ตำนานและความเชื่อ “ศาลเจ้าแม่งูจงอาง”
Written byADMIN
0
วันนี้จะขอแนะนำสถานที่แห่งหนึ่งที่สำคัญย่านพระรามสอง ที่ใครได้มีโอกาสผ่านถนนเส้นนี้ก็อาจมีความคุ้นตาหรือเคยเห็นกันมาบ้าง ซึ่งสถานที่แห่งนี้นั้นบูชาสัตว์ชนิดหนึ่งนั้นก็คืองู และสถานที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยตำนานและความเชื่อมากมาย ซึ่งนั้นก็คือ “ศาลเจ้าแม่งูจงอาง” นั้นเอง
ความเชื่อที่ทำให้เกิดตำนานศาลเจ้าแม่งูจงอางหรือศาลเจ้าแม่จงอางและลูก (แม่ขวัญ)
ในอดีตนั้นศาลเจ้าแม่งูจงอางเป็นศาลไม้เล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 2 โดยเกิดจากการที่ระหว่างก่อสร้างถนนพระรามสองนั้น ได้มีคนงานคนหนึ่งฝันว่ามีเจ้าแม่งูจงอางมาหาและพยายามขอให้เลื่อนเวลาสร้างถนนไปอีก เนื่องจากตนเองนั้นท้องแก่และกำลังใกล้คลอดแล้ว เมื่อคลอดลูกเสร็จตนและลูกก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่น คนงานคนนั้นได้สะดุ้งตื่นจึงได้เล่าความฝันนี้ให้กับหัวหน้าฟัง แต่หัวหน้ากลับไม่สนใจเรื่องที่ลูกน้องได้มาเล่าให้ฟังจึงทำดำเนินงานก่อสร้างไปต่อ ในระหว่างที่คนงานกำลังขับรถเกลี่ยหน้าดินอยู่นั้นก็ได้ถอยไปทับกับครอบครัวงูจงอางจึงทำให้ครอบครัวงูจงอางนั้นตายกันหมด ต่อมาเจ้าแม่งูจงอางเกิดความอาฆาตโกรธแค้นมนุษย์ทั้งหลาย จึงทำให้เกิดอาเพสกับคนงานคนนั้นและเกิดอุบัติเหตุมากมายกับผู้คนที่ขับผ่าน จึงต้องตั้งศาลขึ้นมาเพื่อเป็นการขอขมา ต่อมาได้มีการขยายถนนพระรามสอง จึงทำให้ต้องมีการย้ายศาลอีกครั้ง เจ้าแม่จงอางได้ไปเข้าฝันของเจ้าของที่ดินในปัจจุบันว่าให้ช่วยสร้างศาลใหม่ให้ เจ้าของที่ดินก็ได้ทำตามคำขอของเจ้าแม่จึงทำให้เริ่มมีคนมา กราบไหว้มากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่นั้นมาศาลเจ้าแม่งูจงอางก็ได้เป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน
ความเชื่อที่ทำให้เกิดการบูชา
หลายคนเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าแม่งูจงอางนั้นมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขอลูก ขอเรื่องงาน ขอเกี่ยวกับที่ดิน หรือขอเกี่ยวกับครอบครัวก็มักจะสมหวัง แต่เรื่องที่ทำให้ศาลเจ้าแม่งูจงอางนั้นเป็นที่นิยมมากที่สุดนั้นก็คือ การขอเลขหรือการเสี่ยงโชคนั้นเอง ยิ่งช่วงใกล้ ๆ วันที่รัฐบาลจะประกาศผลสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น จะมีผู้คนมากมายต่างเข้ามาเสี่ยงเซียมซีและเอาเลขที่ได้นั้นไปซื้อสลากมาลุ้นรางวัลกัน โดยมีการบนบานด้วยไข่ เพื่อเป็นการทดแทนไข่ขอเจ้าแม่งูจงอางที่ได้สูญเสียไป รูปปั้นงู เพื่อแสดงถึงความมีบริวารที่มากมายของเจ้าแม่งูจงอาง และชุดไทย เพื่อที่จะได้นำมาเป็นเครื่องแต่งกายให้กับเจ้าแม่งูจงอาง และมีความเชื่ออีกว่าถ้าใครไปแล้วได้เห็นงูจงอางมาปรากฏตัวข้าง ๆ ศาลนั้นจะทำให้โชคดี
ความเชื่อที่ทำให้เกิดงานประติมากรรม
ภายในตัวศาลเจ้านั้นเต็มไปด้วยงานประติมากรรมที่เป็นรูปปั้นงูและยังมีรูปปั้นงูที่มีรูปกายเป็นคน เพื่อนำมาถวายเป็นบริวารของเจ้าแม่งูจงอาง ประติมากรรมส่วนมาเป็นประติมากรรมแบบลอยตัว (Round Relief) ที่สามารถจะมองเห็นได้รอบด้าน รูปปั้นจำนวนมากมักทำมาจาก ไม้ หิน สำริด และปูนปลาสเตอร์
ความเชื่อที่ทำให้เกิดศิลปะบายศรี
เนื่องจากในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี จะมีงานบวงสรวงประจำปี คือการจัดวางบายศรีขนาดใหญ่และได้มีการทำเป็นรูปทรงพญานาค เพื่อนำมาบูชาเจ้าแม่งูจงอาง การทำบายศรีนั้นเป็นประเพณีโบราณที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาถือกันว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเป็นการนำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีและประดับด้วยดอกไม้มงคลต่าง ๆ เพื่อนำมาใส่อาหารคาว หวาน ในพิธีบวงสรวง
ความเชื่อที่ทำให้เกิดรายได้ภายในชุมชน
เนื่องจากศาลเจ้าแม่งูจงอางนั้นเป็นที่นิยมที่ผู้คนมากมายชอบมากราบไหว้ขอพร ทำให้บริเวรแถวนั้นได้มีพ่อค้าแม่ค้าต่างมาขายไข่ ขายของเซ่นไหว้ ขายรูปปั้นงู และขายล็อตเตอรี่กันเป็นจำนวนมาก เพื่อต้องการตอบสนองคนที่ต้องการมากราบไหว้บูชาหรือการบนบาน และหากใครที่ต้องการมาเสี่ยงโชคก็สามารถมาเสี่ยงเซียมซีและซื้อล็อตเตอรี่บริเวณหน้าศาลเจ้าได้ทันที จึงทำให้ผู้คนในบริเวณนั้นได้มีอาชีพเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูตนเองได้