ฉาวปฑี ความเชื่อต้องห้ามสตรีมีประจำเดือน ห้ามไม่ให้สตรีที่กำลังมีประจำเดือนเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ
ฉาวปฑี ความเชื่อต้องห้ามสตรีมีประจำเดือน ห้ามไม่ให้สตรีที่กำลังมีประจำเดือนเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ
ฉาวปฑี (เนปาล: छाउपडी; Chhaupadi, [t͡sʰau̯pʌɽi]) เป็นรูปแบบของเรื่องต้องห้ามเกี่ยวกับสตรีมีประจำเดือน ซึ่งห้ามไม่ให้สตรีที่กำลังมีประจำเดือนเข้าร่วมในกิจกรรมธรรมดาทั่วไปของครอบครัว เนื่องจากถือว่ามีความ "ไม่บริสุทธิ์" ความเชื่อนี้มีปฏิบัติทั่วไปในประเทศเนปาลโดยอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ขณะฉาวปฑี
สตรีจะไม่สามารถเข้าบ้านได้และต้องไปอาศัยในเพิงวัวควาย หรือในที่อยู่อาศัยพิเศษที่สร้างขึ้น เรียกว่า กระท่อมประจำเดือน จนกว่าจะหมดประจำเดือน การคลอดบุตรในเนปาลก็จบลงที่ต้องขังตนเองในกระท่อมเช่นนี้เหมือนกัน นอกจากนี้ขณะมีประจำเดือน สตรียังห้ามมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน
รวมถึงยังห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ของครอบครัว ชื่ออื่น ๆ ของฉาวปฑี เช่น ‘chhue’ หรือ ‘bahirhunu’ ในฑเฑลธูระ, ไพตาฑี และ ฑรจุละ, ‘chhaupadi’ ในอฉาม และ ‘chaukulla’ หรือ ‘chaukudi’ ในพัชฌัง
คำว่า "ฉาวปฑี" มีที่มาจากเนปาลตะวันตก ซึ่งมาจากความเชื่อว่าประจำเดือนทำให้บุคคลนั้นไม่บริสุทธิ์เป็นเวลาชั่วคราว
ซึ่งมีที่มาจากตำนานว่าพระอินทร์สร้างประจำเดือนขึ้นมาเพื่อเป็นวิธีในการสาปแช่ง ในระบบความเชื่อนี้ สตรีมีประจำเดือนหากไปสัมผัสต้นพืชก็จะไม่มีพืชผลอีก, หากเธอดื่มนม วัวตัวนั้นก็จะไม่ให้นมอีก, หากเธออ่านหนังสือ เทวีแห่งการเรียนรู้ พระสรัสวตี จะพิโรธ และหากเธอแตะต้องตัวผู้ชาย ชายคนนั้นจะเจ็บป่วย
ถึงแม้จะไม่มีจำนวนชัดเจน แต่ทุก ๆ ปีมีสตรีและเด็กหญิงเสียชีวิตเพราะฉาวปฑี โดยเฉพาะในแถบตะวันตกของประเทศ การเสียชีวิตส่วนใหญ่เกี่ยวกับกระท่อมประจำเดือนที่พวกเธอต้องถูกกักตัวไว้ สาเหตุมีหลากหลาย ตั้งแต่ถูกสัตว์ทำร้าย ถูกงูพิษหรือตะขาบกัด ไปจนถึงการถูกสารพิษอื่น ๆ ในปัจจุบันมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการให้ความรู้และพยายามถอนความเชื่อเรื่องฉาวปฑี ศาลสูงสุดเนปาลได้ตรากฎหมายให้การทำฉาวปฑีเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 2005
อ้างอิงจาก: Wikipedia,ohchr.org/Documents, YouTube