ค้นพบเพชรแห่งจักรวาล นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวแคระขาวที่ใจกลางของมันกำลังตกผลึกเป็นเพชรขนาดมหึมา
‘เพชรแห่งจักรวาล’ นักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวแคระขาวที่ใจกลางของมันกำลังตกผลึกเป็นเพชรขนาดมหึมา
ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปเพียง 104 ปีแสงเท่านั้น ยังไงก็ตามพวกเขาคิดว่าตลอดชั่วชีวิตของเราหรือแม้แต่จนถึงจุดจบของจักรวาลก็อาจจะไม่ได้เห็นขั้นตอนการเปลี่ยนเป็นเพชรนี้สิ้นสุดเพราะมันใช้เวลาถึง พันล้านล้านปี (อายุจักรวาลตอนนี้เพียง 13.9 พันล้านปี)
ดาวฤกษ์บางประเภทที่มีมวลตั้งแต่น้อยกว่าดวงอาทิตย์ 8 เท่าจนถึงดวงอาทิตย์ ส่วนใหญ่เมื่อมันเผาผลาญเชื้อเพลิงหมดลง ผิวชั้นนอกดาวจะยุบตัวลงไปสู่ใจกลางกลายเป็นวัตถุที่มีความหนาแน่นสูงขนาดเท่าโลก หรืออาจเล็กลงได้ถึงดวงจันทร์ แต่กลับมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 1.4 เท่า สิ่งนี้คือดาวแคระขาว
สสารของมันถูกบีบอัดอย่างมาก แต่เมื่อมันยุบลงไปถึงจุดจุดหนึ่ง มันจะถูกต้านโดยแรงผลักจากภายในของอิเล็กตรอนในอะตอมที่จะไม่ยอมเข้าใกล้กัน แต่ดาวแคระขาวก็ไม่มีมวลมากพอที่จะระเบิดออกเป็นซุปเปอร์โนวา หรือยุบตัวลงไปอีกเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ ท้ายที่สุดมันจะเย็นลง แข็งตัวและตกผลึก
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับดาวที่มีชื่อว่า HD 190412 C ที่เพิ่งค้นพบนี้ มันอยู่ห่างออกไปเพียง 104 ปีแสง ซึ่งอยู่ในระบบของดาวฤกษ์ 3 ดวงที่รู้จักกันในชื่อ triple HD 190412 ทำให้กลายเป็นแฝด 3 ที่กำลังตกผลึกไปพร้อม ๆ กัน ข้อมูลยืนยันโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา (Gaia)
“ในงานวิจัยนี้เรานำเสนอการค้นพบระบบใหม่ที่คล้ายดาวซิริอุสที่ระยะห่าง 32 พาร์เซก ซึ่งประกอบด้วยดาวแคระขาวที่ตกผลึกร่วมกับดาว triple HD 190412 ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้” รายงานระบุ
พาร์เซก (Parsec) หน่วยวัดระยะทางทางดาราศาสตร์ 1 พาร์เซกเท่ากับ 3.26 ปีแสง หรือ 206,265 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ นักวิทยาศาสตร์คำนวณอายุของระบบพบว่า มันมีอายุประมาณ 7.3 พันล้านปี (ดวงอาทิตย์อายุประมาณ 4.9 พันล้านปี) ขณะที่อายุของดาวแคระขาวที่พบอยู่ที่ประมาณ 4.2 พันล้านปี
ยังไงก็ตามพวกเขาระบุว่ากระบวนการตกผลึกนี้ช้ามาก จากการคำนวณคาดการณ์ไว้ที่ประมาณ พันล้านล้านปี เป็นที่แน่นอนว่าเราจะไม่ได้เห็นก้อนเพชรอวกาศมหึมาในตลอดชั่วชีวิตของเราแน่นอน แต่มันก็เป็นโอกาสที่ดีที่นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาถึงความมหัศจรรย์นี้
“เราสรุปได้ว่าการค้นพบระบบ HD 190412 ได้เปิดช่องทางใหม่สำหรับการทำความเข้าใจกระบวนการตกผลึกของดาวแคระขาว” รายงานระบุ
ที่มา: independent.co.uk/space,YouTube