ตรอกรักปั๋นใจ๋ ตอนที่ 2
ตอนที่ 2
งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป1,000 ดวง ของจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่นำ
พระพุทธศาสนา งานศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาชาวบ้าน ผนวกรวมกันเป็นรูปธรรมที่โดดเด่น
ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจุดเด่นอยู่ที่การใช้กะลามะพร้าวมาทำเป็นกระทง โดยการนำ
กะลามะพร้าวมาขัดถูให้สะอาดทั้งภายในและภายนอก แล้วตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนภายใน
กะลาจะใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกา แล้วหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งที่นำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่
พระสงฆ์ได้จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน และหลังจากออกพรรษาชาวบ้าน
จะนำเทียนเหล่านั้นมาหลอมละลายด้วยความร้อนหล่อลงในกะลาที่มีด้ายรูปตีนกา สำหรับเป็น
เชื้อเพลิงจุดไฟก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิง ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่
นำกระทงกะลามาลอยในแม่น้ำปิง
สำหรับตำนานการฟั่นด้ายดิบเป็นรูปตีนกาผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบกันมาว่า จากอดีตกาลมีเณรน้อยองค์หนึ่งมีนิสัยเที่ยวซุกซน ชอบล่าสัตว์ยิงนกเป็นประจำ วันหนึ่งเณรน้อยได้ยิงไก่ วัว
เต่าและพญานาคตาย จึงเกิดสำนึกในบาปที่ตนได้กระทำ ดังนั้นเณรน้อยจึงอธิษฐานกับพวกไก่ วัว
เต่าและพญานาคว่า ถ้าได้เกิดมาในชาติหน้าขอเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน
ณ ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำในป่าทึบเป็นที่อยู่อาศัยของกาเผือกสองตัวผัวเมีย พร้อมไข่จำนวน
5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่งขณะที่กาเผือกสองตัวผัวเมียออกหาอาหาร เกิดท้องฟ้ามืดครึ้มมีลมพัดแรง
แล้วพัดไข่ทั้ง 5 ฟอง ตกลงในแม่น้ำ แต่ไข่ทั้ง 5 ฟองนั้นไม่จมน้ำกลับลอยไปติดชายหาด แล้วแตกออกมาเป็นเด็กทารก คือ เณรน้อย ไก่ วัว เต่าและพญานาค หลังจากนั้นเด็กทารกทั้ง 5 คน
ร่วมตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพวกเราเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ก็ขอให้มีโอกาสพบพ่อแม่ด้วยเถิด ส่วนกาเผือกสองตัวผัวเมียเมื่อตายลงก็ได้เกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ แล้วมาเข้าฝันเด็กทารกทั้ง 5 คนว่า “หากพวกเจ้าทั้ง 5 คน อยากเห็นหน้าและระลึกถึงพ่อแม่ก็จงฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา
แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป” ต่อมาเด็กทารกทั้ง 5 คน ก็ได้พบพ่อแม่สมดังปรารถนาและอุปสมบท
เป็นพระภิกษุสำเร็จอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
ครูสายใจหันไปถามผู้เป็นลูกสาวที่นั่งข้างกายว่า
“ปีนี้โรงเรียนของสายปานเข้าร่วมงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง รึเปล่าลูก”
“เข้าร่วมค่ะคุณแม่ แล้วเห็นคุณครูบอกว่าปีนี้จะให้ปานเป็นนางนพมาศนั่งกระทงของโรงเรียนด้วยค่ะ”
“ไม่เอา....ไม่เอา....ย่าว่ายังไม่เหมาะสม วันจันทร์ไปบอกคุณครูว่าย่าไม่อนุญาตเพราะปานยังเป็นเด็กอยู่”
แล้วสองแม่ลูกหันมาสบตากันอย่างรู้ใจซึ่งกันและกันพลางอมยิ้มที่มุมปาก เหตุที่สายปานพูดไปอย่างนั้นก็หวังเพียงแค่ต้องการจะแกล้งกระเซ้าเย้าแหย่ผู้เป็นย่า เจ้าของสมญานามว่า คุณย่า
เจ้าระเบียบทุกกระเบียดนิ้ว ของลูกหลานในตระกูลปันใจ สายปานจำได้ว่าสมัยวัยเด็กเมื่อครั้ง
อยู่โรงเรียนอนุบาล กว่าจะได้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนจะต้องผ่านด่านของคุณย่าบัวเรียบก่อนทุกครั้ง
11
เพราะด้วยความน่ารักน่าชังในวัยเด็กสดใสหมดจด มักทักผมเป็นเปียยาวรับกับใบหน้าที่อ่อนเยาว์ ปากนิดจมูกหน่อยจิ้มลิ้มพริ้มเพราสวยใสตามวัยอย่างไร้เดียงสา จึงทำให้เป็นที่หมายตาของคุณครู
ต่างต้องการให้สายปานร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเกือบทุกกิจกรรมเสมอ จนเป็นดาวประจำโรงเรียน
ไปโดยบริยาย แถมยังเรียนหนังสือเก่งสอบได้ที่หนึ่งมาโดยตลอด จนกระทั่งจบประถมศึกษาชั้นปีที่หก
จากนั้นได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัด ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นชั้นปีที่หนึ่ง
คุณย่าบัวเรียบจึงสั่งหยุดไม่ให้ร่วมกิจกรรมของโรงเรียนทุกกิจกรรม ให้เพียงมุ่งเน้นตั้งใจไปที่การศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น และประเด็นที่สำคัญคือเริ่มโตเป็นสาวแล้ว ไม่ควรแสดงตัวในที่
สาธารณะให้มากนัก ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเป็นกุลสตรีให้มีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย
เพื่อสมกับความเป็นเบญจกัลยาณีอันดีงามอย่างไทย โดยคุณย่าบัวเรียบจะสร้างกฎเหล็ก
บังคับให้คนในตระกูลปันใจที่มีลูกหลานเป็นผู้หญิงทุกคน ต้องนำมารับการอบรมสั่งสอน
เพื่อฝึกการมีกิริยามารยาททั้งในบ้านและสังคมนอกบ้าน รวมไปถึงฝึกงานฝีมือเย็บปักทักร้อย
ในช่วงปิดภาคเรียนการศึกษา ฉะนั้นเพราะด้วยสาเหตุนี้จึงเป็นที่มาของสมญานามว่า
คุณย่าเจ้าระเบียบทุกกระเบียดนิ้ว
“แหม....คุณอาคะ ปล่อยๆ ไปเถอะค่ะ สายปานโตเป็นสาวแล้ว” ครูสายใจยังพูดเย้าแหย่ผู้เป็นอา
“นั่นแหละ ยิ่งโตเป็นสาว ฉันยิ่งต้องห้าม ปล่อยได้ที่ไหนสมัยนี้อันตรายมีเกือบทุกที่” คุณย่าบัวเรียบ
พูดค้านเสียงแข็งพลางแสดงสีหน้าบึ้งตึงจนเห็นได้ชัด สองแม่ลูกสบตากันพลางอมยิ้มที่มุมปากอีกครั้ง
เพราะรู้ว่าอะไรก็ไม่สามารถมาเปลี่ยนแปลงความคิดของคุณย่าบัวเรียบได้สำเร็จ ทั้งนี้เป็นผล
สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งคุณย่าบัวเรียบในวัยเยาว์ก็ถูกเข้มงวดกวดขันจากญาติผู้ใหญ่ที่ใช้วัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งของไทยและจีนมาอบรมสั่งสอน เพื่อต้องการให้ลูกหลานรู้จักการมี
