"การสร้างแบรนด์" สู่ความสำเร็จที่จะไม่มีที่สิ้นสุด
สำหรับทุกๆ ธุรกิจ การสร้างแบรนด์นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก การสร้างแบรนด์สินค้าหรือก็คือการพัฒนาตัวตนและคาแรคเตอร์ของแบรนด์ให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำ ทว่าก็ต้องสอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ องค์กร และเป้าหมายของแบรนด์
การสร้างแบรนด์ คืออะไร
Branding หรือ การสร้างแบรนด์ คือ กระบวนการสร้างชื่อ สัญลักษณ์ ดีไซน์รูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ อย่างชัดเจน โดยใช้กิจกรรมทางการตลาดและสื่อต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถรับรู้และจดจำธุรกิจของเราได้
ภาพลักษณ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพของแบรนด์ จะสามารถดึงดูดความสนใจ และเชิญชวนกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ รวมไปถึงการสร้างความไว้วางใจ และการจดจำในหมู่ผู้บริโภคได้
ซึ่งวิธีการสร้างแบรนด์นั้นมีอะไรที่มากกว่าแค่การทำโฆษณา โปรโมทธุรกิจตัวเอง ในสายตาของลูกค้าโดยทั่วไปนั้นไม่ว่าจะเป็นโลโก้ โฆษณาต่างๆ การบริการลูกค้าของพนักงาน หน้าตาสินค้า การบริการหลังการขาย ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ทั้งนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นบทบาทสำคัญในความสำเร็จของธุรกิจ
หลักการสร้างแบรนด์ที่ดีมีอะไรบ้าง
1. สำรวจและทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับเจ้าของธุรกิจแล้ว เชื่อว่าคงไม่มีอะไรได้ผลดีไปกว่าการได้รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมกลุ่มลูกค้าที่เราต้องการจะสื่อสารด้วยอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันพฤติกรรมของเหล่าผู้บริโภคมักจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามเทรนด์ ทำให้เจ้าของธุรกิจทั้งหลายต้องหาทางศึกษาหาข้อมูลต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
เราอาจจะเริ่มขั้นตอนการสร้างแบรนด์จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มผู้บริโภค เช่น อายุเท่าไหร่ อาศัยอยู่ที่ไหนกันบ้าง มีไลฟ์สไตล์แบบไหน แล้วนำมาวิเคราะห์ว่ากลุ่มใดที่เราควรโฟกัสมากกว่ากัน เพื่อจะได้วางแผนในขั้นตอนต่อไปว่าควรทำการตลาดแบบใด และควรใช้การสื่อสารวิธีไหนที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค นับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ
2. สร้างความแตกต่าง และโดดเด่นจากคู่แข่ง
ต้องยอมรับว่าในวงการธุรกิจแทบทุกประเภทมักจะมีแบรนด์เจ้าประจำที่ครองตลาดอยู่แล้ว แต่หากเราสามารถมีวิธีการทำแบรนด์ที่สร้างความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งย่อมหมายถึงโอกาสที่จะมีส่วนแบ่งในพื้นที่ตลาดนั้นๆ ได้
สิ่งสำคัญของผลิตภัณฑ์คือเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นที่น่าจดจำของแบรนด์ เพราะจะทำให้ลูกค้าไม่เกิดความลังเล หรือคำถามในใจว่าควรจะอุดหนุนแบรนด์ไหน หากเราสามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน เซอร์วิส สินค้า หรือแนวคิด คาแรคเตอร์ต่างๆ ของแบรนด์ เราก็จะโดดเด่นและติดตากว่าเจ้าอื่นๆ ได้
3. กำหนดพันธกิจของแบรนด์
การเริ่มต้นธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง เหล่าเจ้าของคงมีเป้าหมายในใจว่าธุรกิจนี้เราสร้างมาเพื่ออะไร ซึ่งสิ่งนี้แหละจะเป็นตัวกำหนด Mission Statement หรือพันธกิจหลักขององค์กรนั่นเอง ยิ่งเป้าหมายชัดเจนเท่าไหร่ แนวทางการทำธุรกิจของเราก็จะชัดเจนไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราสร้างแบรนด์ที่มีการเติบโตอย่างชัดเจน มั่นคง และเป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ
การกำหนดพันธกิจมักจะกล่าวถึงเป้าหมาย และสิ่งที่แบรนด์จะทำ อาจจะเป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มธุรกิจ และความตั้งใจที่จะทำอะไร เพื่อใคร
ตัวอย่างธุรกิจที่มีพันธกิจที่แข็งแกร่งและชัดเจน
- Nike : ส่งต่อแรงบันดาลใจ และนวัตกรรมรุ่นใหม่สู่เหล่าผู้คนที่รักกีฬาทั่วโลก
- MK : ส่งมอบสุขภาพที่ดีและเติมเต็มความสุขให้กับลูกค้า ด้วยอาหารที่มีคุณภาพและความอร่อย พร้อมทั้งให้บริการอันเป็นเลิศ ในราคาที่เหมาะสม
- Red Bull : สยายปีกออกให้ครอบคลุมทั่วทั้งโลก
4. การออกแบบโลโก้
การสร้างโลโก้ ก็คือการสร้างตราสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นรูปธรรม การดีไซน์ตัวโลโก้ ลักษณะอักษร การใช้เส้น การเล่นคำ สัญลักษณ์ โทนสี ทุกอย่างจะสื่อสารความเป็นตัวแบรนด์ออกมาอย่างชัดเจน การออกแบบโลโก้ที่ดีนี้ควรสื่อออกมาให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจ และจำได้ง่ายว่าเป็นแบรนด์อะไร และมีจุดเด่นแบบไหน เพื่อสร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ เพิ่มมูลค่า และสร้างประสบการณ์ความรู้สึกที่น่าสนใจ ดึงดูด และชวนจดจำผ่านตัวโลโก้ ที่แสดงถึงความแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่งอย่างชัดเจน
5. กำหนดบุคลิกของแบรนด์
การปั้นบุคลิกของแบรนด์ คือการสร้างสรร และค้นหาบุคลิกที่จะเป็นภาพลักษณ์ของธุรกิจเพื่อใช้ในการถ่ายทอดประสบการณ์ในด้านต่างๆ ให้กับลูกค้า โดยการเลือกบุคลิกของแบรนด์นับเป็นขั้นตอนการสร้างแบรนด์ที่สำคัญมาก เพราะเอกลักษณ์เหล่านี้จะส่งผลต่อความสำเร็จของแบรนด์
คาแรคเตอร์ที่ใช้ในการทำแบรนด์นั้นมักจะเชื่อมโยงกับจุดเด่นของสินค้าหรือบริการ แนวคิดองค์กร และกลุ่มเป้าหมาย หากเปรียบแบรนด์เป็นคน เขาควรจะเป็นลักษณะแบบไหน สนุกสนาน หรือซีเรียสกับชีวิต ชอบใช้ชีวิตหรือชอบการพักผ่อน หรือชอบความหรูหรา เป็นต้น
โดยในเบื้องต้น เราสามารถแบ่งตัวอย่างการสร้างแบรนด์ออกเป็น 5 บุคลิกภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนดังต่อไปนี้
- Excitement - ความตื่นเต้น สนุกสนาน มั่นใจ ท้าทาย ตื่นตัว ซึ่งคาแรคเตอร์เหล่านี้มักจะเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยมักจะมีแนวคิดที่ว่า ออกไปใช้ชีวิต และเต็มที่กับชีวิต เช่น Pepsi, Honda
- Sincerity - ความห่วงใย จริงใจ ซื่อสัตย์ มักจะใช้กับธุรกิจบริการ สินค้าสุขภาพ และประกันภัยต่างๆ เช่น ไทยประกันชีวิต
- Sophistication - ความรู้สึกซับซ้อน หรูหรา เลอค่า มักจะใช้กับสินค้าประเภทเครื่องสำอาง หรือแบรนด์เนมต่างๆ เช่น Mercedes, L’Oreal
- Competence - ความฉลาด เหนือชั้น ก้าวล้ำ มักจะใช้กับสินค้าไอที เทคโนโลยี หรือสมาร์ทโฟน เช่น Apple, Microsoft
- Ruggedness - ความทนทาน ถึกบึกบึน ห้าวหาญ มักจะใช้กับสิ่งปลูกสร้าง หรือเครื่องจักรกลต่างๆ เพราะแสดงออกถึงความแข็งแรงที่ชัดเจน เช่น Ford, Wrangler, Reebox
สรุป
ในปัจจุบันการสร้างแบรนด์นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยในความสำเร็จของธุรกิจ เพราะเป็นการเพิ่มการจดจำและการรับรู้ของบริษัทและผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทได้อย่างดี สามารถสร้างความไว้วางใจและความภักดีระหว่างแบรนด์และลูกค้า ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ และการสร้างภาพลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์และน่าจดจำซึ่งทำให้ธุรกิจเราแตกต่างจากคู่แข่ง และท้ายที่สุดจะช่วยผลักดันยอดขายและการเติบโตของรายได้