดำผัดกับกระเทียมเจียวให้หอม แล้วจึงเอาเนื้อสับหรือไก่หั่นเป็นชิ้น ๆ ลงไปผัดกับน้ำปลาและซีอิ๊วดำ บ้างก็ว่าเลียนแบบมาจากเนื้อผัดใบยี่หร่า สำหรับผัดกะเพราที่ปรากฏในตำรากับข้าวยุคปลายทศวรรษ 2520 อย่างใน ตำราอาหารชุดจัดสำรับ (ชุด 2) ระบุว่า ผัดกะเพราเนื้อจะปรุงด้วยน้ำปลาและผงชูรสเท่านั้น แล้วเอาข้าวลงผัดคลุกเป็นข้าวผัด กินกับถั่วฝักยาวสด ส่วนใน กับแกล้มเหล้า ประมวลกับแกล้มเหล้า–เบียร์ทันยุค ของ “แม่ครัวเอก” (พ.ศ. 2541) ระบุว่า จะหมักเนื้อสับกับเหล้าก่อน แล้วปรุงเพียงน้ำปลาและน้ำตาลปี๊บ ในระยะหลัง ๆ จึงค่อยใส่ซอสปรุงรสชนิดต่างๆ