สัมมาคาราวะ ฝึกฝนให้มีกิริยามารยาทสุภาพเรียบร้อย และพูดจาไพเราะอ่อนหวานให้งดงาม
ทั้งในบ้านและสังคมนอกบ้าน แต่จะเน้นให้รักนวลสงวนตัวและเข้าตามตรอกออกตามประตู
โดยให้ยึดถือปฏิบัติตามวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นหลัก รวมไปถึงฝึกหัดงานฝีมือ
เย็บปักทักร้อยด้วยเช่นกัน ครูสายใจจึงเปลี่ยนเรื่องพูดใหม่เพื่อให้บรรยากาศการสนทนาครึกครื้น
กลับมาเหมือนเดิม
“ปีนี้จังหวัดของเราโชคดีนะคะคุณอา”
“โชคดีเรื่องอะไรล่ะ” น้ำเสียงยังขุ่นๆ
“ปีนี้จังหวัดของเราโชคดีและถือว่าเป็นสิริมงคลค่ะคุณอา ที่ได้รับพระราชทานกระทงและพระประทีป
สำหรับลงลอยเป็นปฐมฤกษ์ในการเปิดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม 9 พระองค์เลยนะคะ”
12
“9 พระองค์เชียวรึ’ คุณย่าบัวเรียบกล่าวพร้อมรอยยิ้มอ่อนโยน
“ค่ะคุณย่า เป็นกระทงพระราชทานและพระประทีปพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์
และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ อีกทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับเป็น
รางวัลชนะเลิศเชิดชูเกียรติให้กับผู้ชนะในการแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ด้วยค่ะ”
สายปานอธิบายอย่างละเอียดเพราะรู้ข้อมูลมาจากโรงเรียนเมื่อตอนเช้าวันนี้
“เจ้าประคุ๊ณ.... ขอให้ทุกพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเจ้าค่ะ” คุณย่าบัวเรียบกล่าวด้วย
ความปลาบปลื้มใจและซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัยของทุกพระองค์พร้อมยกมือไหว้ขึ้นท่วมหัว
การจัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ก่อนวันแข่งขันการลอยกระทงสาย
1 วัน จะต้องนำกระทงขนาดใหญ่เรียกว่า กระทงนำ พร้อมด้วยกระทงกะลา และกระทงปิดท้าย
ที่ประดิษฐ์อย่างวิจิตรงดงาม ด้วยฝีมือของแต่ละชุมชนที่มีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจ
ช่วยกันคิดช่วยกันทำตกแต่งกระทงทั้ง 3 ประเภท แล้วนำออกมาแห่พร้อมผู้ร่วมขบวนแห่
จำนวน 100 คนขึ้นไป โดยจะแต่งกายอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อม
เพื่อแข่งขันในวันต่อไป สำหรับการแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง ในแต่ละสายจะต้องประกอบด้วย
กระทงนำ เป็นกระทงขนาดใหญ่ ฐานกระทงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 เมตรถึง
2.50 เมตร ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยใบตองสดและดอกไม้สดที่เย็บเป็นรูปแบบต่างๆ อย่างสวยงามแล้วนำมาประกอบเป็นรูปกระทง โดยภายในกระทงต้องมีผ้าสบง เครื่องกระยาบวช หมากพลูขนม
สตางค์ ธูป เทียน ฯลฯ ส่วนรอบกระทงจะประดับประดาด้วยไฟแสงสีต่างๆ เพื่อให้เกิดความสว่าง
สวยงาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ประยุกต์มาจากแพผ้าป่าน้ำในสมัยโบราณ และก่อนที่จะนำกระทงลงลอย
แม่น้ำปิงต้องทำพิธีจุดธูปเทียนแล้วกล่าวคำขอขมาเป็นการบูชาพระแม่คงคาและบูชาพระพุทธเจ้าตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา พร้อมถวายผ้าป่าน้ำแด่พระภิกษุสงฆ์จากนั้นจึงนำกระทงลงลอยแม่น้ำปิงเป็นลำดับแรก
กระทงกะลา จะใช้กะลามะพร้าว จำนวน 1,000 ใบ หลังจากจัดเตรียมกะลาที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว
ก็จะนำกระทงกะลาจุดไฟที่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็นรูปตีนกาหล่อด้วยเทียนขี้ผึ้งลงลอยแม่น้ำปิง
ทั้งนี้แม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะมีสันทรายใต้น้ำทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามเป็นธรรมชาติ
13
เมื่อนำกระทงต่างๆ ลงลอยกระทงเหล่านั้นจะไหลไปตามร่องน้ำ ทำให้ดูเป็นสายยาวต่อเนื่อง
พร้อมกับมีแสงไฟในกระทงกะลาส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำปิง จนเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น
และภาคภูมิใจของชาวจังหวัดตาก
กระทงปิดท้าย จะมีลักษณะคล้ายกระทงนำแต่มีขนาดรูปทรงเล็กกว่า ฐานกระทงมี
เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.00 เมตร ประดิษฐ์ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยใบตองสดและดอกไม้สด
สำหรับลอยปิดท้ายเพื่อลอยตามกระทงกะลาเมื่อครบ 1,000 ใบ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์
แสดงให้ทราบว่าได้สิ้นสุดการลอยของสายกระทงกะลานั้นด้วย
การเชียร์ ในขณะที่ทำการลอยกระทงกะลาของแต่ละสายอยู่นั้น จะมีกองเชียร์ร่วมร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนานครื้นเครง เป็นการให้กำลังใจแก่สมาชิกที่ทำการลอยกระทงกะลาของ
แต่ละสาย ซึ่งการแสดงของแต่ละชุมชนจะต้องเป็นระบบ ภายใต้กรอบที่กำหนดคือ มีผู้แสดงไม่
น้อยกว่า 80 คน และร่วมแต่งกายแสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย ส่วนเพลงที่นำมาร้องต้องมี
เนื้อหาสอดคล้องกับประเพณีไทยหรือวิถีชีวิตของชุมชน โดยดนตรีที่นำมาบรรเลงต้องใช้เครื่อง
ดนตรีไทยทั้งหมด และจะต้องใช้กะลาเป็นส่วนประกอบของการแสดง สำหรับเวลาในการใช้เชียร์นั้น
จะให้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ในการลอยแต่ละสาย
หลังจากที่ทุกคนอิ่มอาหารแล้ว มะลิจึงเสิร์ฟผลไม้คือแตงโมแช่เย็นจานใหญ่และน้ำเก๊กฮวยร้อนๆ สำหรับคุณย่าบัวเรียบที่นั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับคำกล่าวชมถึงความเอร็ดอร่อยของหลนเต้าเจี้ยว
ก่อนเอ่ยถามความคิดเห็นของสมาชิกภายในบ้านว่า
“พรุ่งนี้เป็นวันเสาร์และเป็นวันพระด้วย พวกเราไปเยี่ยมหาหลวงปู่บัวทองกันดีมั้ย”
“ก็ดีนะคะคุณอา พวกเราไม่ได้ไปเยี่ยมหาท่านมาหลายวันพระแล้วค่ะ”
“ดีเหมือนกันจะได้เอาหลนเต้าเจี้ยวไปถวายหลวงปู่บัวทองฉันซักหน่อย ท่านชอบฉันอยู่เหมือนกัน”
คุณย่าบัวเรียบส่งสายตารักใคร่เอ็นดูมองไปยังสายปานที่นั่งตรงข้ามแล้วว่า
“พรุ่งนี้ตื่นเช้าๆ หน่อยนะลูก พวกเราจะไปเยี่ยมหาหลวงปู่บัวทองที่วัดกัน”
“ค่ะคุณย่า” สายปานตอบน้ำเสียงยินดีพร้อมรอยยิ้มใบหน้าพริ้มเพรา
ณ วัดสีตลาราม เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อปีพุทธศักราช 2448 หรือเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดน้ำหัก ตั้งอยู่ท้าย
ชุมชนตรอกบ้านจีนด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง และเลยลงไปจะเป็นศาลเจ้าปึงเท่ากง
ซึ่งเป็นศาลเจ้าจีนที่ชุมชนตรอกบ้านจีนต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นด้วยความเสื่อมใสศรัทธา
และเคารพนับถือในองค์เทพเจ้าจีน เพื่อให้ผู้คนในชุมชนตรอกบ้านจีนและพ่อค้าแม่ค้าที่ล่องเรือ
หรือล่องแพตามเส้นทางแม่น้ำปิงได้แวะกราบไหว้บูชาเทพเจ้าจีนทั้ง 5 พระองค์ ได้แก่
เทียงโฮวเซี้ยบ้อ ปุงเท่ากง ปุงเท่าม่า กวงตี้กงและใช่ซิ่งเอี้ย เพื่อความเป็นสิริมงคลและเดินทาง
14
แคล้วคลาดปลอดภัย สำหรับสาเหตุที่เรียกว่าวัดน้ำหัก เพราะในสมัยก่อนบริเวณด้านทิศตะวันตก
ของวัดซึ่งเป็นฝั่งตะวันออกจะติดกับแม่น้ำปิงส่วนฝั่งตรงข้ามของวัดจะเป็นชุมชนบ้านป่ามะม่วง
และชุมชนบ้านปากห้วยแม่ท้อ เมื่อถึงฤดูฝนหน้าน้ำหลาก กระแสน้ำจากลำห้วยแม่ท้อจะไหลมาด้วย
ความรุนแรงไปตัดกับกระแสแม่น้ำปิง ทำให้เกิดการหักเหของกระแสน้ำแล้วไหลวนเบนไปยัง
ท่าน้ำหน้าวัดสีตลาราม จึงเป็นที่เรียกขานว่าวัดน้ำหักมาจนถึงทุกวันนี้
ครูสายใจเดินประคองคุณย่าบัวเรียบอยู่ข้างๆ ไม่ยอมให้ห่างกาย เพราะกลัวว่าจะลื่นหกล้มได้ด้วยเหตุความชราภาพที่เป็นไปตามวัย ส่วนสายปานกับมะลิช่วยกันหิ้วตะกร้าอาหารคาว หวาน และผลไม้สดพะรุงพะรังเต็มสองมือทั้งหมดเดินเข้ามาในอาณาเขตของวัดสีตลารามท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย อันเกิดจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่เติบโตขึ้นหนาแน่นรกครึ้มให้ร่มเงา แล้วทุกคนมานั่งพร้อมกันบนกุฏิหลวงปู่บัวทอง โดยมีลูกศิษย์วัดเป็นหนุ่มน้อยชาวเขา ที่น่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับมะลิ สมชายเป็นชื่อของหนุ่มน้อยชาวเขาที่หลวงปู่บัวทองตั้งให้ ซึ่งสมชายจะคอยเฝ้าดูแลอยู่ใกล้ๆยามที่หลวงปู่บัวทองเรียกหาเพื่อใช้งาน
“เจริญพรนะโยมบัวเรียบ โยมสายใจ โยมสายปาน และโยมมะ....มะอะไรนะ” หลวงปู่บัวทองทักทายติดตลก
“อ๋อ....มะลิเจ้าค่ะหลวงปู่” ครูสายใจบอกแทนทุกคนที่นั่งแต่อมยิ้ม
“โยมทุกคนสบายดีกันนะ”
“ทุกคนสบายดีเจ้าค่ะท่าน ผิดแต่ตัวอิฉันสามวันดีสี่วันไข้” คุณย่าบัวเรียบชิงพูดบ้าง
“คนเราก็เป็นอย่างนี้แหละ พอมีอายุมากขึ้น ร่างกายก็ทรุดโทรมถดถอยไปตามกาลเวลา เจ็บที่โน้นที
ปวดที่นี่ที ไม่มีที่สิ้นสุด สังขารมันไม่เที่ยงแท้แน่นอน”
“จริงเจ้าค่ะท่าน แล้วท่านล่ะสบายดีรึเปล่าเจ้าคะ”
“สุขภาพก็เหมือนกันกับโยมบัวเรียบนั่นแหละ แต่ดีนะที่ตอนหนุ่มๆ ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ร่างกายจึงไม่ทรุดโทรมมากนัก นี่ถ้ากินเที่ยวเหมือนกับคนอื่นเค้า ป่านนี้สุขภาพของอาตมาคงจะย่ำแย่
ไปกว่านี้แน่ๆ เชียว” หลวงปู่บัวทองพูดพลางหัวเราะชอบใจ เมื่อทักทายถามไถ่สารทุกข์สุขดิบกันตามประสาคนที่มีอายุไล่เลี่ยกัน คุณย่าบัวเรียบรีบกล่าวเหมือนเอาใจว่า
“พอดีเมื่อวานหลนเต้าเจี้ยว เห็นว่าท่านชอบฉันวันนี้จึงเอามาถวายเจ้าค่ะ”
“เออ....ก็ดี ไม่ได้ฉันมาหลายเดือนแล้ว แต่เป็นพระจะเลือกฉันไม่ได้หรอกโยมบัวเรียบ มันผิดศีลจะอาบัติ”
“เจ้าค่ะท่าน” น้ำเสียงคุณย่าบัวเรียบแผ่วลง หลวงปู่บัวทองเหลือบมองไปยังครูสายใจที่นั่งเสงี่ยม
เรียบร้อย จึงซักถามด้วยความห่วงใยขึ้นว่า
“เป็นยังไงบ้างล่ะโยมสายใจ สบายใจขึ้นมาบ้างแล้วรึยัง”
“หนูก็สบายใจขึ้นมาบ้างแล้วเจ้าค่ะหลวงปู่ แต่เรื่องคดีก็ยังคาราคาซังกันอยู่ แล้วก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่า
15
จะจบลงแบบไหนเจ้าค่ะ”
“อืม....เอาเถิด....จะจบลงแบบไหน ทุกคนก็เป็นพี่เป็นน้องมาจากโคตรเหง้าศักราชเดียวกันทั้งนั้น
ไม่รู้ว่าจะโลภโมโทสันอะไรกันไปถึงไหนนักหนา สมบัติเงินทองนอกกายตายไปแล้วก็เอาไปไม่ได้กันสักบาท ขนาดเอาเหรียญยัดใส่เข้าไปในปากยังโดนสัปเหร่อลวงเอาออกไปเลย นี่เป็นเพราะความละโมบเกาะกินจิตใจแท้ๆ จนลืมความเป็นพี่เป็นน้องร่วมสายเลือดเดียวกัน....เฮ้อ....คิดแล้วก็ให้รู้สึกปลงอนิจจัง” หลวงปู่บัวทองว่าพลางถอนหายใจเฮือกใหญ่ สีหน้าแสดงความกังวลในใจมิใช่น้อย ต่อโชคชะตาของญาติกาทั้งสามชีวิตที่นั่งอยู่เบื้องหน้าตนเอง คุณย่าบัวเรียบหันไปสบตากับครูสายใจด้วยแววตาสงสารอาทรขึ้นมาจับใจก่อนว่า
“กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง ก็แล้วแต่เวรแต่กรรมเถอะเจ้าค่ะ พวกเราไม่เคยคิดอาฆาตมาดร้ายกับใคร ขออย่าเดียวขออย่าได้มาจองเวรจองกรรมกับพวกเราอีกเลย พวกเราขออโหสิกรรมให้เลิกแล้วต่อกันโดยดีสาธุ....” คุณย่าบัวเรียบยกมือไหว้ขึ้นท่วมหัว แต่แววตามีประกายแบบ
นักสู้คนหนึ่ง หลวงปู่บัวทองพยักหน้าหงึกหงักแล้วกล่าวด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลอย่างผู้รู้ธรรมว่า
“อาตมาขอให้โยมสายใจอดทน อดกลั้น และต่อสู้ต่อไป สักวันหนึ่งต้องเป็นวันของเราบ้าง
จงหมั่นทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรบ้างเมื่อมีโอกาส แต่ไม่ต้อง
ไปหวังพึ่งผลบุญกุศลที่ทำไว้จนเกินความตั้งใจจนกลายเป็นเพื่อหวังสิ่งตอบแทน ถึงยังไงทุกสิ่ง
ทุกอย่างมันก็ขึ้นอยู่กับความเป็นจริง เราเอาความเป็นจริงและความถูกต้องเป็นที่ตั้ง เพราะความจริง
เป็นสิ่งไม่ตาย ใครก็ไม่สามารถมาทำอะไรเราได้เชื่อปู่เถิด”
“เจ้าค่ะหลวงปู่” ครูสายใจก้มลงกราบด้วยความอ่อนน้อม เพราะรู้ซึ้งถึงคำสั่งสอนของหลวงปู่บัวทอง
เสมือนเป็นการให้กำลังใจเพื่อต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่ายังไม่รู้จุดจบของปัญหา
ที่มีอยู่นี้ก็ตามที
