แกงโฮะ อาหารคนเมืองเหนือ
ความเป็นมาของ แกงโฮะ หรือ คั่วโฮะ
คนเมืองเชียงใหม่พูดว่า “แก๋งโฮะ” เป็นอาหารไทยภาคเหนือ โดยคำว่า โฮะ แปลว่า รวม เป็นอาหารที่นำเอา อาหารหลาย ๆ อย่างมารวมกัน แต่เดิมทำจากอาหารที่เหลือหลายอย่าง แล้วมาปรุงรสตามชอบ
แต่ปัจจุบันนิยมใช้ของสดในการปรุงและใช้แกงฮังเลหรือฮินเลเป็นเครื่องปรุง
แกงโฮะ สมัยก่อนชาวพุทธ จะไปทำบุญที่วัด ทุกวันพระหรือวันศีล โดยเฉพาะระยะเวลาการเข้าพรรษา ปีใหม่เมืองหรือเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระเป็นจำนวนมาก และจะเน้นทำอาหารดีดี เช่น แกงฮังเลหรือแกงฮินเล แกงอ่อม ห่อนึ่งหรือห่อหมก แกงฟักเขียว ต้มยำไก่ แคบหมู หมูทอด ปลาปิ้ง ลาบ อาหารที่คณะศรัทธานำมาทำบุญมีมากพระฉันไม่หมด แล้วอาหารที่เหลือ ลูกวัดหรือขะยม (ภาษาเหนือ) จึงนำอาหารเหล่านั้นมาโฮะ เติมน้ำแล้วเทน้ำออกเพื่อล้างความบูดออกบ้าง จากนั้นขึ้นตั้งไฟหรือผัดในน้ำมัน เติมเกลือ น้ำปลา พริกสด หรือพริกขี้หนู ปรุงรสตามชอบเติมวัตถุดิบเพิ่ม เช่น วุ้นเส้น หน่อไม้ หน่อไม้ดอง ผักตำลึง และแต่งกลิ่นโดยใส่ใบมะกรูด ตะไคร้ เพื่อให้หอม น่ารับประทาน
ในปัจจุบัน แกงโฮะไม่ได้เอาอาหารเหลือมาทำ แต่ได้ทำใหม่ปรุงใหม่ จะใช้เนื้อหมูติดมันหรือแกงฮังเลหรือฮินเล และผักต่าง ๆ เช่น ชะอม ถั่วฝักยาว ผักตำลึง หน่อไม้ดอง วุ้นเส้น มะเขือ มะเขือพวง ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยน้ำพริกที่ประกอบด้วยพริกสด หัวหอม กระเทียม เกลือ กะปิโขลกเข้าด้วยกันให้ละเอียด หรือใช้น้ำพริกแกงเผ็ด นำเครื่องปรุงต่าง ๆ มาผัด แล้วใส่ผัก เติมน้ำพอสมควร เคี่ยวให้แห้ง ใส่วุ้นเส้น โรยพริกขี้หนู ตะไคร้ และใบมะกรูด
ชื่ออื่น: คั่วโฮะ
แหล่งกำเนิด: ประเทศไทย
ส่วนผสมหลัก: ผัก เนื้อสัตว์ วุ้นเส้น หน่อไม้ดอง
อ้างอิงจาก: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี