ตำนานเมืองใต้คู่แม่น้ำตาปี "พญาท่าข้าม"
พญาท่าข้าม
=========
๏ เป็นตำนานที่เล่าสืบกันมานานว่า เมื่อครั้งปลายกรุงศรีอยุธยาทหารพม่าตีโรมรันเผาผลาญกรุงศรีอยุธยาแตกสลาย แม่ทัพนายกองต่างส้องสุมผู้คนรวมตัวแบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าหลายชุมนุมเช่นก๊กพระยาฝาง, ก๊กพระเจ้าตากและอีกมากมายในสภาพที่บ้านแตกสาแหรกขาดต่างคิดกู้บ้านเมืองกันทั้งนั้น หนึ่งในก๊กเหล่านั้นมีนายทหารขุนพลฝีมือเยี่ยมทั้งทางรบและเวทย์มนต์คาถามาตั้งหักพำนักที่บริเวณเนินสูงของบ้านท่าข้าม อำเภอพุนพินหรือบริเวณควนท่าข้ามในปัจจุบัน
ไพร่พลที่อพยพมามากมายต่างจัดหาเสบียงอาหารตั้งหลักแหล่งทำไร่นาเป็นชุมชนขึ้นมาเรียกแถบที่ตั้งพำนักด้านล่างติดกับบนเนินสูงว่า “นาศรีสงคราม"
ขุนศึกคนนี้มีตำแหน่งเป็นพระยา เมื่อมาอยู่ที่ท่าข้ามได้จัดสร้างเครื่องรางของขลังเป็นพระเนื้อดินเผา โดยเฉพาะพระยอดขุนพล เพื่อแจกจ่ายบำรุงขวัญในยามรบทัพจับศึก พระยาคนนี้มีวิชาอาคมกลายร่างเป็นเสือ หรือจระเข้ได้ ได้กลายร่างเป็นจระเข้ลงสู่แม่น้ำตาปี อาศัยในบริเวณถ้ำใต้น้ำ (บริเวณศาลพญาท่าข้ามริมทางรถไฟปัจจุบัน) ว่ากันว่าตรงนั้นมีถ้ำใต้น้ำยาวกว่าสิบกิโลเมตร
เมื่อรวบรวมพลมาอยู่ที่ท่าข้าม พญาขุนศึกผู้นี้จึงถูกเรียกว่า “พญาท่าข้าม” และด้วยต้องพลัดพรากจากภรรยาตอนกรุงแตก เมื่อแปลงร่างเป็นจระเข้เที่ยวท่องไปตามสายน้ำ จึงมักได้หญิงงามตามเส้นทางที่ผ่านเป็นภรรยาเสมอ ภรรยาคนแรกของพญาท่าข้ามที่มีชื่อว่า “แม่ยายถิน” นั้น เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเช่นกัน (ปัจจุบันมีศาลบูชาตั้งอยู่ที่ริมถนนตาปีเจริญ)หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "หลาแม่ยาย" เชื่อกันว่าหากบนบานศาลกล่าวด้วย “ต้มเปียก 2 คนหาม” ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากข้าวจ้าวนำมาต้มใส่น้ำตาล แล้วใช้คน 2 คนยกมาถวาย ไม่ว่าขนมนั้นจะมีขนาดเท่าใดก็ตาม จะประสบผลสำเร็จตามคำขอทุกราย
...ส่วนภรรยาคนที่ 2 นั้นเป็นชาวเกาะเหนอ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “แม่ยายเกาะเหนอ” นอกจากนี้พญาท่าข้ามยังได้ “แม่ยายบางบาน” ชาวตำบลท่าโรงช้าง “แม่ยายบ้านนา” ชาวตำบลน้ำนิ่ง อำเภอบ้านนาเดิม “แม่ยายระนอง” “แม่ยายถลาง” จังหวัดภูเก็ต และ “แม่ยายม่วงเอน” อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นภรรยาอีกด้วย
....จนกระทั่งเกิดไปหลงรัก “แม่ยายปากปัน” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แม่ศรีวันทอง” นางพญาจระเข้ซึ่งงามผุดผาดด้วยมีผิวพรรณเหลืองเปล่งปลั่งประดุจทอง แต่แม่ศรีวันทองนั้นมีคู่รักอยู่แล้วชื่อ “พญายอดน้ำ” ซึ่งมีอาคมแก่กล้าสามารถแปลงร่างเป็นงูยักษ์ได้ จึงเกิดศึกชิงนางระหว่างพญาท่าข้ามในร่างจระเข้ กับพญายอดน้ำในร่างงูยักษ์หลายวันหลายคืนจนเลือดแดงฉานไปทั้งแม่น้ำตาปี แต่ที่สุดพญายอดน้ำก็อ่อนแรงจนต้องล่าถอยกลับไป แล้วสายโลหิตแดงฉานที่ปกคลุมบริเวณพื้นที่ดังกล่าวก็ทำให้พื้นดินเปลี่ยนเป็นสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกขานว่า “บ้านย่านดินแดง” (อำเภอพระแสงในปัจจุบัน)
เชื่อกันว่าตำนานแห่งพญาท่าข้ามนั้น อาจเป็นเครื่องสะท้อนอย่างหนึ่งถึงความชุกชุมของจระเข้น้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำตาปีและพุมดวงมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาจนถึง 60 กว่าปีก่อน ดังที่เคยมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่ามักพบเห็นจระเข้ตัวเขื่องนอนอาบแดดเกยตลิ่งให้เห็นเป็นประจำ จนคนเรือต้องใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นซีกๆ ล้อมกั้นเรือไว้เพื่อป้องกันตัว
แม้จะเป็นเรื่องเล่าต่อๆ มา แต่ปัจจุบันนี้ชาวพุนพินต่างก็เคารพศรัทธาในพญาท่าข้ามมาก จนมีศาลบูชาถึง 2 แห่ง แห่งแรกนั้นตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำตาปี ริมทางรถไฟข้างศาลเจ้าสุราษฎร์ฯ ส่วนอีกแห่งหนึ่งนั้นตั้งอยู่ในบริเวณวัดท่าข้าม ....
หลังจากมีการสร้างสะพานขวางแม่น้ำตาปีแล้ว ท่านพญาท่าข้ามท่านจึงอยู่ในเขตที่ตั้งวังของท่าน ท่านเป็นจระเข้ที่เกิดจากวิชาอาคมจึงไม่ลอดสะพานไปที่อีกซีกหนึ่งของแม่น้ำที่สะพานทอดกั้นไว้
ไม่ว่าจะยังไงชาวท่าข้ามก็ยังมีความเชื่อว่า พญาท่าข้าม คือผู้ที่คอยปกปักษ์คุ้มครองคนดี การบนบานศาลกล่าว คืออีกวิถีชีวิตหนึ่งของคนเมืองนี้ อันเป็นที่พึ่งทางใจ ที่มีความผูกพัน ผสมกลมกลืนกระทั่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่ง ที่อยู่คู่สายน้ำตาปี และชนชาวท่าข้ามตลอดนานเท่านาน
ขอบคุณข้อมูลภาพ