“โยมสายปานล่ะ เรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว แต่....เอ ปู่ว่าปีนี้ดูตัวโตขึ้นตั้งเยอะเลยนะเรา” หลวงปู่บัวทอง
ร้องทักผู้เป็นหลานสาวที่นั่งหลบอยู่ข้างๆ ครูสายใจ สายปานสบตากับมารดาก่อนตอบว่า
“อยู่ชั้นมอหนึ่งเจ้าค่ะหลวงปู่”
“อืม....” หลวงปู่บัวทองพยักหน้ารับ อุทานในลำคอ แล้วเอ่ยต่อว่า
“ตั้งใจเรียนหนังสือนะสายปาน การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น จงดูตัวอย่างจากพ่อกับแม่ของหลานสิ....” หลวงปู่บัวทองหยุดพูดแล้วคำพูดคำสุดท้ายแผ่วหายจนแทบไม่ได้ยิน
เพราะนึกขึ้นได้เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายแพทย์จงรักษ์ ปันใจ ผู้เป็นลูกชายซึ่งเป็นบิดาของหลานสาว
ที่นั่งทำตาแป๋วอยู่ตรงหน้า เพื่อไม่ต้องการให้กระทบกระเทือนจิตใจของผู้เป็นหลานสาว แต่สองคน
ที่เป็นน้องสาวกับลูกสะใภ้อ่านใจหลวงปู่บัวทองออกที่ไม่ได้กล่าวอะไรต่อไปอีก จึงได้แค่พยักหน้า
16
รับรู้แล้วนิ่งเงียบไป จากนั้นทุกคนช่วยกันประเคนอาหารคาว หวาน พร้อมด้วยผลไม้สดให้แก่
หลวงปู่บัวทอง แล้วร่วมกันกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษเครือญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึง
เจ้ากรรมนายเวร ตามด้วยบทสวดมนต์ให้ศีลให้พรก่อนกล่าวล่ำลาเมื่อใกล้จะฉันเพลของหลวงปู่บัวทอง
“ใกล้จะฉันเพลแล้ว ขออนุญาตกราบลาเจ้าค่ะหลวงปู่” คุณย่าบัวเรียบเอ่ยขึ้น
“ตามสบายๆ ขอให้ทุกคนมีอายุ วัณโณ สุขขัง พลัง เจริญพรนะโยม” หลวงปู่บัวทองกล่าวพร้อมรอยยิ้มมิตรไมตรีดั่งผู้รู้ธรรม ทุกคนกราบลาพร้อมกันแล้วลงจากกุฏิของหลวงปู่บัวทองด้วยใบหน้าอิ่มบุญ และชุ่มฉ่ำหัวใจในรสพระธรรมคำสอน
รถยนต์สี่ประตูยี่ห้อดังยอดนิยมในสภาพกลางเก่ากลางใหม่ของครูสายใจ ได้นำพาทั้งสี่ชีวิต
แล่นออกจากอาณาเขตของวัดสีตลาราม ด้วยหัวใจพองโตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข จากการได้
ทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษเครือญาติที่ล่วงลับ รวมถึงเจ้ากรรมนายเวร และที่สำคัญ
ได้ถวายหลนเต้าเจี้ยวที่เป็นอาหารโปรดของหลวงปู่บัวทองด้วย รถยนต์คันงามแล่นเลี้ยวซ้าย
เพื่อจะไปร้านก๋วยเตี๋ยวไทยตรงหัวมุมถนนตากสิน ซึ่งเป็นร้านเพื่อนรักของคุณย่าบัวเรียบ
ที่เปิดขายมาตั้งแต่ครั้งเริ่มแต่งงานมีครอบครัวจนมาถึงทุกวันนี้ รวมๆ แล้วก็เกือบสี่สิบกว่าปีเห็นจะได้
พอรถยนต์จอดสนิทคุณย่าบัวเรียบรีบร้องทักขึ้นว่า
“ครูสายใจ ฉันอยากเดินเข้าไปในตรอกบ้านจีนนี้สักหน่อย”
“จะดีเหรอคะคุณอา อากาศมันเริ่มจะร้อนแล้วนะคะ”
“เอาเถอะหน่า ฉันขอนิดหนึ่งละกัน” คุณย่าบัวเรียบแสดงอาการดื้อรั้นเหมือนเด็กที่ต้องการเอาแต่ใจ ครูสายใจสบตากับผู้เป็นลูกสาวที่ยืนอยู่ข้างๆ กายคุณย่าบัวเรียบ จนสายปานเสนอตัวขอเป็น
ผู้ดูแลญาติผู้ใหญ่เอง เพราะในใจตั้งข้อสงสัยคิดอยู่เสมอว่า
“ตรอกบ้านจีนคืออะไร?
มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร? แล้วมาเกี่ยวข้องอะไรกับคนในครอบครัวปันใจ?”
“ไม่เป็นไรค่ะคุณแม่ เดี๋ยวปานกับพี่มะลิจะช่วยกันดูแลคุณย่าเองค่ะ”
“จะดีเหรอลูก เราสองคนจะไหวรึ”
“ไหวค่ะคุณแม่” สายปานตอบอย่างมั่นใจ
“ย่าก็ไหวนะ” คุณย่าบัวเรียบกล่าวแสดงความมั่นใจเช่นกัน
“ถ้ายังงั้นก็ตามใจคุณอาเถอะค่ะ แต่อย่าเดินเข้าไปลึกมากนะคะ เดี๋ยวจะออกมาทานก๋วยเตี๋ยวไม่ทัน เพราะตอนเที่ยงคนจะเยอะ”
“เอาเถอะ ยังไงเสียนางชุ่มก็หาที่นั่งให้ฉันได้นั่งกินก๋วยเตี๋ยวของหล่อนจนได้แหละ” คุณย่าบัวเรียบ
เอ่ยถึงเพื่อนรักด้วยแววตาเป็นประกายสดใส
17
“ค่ะ” ครูสายใจพูดเสียงหนักแน่นแล้วแอบอมยิ้มที่มุมปาก
ครูสายใจเดินประคองคุณย่าบัวเรียบเข้าไปในตรอกบ้านจีน โดยมีสายปานกับมะลิเดินกางร่มถือให้คนละคัน เพื่อกันแสงแดดที่เริ่มเพิ่มอุณหภูมิความร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไล่ความหนาวเย็น
เมื่อเช้าใกล้หมดสิ้นไป แต่ลมเย็นอ่อนๆ ยังพัดผ่านมาสัมผัสผิวกายคนทั้งสี่จนรู้สึกได้ ทำให้จิตใจ
สดชื่นขึ้นมาได้บ้าง แต่ภายในจิตใจของคุณย่าบัวเรียบกลับร้อนรนกระวนกระวายใจ อยากจะเร่ง
ฝีเท้าเดินให้ถึงยังบ้านหลังที่ตนเองเคยอาศัยอยู่อย่างใจจดใจจ่อ ปริ่มว่าใจจะขาดเสียให้ได้อยากเห็นนักว่าสภาพของบ้านนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด สี่สิบกว่าปีที่เคยอาศัยอยู่ใน
ชุมชนย่านตรอกบ้านจีน ตนเองได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ทั้งเหตุการณ์ที่ดีและเหตุการณ์ที่เลวร้ายปะปนกันไป ยิ่งคิดก็ยิ่งทำให้จิตใจร้อนรุ่มปนความคิดที่ฟุ้งซ่าน และเป็นกังวลในใจอย่างที่สุด
“มะลิเดินตามคุณย่าให้ทันหน่อยสิจ๊ะ มัวแต่เดินนวยนาดอยู่นั่นแหละ” ครูสายใจตำหนิสาวใช้พม่า
“อาพั้วบัวเรียบเดินไวจริงๆ มะลิเดินตามกางร่มให้แทบไม่ทันเลยค่ะ” มะลิตอบเสียงเบาพลาง
เร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น เพื่อเดินตามให้ทันคุณย่าบัวเรียบ
“ใจฉันไปถึงบ้าน ตั้งแต่เริ่มเดินเข้ามาในตรอกบ้านจีนแล้วย่ะแม่ดอกมะลิ” คุณย่าบัวเรียบเอ่ย
พร้อมหอบเล็กน้อย แต่ฝีเท้ายังเร่งเดินอยู่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
“ค่ะ อาพั้วบัวเรียบ” มะลิตอบพลางทำคอย่นเมื่อได้ยินเสียงดุเล็กๆ ของคุณย่าบัวเรียบ
“ใจเย็นๆ ค่ะคุณอา เหนื่อยเกินเดี๋ยวจะเป็นลมเป็นแล้งไปเสียก่อน” ครูสายใจพูดด้วยความห่วงใย
คุณย่าบัวเรียบไม่กล่าวอะไรต่อ แต่ค่อยๆ ผ่อนฝีเท้าให้ช้าลง โดยสัมผัสได้จากมือที่จับกุมครูสายใจ
ไว้อย่างเหนียวแน่น ได้ค่อยๆ เริ่มคลายมือออกจนเกือบหลวม ครูสายใจใช้เรียวมืองามอีกข้างตบเบาๆ ยังมือที่จับกุมครูสายใจเหมือนปลอบโยน เพื่อต้องการให้จิตใจผ่อนคลายและสงบนิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้สิ่งที่ได้กระทำในวันนี้ ถือเป็นการตามใจผู้เป็นอาที่ตนรักและเคารพนับถือมากที่สุด
ให้สบายใจ ถึงแม้ดูเหมือนจะไม่มีคุณค่าอะไรมากนัก แต่มันกลับมีคุณค่าทางด้านจิตใจอย่างมหาศาล
สำหรับคนแก่สูงอายุในวัยชราภาพ ดุจไม้ใกล้ฝั่งอย่างคุณย่าบัวเรียบมากที่สุด
บทประพันธ์โดย นิพรรนา
#ตาก #ตากฟิล์ม #takflim