"จิ้งจก 2 หาง เกิดขึ้นได้อย่างไร ?"
ทางอ.เจษฏา ได้ออกมาโพสเกี่ยวกับจิ้งจกสองหาง ดังนี้..
"จิ้งจก 2 หาง เกิดขึ้นได้อย่างไร ?"
พอใกล้วันหวยออก ก็จะมีข่าวทำนองเจอสัตว์แปลก พืชแปลก ของแปลก มาให้ตีเลขหวยกันอยู่เรื่อยๆ อย่างเช้านี้ก็มีข่าว "ฮือฮา! จิ้งจก 2 หางโผล่ในบ้าน เชื่อมาให้โชคแห่ตีเลขเด็ด" ครับ ซึ่งเจ้าจิ้งจกสองหางนี้ ชาวบ้านจังหวัดสุรินทร์เป็นคนเจอที่บ้าน ลักษณะเป็นจิ้งจกบ้านธรรมดา ความยาวประมาณ 3 นิ้ว แต่มีหางเป็นสองแฉก แยกออกจากกัน ยาวประมาณ 1 นิ้วทั้งสองหาง เจ้าของบ้านพบจิ้งจกตัวนี้นานแล้ว ตอนแรกนึกว่ามันลอกคราบ มาเจออีกที นี่มันจิ้งจก 2 หางชัดๆ (ที่เหลือของข่าว ก็ว่าด้วยเรื่องการตีเลขหวย)
จริงๆ แล้ว จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นในกลุ่มนี้ มี 2 หาง หรือแม้แต่ 3 หาง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกมากอะไรครับ และมีสาเหตุที่ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อปาฏิหาริย์อะไร แต่เป็นผลจากกลไกในการ "ตัดหางตัวเอง" เพื่อป้องกันตัวของมัน ที่ผิดพลาดไปหน่อย ... ส่วนเรื่องที่บอกว่าจะโชคดีนั้น (ซึ่งมีความเชื่อแบบนี้ในต่างประเทศด้วยนะ ไม่ใช่แค่คนไทย) ก็เป็นแค่ความเชื่อส่วนบุคคลนั่นแหละครับ
สัตว์พวกจิ้งจกนั้น ส่วนใหญ่สามารถที่จะงอกหางออกมาใหม่ได้ ถ้าขาดออกไป โดยอาศัยลักษณะพิเศษของกระดูกหางของมัน ที่ตรงกลางระหว่างกระดูกแต่ละชิ้นจะมีจุดที่ไม่แข็งแรงอยู่ด้วย (เรียกว่า breakage plane หรือแนวระนาบที่แตกได้) ซึ่งเหมือนเตรียมเอาไว้ให้มันแตกหักได้โดยง่าย และที่ตำแหน่งนั้น กล้ามเนื้อหางได้ถูกจัดเรียงให้ถูกดึงออกจากกันได้ง่าย เส้นเลือดก็ขาดง่ายแต่ปิดได้เร็ว ทำให้หางขาดได้ง่ายแต่สูญเสียเลือดเพียงเล็กน้อย แล้วจากนั้นก็จะเกิดกลไกในการสร้างหางขึ้นมาใหม่ (เรียกว่าการเกิด regeneration)
ทีนี้ มันก็มีบางครั้งที่หางซึ่งน่าจะขาดหลุดออกไป กลับขาดเพียงแค่บางส่วนและไม่หลุดออก แต่ก็ยังเสียหาญมากเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดกลไกการสร้างหางขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดเป็นเหมือนมี 2 หางขึ้น คือมีหางเก่าอยู่หนึ่ง และงอกใหม่อีกหนึ่ง
ซึ่งหางที่งอกออกมาใหม่นี้ จะไม่ใช่การสร้างหางที่มีกระดูกแข็ง (bone) เป็นชิ้นๆ ต่อกันเหมือนเดิม แต่จะเป็นแท่ง "กระดูกอ่อน (cartilage) " ยาวๆ แตกต่างจากหางเดิม
และในบางตัว (อย่างเช่นในรูปเอกซเรย์นี้) แทนที่จะเห็นหางด้านหนึ่งมีกระดูกจริงอยู่ด้านใน และอีกหางหนึ่งเป็นกระดูกอ่อน แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นกระดูกอ่อนทั้งสองหาง ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ถ้ามันเคยมีการงอกหางใหม่ที่เป็นกระดูกอ่อนมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยที่หางซึ่งเป็นกระดูกจริงยังไม่ขาด แล้วต่อมาก็มีการขาดของหางไปจริงๆ แล้วก็งอกหางใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2020 ยังเคยมีการทำวิจัยกันอย่างจริงจัง ถึงการงอกหางใหม่แบบผิดปรกติเช่นนี้ ในสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มจิ้งจกกิ้งก่าจากทั่วโลก โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Curtin University ประเทศออสเตรเลีย ชื่อเรื่องว่า When one tail isn't enough: abnormal caudal regeneration in lepidosaurs and its potential ecological impacts. ตีพิมพ์ในวารสารวิจัย Biological Reviews (ดูได้ที่ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/brv.12625)
คณะผู้วิจัยได้ศึกษาปรากฏการณ์ที่สัตว์กลุ่มนี้มีกลไกในการตัดหางของตนเองออก (เรียกว่าการทำ caudal autotomy) เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันตัวเมื่อถูกโจมตีโดยศัตรู จากนั้นก็จะงอกหางใหม่ออกมา ซึ่งปรกติแล้วหางใหม่จะเป็นแท่งกระดูกอ่อนยาวเพียงแท่งเดียว แต่ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เมื่อการตัดหางออกนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ หางเดิมยังติดอยู่กับตัว แล้วงอกหางใหม่ไปด้วย ทำให้กลายเป็นมีหาง 2 หาง ซึ่งพบว่าบางตัวนั้นสามารถมีได้มากสุดถึง 6 หางเลยทีเดียว !
งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากตัวอย่างที่มีตั้งแต่ 2 หางขึ้นไป จากจำนวนมากกว่า 175 สปีชีส์ (ซึ่งเป็นตัวแทนของ 22 วงศ์) ที่รวบรวมจากประเทศต่างๆ 63 ประเทศ และพบว่าเมื่อนำไปเทียบกับจำนวนประชากรของพวกมันแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์นี้ อาจจะพบได้มากเฉลี่ยถึง 2.75% เลยทีเดียว ซึ่งเยอะกว่าที่เคยคาดกันไว้เป็นอย่างมาก
ประเด็นที่พบปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้มากกว่าที่คาด ทำให้ผู้วิจัยสงสัยต่อเนื่องไปอีกว่า มันจะมีผลกระทบทางนิเวศวิทยาหรือไม่ เพราะว่าการที่มีหางเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ทำให้ตัวของพวกมันหนักขึ้นและเคลื่อนที่ได้ลำบากขึ้นด้วยนั้น น่าจะเป็นผลลบต่อการอยู่รอด การสืบพันธุ์ และพฤติกรรมอื่นๆ ของจิ้งจกแต่ละตัว รวมถีงประชากรของพวกมันด้วย .. หรือว่าจะมีผลเชิงบวกอะไร ซ่อนอยู่