"น้ำตาล"ให้ประโยชน์และโทษอย่างไร?
น้ำตาล นอกจากจะมีประโยชน์ในหลายๆด้านแล้ว ก็ยังมีโทษไม่น้อยเช่นกัน
น้ำตาลที่มากเกินไปเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำให้ผู้ใหญ่และเด็กบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม/วัน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า วัยที่อัตราการควบคุมปริมาณน้ำตาลเป็นไปได้ยากมากที่สุดคือวัยทำงาน เพราะเป็นวัยที่มีกำลังทรัพย์หรือมีศักยภาพในการใช้จ่าย ทำให้มีโอกาสเข้าถึงอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ดังนั้น ควรบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน
อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เช่น ขนมหวานต่างๆ คุกกี้ ไอศครีม และเค้ก เป็นต้น
เครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชานมไข่มุก นมปรุงรส น้ำผลไม้ เกลือแร่ และเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น
ผลไม้ที่มีน้ำตาล เช่น ผลไม้แช่อิ่ม กล้วยไข่ มะพร้าว ขนุน ทุเรียน มะม่วงสุก ลำไย และมะขามหวาน เป็นต้น
ประโยชน์ของน้ำตาล
ช่วยลดความเครียด : การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงาน นอกจากนี้ ยังช่วยให้ร่างกายได้หลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า "เอ็นโดรฟิน" ซึ่งจะถูกผลิตและปลดปล่อยออกมาโดยไฮโปทาลามัสกับต่อมใต้สมอง ช่วยลดความเครียดได้ คลายข้อสงสัยได้เลยว่า ทำไมหลังทานอาหารที่มีน้ำตาลจึงทำให้อารมณ์ดีขึ้น
มีส่วนช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น : พบในน้ำตาลทรายแดง ซึ่งมีคุณสมบัติร้อน มีสรรพคุณบำรุงพลัง แก้ปวด ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตสะดวกขึ้น การดื่มน้ำผสมน้ำตาลทรายแดงอุ่นๆ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดเอวหรือท้องน้อย หรือประจำเดือนเป็นลิ่มได้
ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว : น้ำตาลเป็นสารชนิดเดียวที่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็ว กลูโคสที่เราได้จากการกินน้ำตาล จะส่งผลต่อร่างกายทันที ช่วยให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า
โทษของน้ำตาล
ระดับพลังงานแปรปรวน: การรับประทานของหวาน ๆ ทำให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉงมากก็จริง เพราะการบริโภคน้ำตาลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและปริมาณฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระดับพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยระดับน้ำตาลที่ผันผวนนี้อาจทำให้ระดับพลังงานของร่างกายแปรปรวน และส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียตามมา
น้ำหนักเพิ่ม :น้ำตาลที่ได้รับปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกายจะถูกสะสมกลายเป็นไขมัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนในอนาคต นอกจากนั้น น้ำตาลรูปแบบฟรุกโตสที่อยู่ในเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ อาจมีส่วนยับยั้งการตอบสนองต่อฮอร์โมนเลปตินภายในร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนนี้มีคุณสมบัติช่วยควบคุมความรู้สึกหิว และทำให้รู้สึกอิ่ม อาจส่งผลให้รู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติและนำไปสู่การทานในปริมาณที่มากขึ้นได้ และยังมีงานวิจัยที่พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลจะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในช่องท้อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจอีกด้วย
เสี่ยงเกิดสิว: อาหารที่มีน้ำตาลสูงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ฮอร์โมนแอนโดรเจนถูกหลั่งออกมามากขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากขึ้น และเสี่ยงต่อการอักเสบมากขึ้น ก่อให้เกิดสิวตามมา มีงานทดลองในกลุ่มวัยรุ่น 2,300 ราย พบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มเติมน้ำตาลเป็นประจำมีแนวโน้มเสี่ยงเป็นสิวมากขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์
