โทคาแมค...ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ “รุ่นทดลองตัวแรกของไทย”
ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ “รุ่นทดลองตัวแรกของไทย”
ไทยได้ร่วมมือกับจีน เดินเครื่อง "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" แก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนในอนาคต
เตาปฏิกรณ์แบบ “โทคาแมค” (Tokamak) หรือ ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ รุ่นทดลองตัวแรกของไทย เปิดทำงานอย่างเป็นทางการภายใต้ความร่วมมือกับประเทศจีน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฟิสิกส์พลาสมาสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (ASIPP) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทย
เมื่อเดือน ม.ค. เตาปฏิกรณ์ “โทคาแมค” ถูกขนส่งมาถึงไทยและเริ่มต้นทดลองเดินเครื่องในเดือน พ.ค.
นายธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กล่าวว่า...การดำเนินงานดังกล่าวจะขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านการประยุกต์ใช้นิวเคลียร์ฟิวชันของไทย ซึ่งส่งผลต่อการวิจัยทางวิชาการ เทคโนโลยีวิศวกรรม และการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ
ด้าน นายซ่งอวิ๋นเทา ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลาสมาฯ กล่าวว่า การวิจัยด้านการประยุกต์ใช้
นิวเคลียร์ฟิวชันของจีนยึดมั่นแนวทางเปิดกว้าง เป็นมิตรกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม
สำหรับ "เครื่องโทคาแมค" เป็นเครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น
ซึ่งปฏิกิริยาชนิดนี้เกิดจากการที่นิวเคลียสของอะตอมธาตุเบาหลอมตัวเข้าด้วยกัน และได้นิวเคลียสที่หนักกว่าเดิมและมีเสถียรภาพมากขึ้น มวลของธาตุเบาที่รวมกันจะหายไปเล็กน้อย ซึ่งส่วนที่หายไปนั้นเองได้เปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานตามสมการ กระบวนการนี้ได้ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา
พลังงานจากดวงอาทิตย์ที่แผ่ออกไปในระบบสุริยะเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ชนิดนี้ ซึ่งต้องอาศัยความร้อนที่อุณหภูมิสูงนับล้านองศาเซลเซียส และมาจากการรวมนิวเคลียสของไฮโดรเจน 2 อะตอม ได้เป็นฮีเลียม 1 อะตอม โดยเกิดขึ้นบริเวณแกนกลางของดวงอาทิตย์
“โทคาแมค” สร้างพลังงานนี้โดยการเลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ รวมไฮโดรเจน 2 อะตอม (ดิวเทอเรียมกับทริเทียม) ให้เป็นฮีเลียม 1 อะตอม โดยพลังงานต่อมวลของปฏิกิริยานี้มากกว่ากระบวนการฟิชชันมาก ซึ่งผลิตผลจากปฏิกิริยาฟิวชันจะไม่เป็นสารกัมมันตรังสี ปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลก
เพื่อเตรียมแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต "เครื่องโทคาแมค" หรือ ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ รุ่นทดลองตัวแรกของไทย จึงนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ไทยเป็นอย่างยิ่ง.
อ้างอิงจาก: จากวิกิพีเดีย, Xinhua, กระทรวงการอุดมศึกษาฯ