ค้นพบ "คลื่นวิทยุจากสุดขอบจักรวาล" พบคลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 9000 ล้านปีแสง!!
คลื่นวิทยุจากสุดขอบจักรวาล
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาได้มีข่าวเล็ก ๆ ที่หลายคนอาจจะไม่ได้สนใจเท่าใด เมื่อนักดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (McGill University) และสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย (Indian Institute of Science) ได้ประกาศว่า พบสัญญาณคลื่นวิทยุจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 9000 ล้านปีแสง ซึ่งนับว่าเป็นการทำลายสถิติของต้นกำเนิดสัญญาณคลื่นวิทยุที่อยู่ไกลที่สุดที่เคยพบมา
คลื่นดังกล่าวถูกส่งออกมาจากดาราจักรที่มีรหัสว่า SDSSJ0826+5630 (ในข้อมูลไม่ได้ระบุว่าอยู่ในกลุ่มดาวไหน) โดยเป็นคลื่นที่มีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตร หรือ “เส้นไฮโดรเจน” ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมาจากอะตอมไฮโดรเจนที่เป็นกลาง และส่วนมากแล้วจะตรวจจับได้เฉพาะที่ส่งมาจากแกแลกซี่ที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากมันจะสูญเสียพลังงานไปในระหว่างการเดินทางและจางหายไป แต่ในกรณีนี้ Arnab Chakraborty นักวิจัยของมหาวิทยาลัย McGill ได้อธิบายว่า เกิดจากปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง ทำให้สัญญาณได้รับการขยายกำลังขึ้นไม่น้อยกว่า 30 เท่า จนแรงพอที่กล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกที่อยู่ในประเทศอินเดียจะสามารถตรวจจับได้
เมื่อเทียบกับอายุของเอกภพที่นักดาราศาสตร์ประมาณไว้ว่าถือกำเนิดเมื่อ 1.3-1.4 หมื่นล้านปี เท่ากับว่าแหล่งกำเนิดคลื่นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเอกภพมีอายุเพียงประมาณ 4.9 พันล้านปี ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงกำเนิดของดาวฤกษ์ในยุคแรกเริ่มของเอกภพได้