โรคร้ายที่ต้องระวัง พบบ่อยในลูกแมว
อย่างที่เรารู้กันดีว่าหลังคลอดลูกแมวจะได้รับภูมิคุ้มกันผ่านน้ำนมของแม่แมวทเพราะร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตัวเองได้ ดังนั้นลูกแมวอาจจะติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
โรคติดต่อที่พบได้บ่อย ๆ ในลูกแมวมีดังนี้เลย
1 โรคไข้หัดแมว :
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline parvovirus ทำให้ลูกแมวมีอาการท้องเสีย ซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง อาเจียน หรือถ้าลูกแมวท้องเสียแบบมีเลือดปนในอึออกมา เชื้อโรคจะมีผลต่อสมอง ทำให้การทรงตัวผิดปกติไป นอกจากนี้ยังทำให้ลูกแมวตาบอด และรุนแรงถึงขั้นทำให้ลูกแมวตายได้!
โรคนี้เป็นโรคในแมวเด็กที่ติดต่อได้ง่ายมาก ๆ โดยจะติดจากการที่ลูกแมวไปสัมผัสอึ ฉี่ สารคัดหลั่ง ของแมวที่มีอาการป่วย โดยลูกแมวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ อายุระหว่าง 2-6 เดือน
วิธีป้องกัน ที่ดีที่สุดคือ พาลูกแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัดแมว โดยเข็มแระจะฉีดเมื่ออายุครบ 8 สัปดาห์ ฉีดเข็มสองเมื่ออายุครบ 11 สัปดาห์ และเข็มสามเมื่ออายุครบ 14 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัดทุกปีค่ะ
2 โรคไข้หวัดแมว :
โรคนี้เกิดได้จากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น Feline herpesvirus และ Feline calicivirus เป็นโรคที่ติดได้ง่ายมาก ๆ แค่สูดดมไวรัสที่กระจายมาในอากาศก็ติดโรคได้แล้ว
อาการการป่วยที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ก็คือ ลูกแมวจะ ไอ จาม มีน้ำมูก ตาอักเสบ มีแผลหลุมในปาก หรือบางตัวเป็นรุนแรงอาจเกิดปอดอักเสบตามมาได้
วิธีป้องกัน โรคไข้หวัดแมว ทำได้ง่ายๆ ด้วยการเสริมภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้ลูกแมวด้วยการทำวัคซีน เพื่อสร้างและกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกแมว โดยวัคซีนฉีดคือ วัคซีนรวมในแมว ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคหัดและหวัดแมว แนะนำให้เริ่มทำได้ตั้งแต่น้องแมวอายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไปค่ะ
3 โรคหอบหืดในแมว :
เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบชนิดเรื้อรังในแมว โรคหอบหืดในแมวมีรายงานการพบได้ประมาณร้อยละ 1 - 5 ของประชากรแมวทั้งหมด (Padrid, 2009) มักพบโรคนี้ในแมวที่มีอายุน้อยจนถึงแมวโตเต็มวัย
อาการของลูกแมวที่เป็นโรคหอบหืด มักมีอาการไอเรื้อรัง , คัดจมูก , หายใจลำบาก (แมวบางตัวอาจหายใจทางปาก) , เบื่ออาหาร , อ่อนเพลีย , กล้ามเนื้ออ่อนแรง ,หายใจเร็วและต้องใช้แรงในการหายใจ
โรคนี้เป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ถ้าพบว่าลูกแมวมีอาการหอบหืดควรพาไปพบสัตว์แพทย์ทันทีค่ะ
4 โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ (FIP)
เป็นโรคติดต่อในแมวที่น่ากลัวมาก ๆ เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส Feline Coronavirus (FCoV) ยังไม่มีการรักษาใดที่ได้ผล 100%
โรคนี้จะติดต่อผ่านน้ำลาย อึ และการใช้ของร่วมกับแมวป่วย ลูกแมวที่ป่วยในระยะแรกจะซึมและผอมลง บางตัวพบอาการท้องบวมน้ำ เพราะมีของเหลวสะสมในช่องท้อง ช่องอก เป็นโรคที่ทำให้ลูกแมวตายได้ในเวลาสั้น ๆ โดยช่วงอายุที่พบป่วยโรคนี้ได้ง่ายที่สุดคือ ในช่วงลูกแมวอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี และพบบ่อยในเจ้าของที่เลี้ยงน้องแมวมากกว่าหนึ่งตัว
วิธีการป้องกัน FIP ได้คือ ต้องป้องกันการติดเชื้อซึ่งทำโดย …
ทำความสะอาดและการจัดการกระบะทราย ควรจะสะอาดและมีปริมาณให้มากพอ ปริมาณที่น้อยที่สุดที่เหมาะสำหรับแมวในบ้านได้แก่ จำนวนแมว +1
กระบะทรายและชามอาหารและน้ำไม่ควรเก็บอยู่ในห้องเดียวกัน
ไม่ควรเลี้ยงแมวจำนวนมากในพื้นที่แคบ ๆ ควรแยกเลี้ยงเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หลาย ๆ กลุ่มจะปลอดภัยกว่า
ควรแยกแมวเอาไว้กรงละตัว
ถ้ามีแมวที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ FIP ต้องแยกตัวที่ป่วยออกจากตัวอื่นทันที รีบพาไปพบสัตวแพทย์และควรทำความสะอาดบริเวณที่แมวป่วยอยู่ให้เรียบร้อยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่ควรให้แมวตัวอื่นเข้าใกล้บริเวณนั้น เพราะว่าเชื้อ corona virus มีความทนทานสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน