“วังเจ้ามอญ” เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียก แต่คนมอญด้วยกันเรียกว่า “วังกรมพระนเรศวร์”
"วังเจ้ามอญกำแพงเมืองชั้นนอกกรุงรัตนโกสินทร์"
“วังเจ้ามอญ” เป็นชื่อที่คนทั่วไปเรียก แต่คนมอญด้วยกันเรียกว่า “วังกรมพระนเรศวร์” ตั้งอยู่ในกำแพงพระนครชั้นนอก บนถนนพระอาทิตย์ เดิมมีอาณาบริเวณตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าจนถึงเขตวังมะลิวัลย์ วังในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ต้นราชสกุล “กฤดากร”
ย้อนไปเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วังแห่งนี้เป็นนิวาสสถานของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เชื้อสายกษัตริย์มอญวงศ์หงสาวดี ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมือ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานที่ดินแปลงนี้ให้แก่กรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฐ์ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการปกครองของไทย วังแห่งนี้เคยใช้เป็นที่ประชุมของพรรคสหชีพในสมัยนายปรีดี พนมยงค์ ปัจจุบันเป็นที่ทำการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ใน “ลำดับสกุลคชเสนีกับ โบราณคดีมอญ” พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพคุณหญิงจำเริญพิพิธมนตรี ความว่า
“เจ้าพระยามหาโยธาชื่นชมโสมนัสมาก ด้วยมีพระราชกุมารเป็นเหลนโดยตรงทางเจ้าจอมมารดา ถึงทำหนังสือมอบเวรที่บ้านเรือนถวายเป็นของขวัญสมโภชกรมพระนเรศรฯ ตั้งแต่แรกประสูติ เพราะฉะนั้นวังกรมพระนเรศรฯ จึงอยู่ริมกำแพงพระนครตอนถนนพระอาทิตย์ อันเป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธาอยู่แต่เดิม”
ดังนั้นวังแห่งนี้จึงตกทอดเป็นของกรมพระนเรศวร์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เกิดแต่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย) เจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์เป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์
คุณทองอยู่ แพ่งคำ และนางแม้นจิต โพธิสิทธิ์ สองพี่น้องชาวโพธาราม ราชบุรี ซึ่งเคยอยู่ในวังกรมพระนเรศวร์ด้วยกัน เนื่องจากเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นได้นำชาวมอญจากที่ต่างๆ มาชุบเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก ยังขาดแต่ชาวมอญโพธาราม เมื่อได้โอกาสไปโพธารามท่านจึงได้พาคนทั้งสองและเพื่อนๆ อีก 5 คน เข้าไปเลี้ยงในวังตั้งแต่ยังเล็กๆ ส่งเสียให้เรียนหนังสือ คุณทองอยู่เป็นหม่อมคนหนึ่งในกรมพระนเรศรวรฤทธิ์ จึงอาศัยอยู่ที่ตำหนักของกรมพระนเรศวร์ ส่วนนางแม้นจิตขณะนั้นยังเป็นเด็กจึงอาศัยอยู่ที่ตำหนักของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น
ทั้งสองเล่าว่า ภายในวังกรมพระนเรศวร์ เลี้ยงคนไว้มากมายทั้งเด็กผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมอญ มักคุยกันด้วยภาษามอญ ซึ่งเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นท่านจะพูดภาษามอญกับคนมอญที่ไปเยี่ยมเยียน ซึ่งก็มีอยู่เสมอมิได้ขาด
ดร.พิศาล บุญผูก ผู้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีมอญ และใกล้ชิดหม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร รวมทั้งธิดาคือ ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ อยู่เสมอ หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร จึงมักเล่าเรื่องชีวิตในวังกรมพระนเรศวร์ในวัยเด็กให้ฟังเสมอ
“พี่เลี้ยงในวังเป็นคนมอญทั้งนั้น หากตกเย็นพี่เลี้ยงเรียกหาและบอกว่า “ฮุมด้าจก์” ก็เป็นรู้กันว่าให้ไปอาบน้ำ ฉันก็จะต้องวิ่งหนีทุกครั้งไป เพราะไม่ชอบอาบน้ำ มาจนบัดนี้เราก็ยังจำภาษามอญได้หลายคำ”
หม่อมราชวงศ์เพ็ญศรี กฤดากร เล่าว่า ท่านพ่อคือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเล่าเรื่องชีวิตที่ฟาร์มบางเบิด ประจวบคีรีขันธ์ เกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น ที่สั่งสอนเรื่องบาปในการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงเพื่อการค้า ทำให้หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ต้องเลิกเลี้ยงหมู
“ตอนแรกที่เลี้ยงหมูนั้น คุณย่าทวดคือเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นไม่เห็นด้วย เพราะท่านเป็นชาวพุทธ เป็นมอญที่เคร่ง เห็นเป็นเรื่องบาป การเลี้ยงหมูน่าจะเป็นอาชีพของคนจีน ดังนั้นพ่อก็เลยต้องขายหมูหมด”
การที่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นยึดถือในธรรมเนียมมอญอย่างเคร่งครัด ยังคงวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมในวังแบบมอญ อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ และหลานของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นทุกคนคุ้นเคยและซึมซับความเป็นมอญมาแต่วัยเยาว์ เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นชุบเลี้ยงคนมอญแทบจะทุกชุมชนมอญในเมืองไทยไว้มาก การแต่งกาย อาหารการกิน การพูดจากันภายในวังก็มักใช้ภาษามอญ ทำให้บุคคลทั่วไปเรียกขานวังของท่านว่า “วังเจ้ามอญ” ล้อไปกับ “วังเจ้าลาว” ของเจ้าอนุวงศ์ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ย่านบางยี่ขัน หรือเชิงสะพานพระราม 8 ในปัจจุบันที่กำลังเป็นข่าว