ข้าราชการไทย ใช้อินเตอร์เน็ตเยอะสุด
ประเทศไทยเริ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2530 เป็นการใช้บริการรูปแบบจดหมายเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (Prince of Songkla University) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียหรือสถาบันเอไอที (AIT) ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย (IDP) เป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสารด้วยอีเมล
ข้าราชการไทย ครองแชมป์ใช้อินเตอร์เน็ต มากกว่าทุกอาชีพ 12 ชั่วโมงต่อวัน
เอ็ตด้า เผย สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ประจำปี 65 พบอาชีพที่ครองแชมป์ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้เน็ตเกือบ 12 ชั่วโมงต่อวัน
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า เปิดเผย ผลจากการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 46,348 คน ทั่วประเทศ พบว่า กิจกรรมยอดฮิตขวัญใจสังคมออนไลน์อันดับ 1 คือ การเข้ารับการปรึกษาและรับบริการทางการแพทย์ 86.16% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาปรึกษาแพทย์ออนไลน์มากขึ้น อันดับ 2 คือ การติดต่อสื่อสาร 65.70%
ส่วนอันดับ 3 ดูรายการโทรทัศน์ ทำคลิป ดูหนัง ฟังเพลง 41.51% อันดับ 4 ดูถ่ายทอดสดซื้อสินค้า 34.10% และ อันดับ 5 ทำธุรกรรมทางการเงิน 31.29%
คนไทยใช้ธุรกรรมการเงินทางออนไลน์ ติดอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงแค่จีนและอินเดียเท่านั้น
เอ็ตด้า ยังเผยอาชีพที่ครองแชมป์ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ อยู่ที่วันละ 11 ชั่วโมง 37 นาที สะท้อนถึงการยกระดับการทำงานสู่ยุคดิจิทัล รองลงมา คือนักเรียน/นักศึกษา ใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 8 ชั่วโมง 57 นาที , อันดับ 3 คือ ฟรีแลนซ์ 7 ชั่วโมง 40 นาที
นอกจากนี้ยังพบว่าคน Gen Y หรือวัยทำงาน อายุ 22-41 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตวันละ 8 ชั่วโมง 55 นาที แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Gen Z (อายุน้อยกว่า 22 ปี) ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่วันละ 8 ชั่วโมง 24 นาที