หน้าแก่ก่อนวัย : อาหารหรือเครื่องดื่มเติมน้ำตาลอาจก่อให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้ เพราะการทานอาหารประเภทนี้ในปริมาณที่มากเป็นประจำส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อโมเลกุลของน้ำตาลเข้าไปจับกับโปรตีนจะก่อให้เกิดสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งสามารถทำลายคอลลาเจนและอีลาสตินในชั้นผิว ส่งผลให้ผิวหนังหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอย และจุดด่างดำตามมาได้
เซลล์อาจเสื่อมสภาพ: การรับประอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมากเป็นประจำอาจทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงเร็วขึ้น เซลล์ในร่างกายจึงอาจเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งเทโลเมียร์เป็นโครงสร้างส่วนปลายสุดของโครโมโซมที่คอยป้องกันการเสื่อมสภาพของโครโมโซม โดยปกติทั่วไปเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น เทโลเมียร์จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ดังนั้นการได้รับน้ำตาลปริมาณมากๆ ส่งผลต่อเทโลเมียโดยตรง
เสี่ยงโรคซึมเศร้า: นักวิจัยเชื่อว่า เมื่อภาวะระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ ระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ผิดปกติ และการอักเสบตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต โดยมีงานค้นคว้าที่พบว่า ผู้ชายที่บริโภคน้ำตาล 67 กรัม/วันหรือมากกว่านั้น มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายที่บริโภคน้ำตาลน้อยกว่า 40 กรัม/วันถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองในผู้หญิง 69,000 คนแล้วพบว่า ผู้หญิงที่บริโภคน้ำตาลปริมาณมากที่สุดมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงที่บริโภคน้ำตาลปริมาณน้อยที่สุดอย่างเห็นได้ชัด
เสี่ยงโรคเบาหวาน : หากรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมาก ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าปกติ โดยมีงานวิจัยหนึ่งพบว่าการบริโภคน้ำตาลทุก ๆ 150 แคลอรี่ อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูงขึ้นถึง 1.1 เปอร์เซ็นต์
เสี่ยงโรคหัวใจ: มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจก่อให้เกิดโรคอ้วน ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ การบริโภคน้ำตาลปริมาณมาก โดยเฉพาะจากเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาล อาจทำให้เกิดโรคอันตรายอย่างโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้
เสี่ยงไขมันพอกตับ: น้ำตาลฟรุกโตสเป็นน้ำตาลที่ผู้ผลิตมักเติมลงไปในเครื่องดื่ม ซึ่งแตกต่างจากน้ำตาลกลูโคสและน้ำตาลชนิดอื่น ๆ เพราะฟรุกโตสไม่ให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อและสมอง แต่จะถูกลำเลียงไปยังตับเพื่อย่อยสลาย ซึ่งฟรุกโตสส่วนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน แต่อีกส่วนหนึ่งจะสะสมเป็นไกลโคเจนหรือไขมันพอกอยู่ที่ตับ หากมีการสะสมดังกล่าวในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดโรคไขมันพอกตับได้เช่นกัน
เสี่ยงมะเร็ง: การทานอาหารและเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลอาจก่อให้เกิดโรคอ้วน ภาวะดื้ออินซูลิน และการอักเสบตามอวัยต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งปัญหาสุขภาพดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยหนึ่งศึกษาความเกี่ยวข้องระหว่างการบริโภคน้ำตาลกับการเกิดโรคมะเร็งในกลุ่มตัวอย่าง 430,000 ราย พบว่าการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และมะเร็งลำไส้เล็ก ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าผู้หญิงที่ทานขนมปังหวานและคุกกี้มากกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ เสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าผู้หญิงที่กินอาหารเหล่านี้น้อยกว่า 5 ครั้ง/สัปดาห์ ถึง 1.42 เท่า อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าในประเด็นนี้ยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อยืนยันให้ชัดเจนว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากนั้นมีส่วนก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งจริง