เช็กขั้นตอน ก่อนและหลังการถอนฟัน มีข้อปฏิบัติอย่างไร
การถอนฟัน นับเป็นหนึ่งในหัตถการทันตกรรมที่หลายคนคุ้นเคย และอาจผ่านประสบการณ์การถอนฟันกันมาแล้ว แต่จะมีใครรู้หรือไม่ว่า การถอนฟันที่เราได้ยินกันบ่อยเสียจนเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปนั้น แท้จริงแล้ว มีอะไรที่เราควรรู้มากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเสี่ยง คนที่มีโรคประจำตัวหรือใช้ยารักษาอะไรบ้างที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนถอนฟัน รวมทั้งขั้นตอนการเตรียมตัวและข้อปฏิบัติก่อนและหลังการถอนฟันมีอะไรบ้าง
ถอนฟัน
การถอนฟัน (tooth extraction) คือหนึ่งในหัตถการทันตกรรมที่ทำการรักษาด้วยการนำฟันซี่ที่มีปัญหาหรือสาเหตุต่างๆ ที่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น ฟันผุ ฟันคุด ฟันซ้อน หรืออุบัติเหตุ ฯลฯ ออกจากเบ้าในกระดูกขากรรไกร โดยการถอนฟันนั้น จะมีทั้งการถอนฟันแบบธรรมดา คือการถอนฟันซี่ที่โผล่พ้นเหงือกขึ้นมาแล้ว และแบบที่ต้องถอนฟันร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งเรียกกันว่าการผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุด
การถอนฟันจะอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปาก ซึ่งขั้นตอนการถอนฟันจะมีการฉีดยาชาบริเวณรอบฟันก่อน เพื่อลดความเจ็บปวด หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาในการถอนฟันเพียงไม่นาน เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ทันตแพทย์ก็จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลแผลถอนฟัน รวมถึงวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ก่อนที่ผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
อาการแบบไหน ที่ต้องถอนฟัน
การถอนฟันแทบจะเป็นทางเลือกข้อท้ายๆ ของทันตแพทย์เลยก็ว่าได้ โดยจะเลือกใช้เฉพาะกรณีที่มีปัญหาหรือสาเหตุที่ไม่อาจรักษาด้วยการเก็บฟันธรรมชาติเอาไว้ได้จริงๆ ซึ่งอาการและสาเหตุที่อาจพิจารณาให้ถอนฟัน มีดังนี้
1. ฟันผุ
ฟันผุเกิดจากแบคทีเรียในช่องปากสะสมรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลาย จนเกิดเป็นคราบซึ่งก่อตัวขึ้นบนผิวฟัน และจะค่อยๆ เจริญเติบโตด้วยน้ำตาลจากอาหารหรือเครื่องดื่มที่กินเข้าไป โดยแบคทีเรียเหล่านั้นจะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลให้กลายเป็นกรด ซึ่งมาทำลายแร่ธาตุบนผิวฟัน จนทำให้ฟันเกิดเป็นรูเล็กๆ ที่สามารถลุกลามใหญ่โตขึ้น จนฟันผุลึกหรือมีอาการติดเชื้อมากเกินกว่าจะรักษาด้วยการอุดฟัน ครอบฟัน หรือรักษารากฟันได้ สุดท้ายจึงต้องทำการถอนฟันกรามเป็นรู หรือถอนฟันซี่อื่นๆ ที่มีปัญหานั้นออกไป
2. ฟันซ้อน
ฟันซ้อนคือฟันที่ขึ้นผิดตำแหน่ง หรือฟันที่ขึ้นผิดตามแนวเหงือก โดยมีลักษณะการเรียงตัวของฟันที่ทับซ้อนกันกับฟันซี่อื่น ซึ่งอาจแก้ไขปัญหาฟันซ้อนได้โดยการจัดฟัน ที่ต้องทำร่วมกับการถอนฟัน เพื่อให้ฟันที่เหลือมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเรียงฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่สวยงามและเป็นระเบียบ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาลักษณะฟันของผู้ที่จะจัดฟัน และวางแผนการรักษาก่อนว่าจะถอนฟันจำนวนกี่ซี่ และจะถอนฟันซี่ไหนบ้าง
3. ฟันคุด
ฟันคุดคือฟันกรามที่ยังขึ้นไม่เต็มที่ และฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือกบริเวณกระดูกขากรรไกร ทั้งนี้ เนื่องจากฟันคุดคือฟันที่ยังไม่โผล่พ้นขึ้นมาเหนือเหงือก จึงไม่สามารถมองเห็นเองได้ แต่ต้องใช้การเอกซเรย์ฟันช่วย ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีฟันคุดทั้งหมด 4 ซี่ คือ บนซ้าย บนขวา ล่างซ้าย ล่างขวา โดยการผ่าฟันคุด การถอนฟันคุด และถอนฟันกรามนั้น จะทำเพื่อป้องกันการอักเสบ และอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ในอนาคต
4. อุบัติเหตุ
การประสบอุบัติเหตุบริเวณฟัน ทำให้ฟันโดนกระแทกอย่างรุนแรง ฟันหัก ฟันร้าวจนไม่สามารถแก้ไขด้วยการอุดฟัน ครอบฟัน หรือไม่สามารถบูรณะขึ้นใหม่ได้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทันตแพทย์จำเป็นจะต้องถอนฟันที่มีปัญหาเหล่านั้นออก
กลุ่มโรคประจำตัวที่ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนถอนฟัน
ก่อนเข้ารับการถอนฟัน ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงโรคประจำตัว รวมถึงยาที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรคประจำตัวดังต่อไปนี้
- โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ หรือต้องใช้ลิ้นหัวใจเทียม
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ เปลี่ยนลิ้นหัวใจ หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจมาก่อน การทำหัตถการต่างๆ ทางทันตกรรม เช่น ถอนฟัน สามารถทำให้แบคทีเรียเล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อซ้ำ
- ความดันโลหิตสูง
ผู้ป่วยที่มีความดันที่สูงมากๆ เกิน 140/90 มิลลิเมตปรอท อาจทำให้ถอนฟันเลือดไหลไม่หยุด เลือดที่ไหลออกมาหยุดยาก และเป็นอันตรายได้
- เบาหวาน
ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลที่สูง จะมีผลต่อกระบวนการหายของแผลหลังถอนฟันเสร็จ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการติดเชื้ออีกด้วย
- ผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
ผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin อาจมีการส่งตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดก่อน เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าสามารถถอนฟันได้หรือไม่ได้
การเตรียมตัวก่อนถอนฟัน
ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนถอนฟัน มีดังนี้
- เตรียมความพร้อมของร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ มาในวันนัดถอดฟัน
- หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อน รวมทั้งยาทั้งหมดที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น Aspirin, Warfarin และ Clopidogrel (Plavix) เป็นต้น
- โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องหยุดยาประจำตัวก่อนถอนฟัน แต่จะมีบางกรณีที่ทันตแพทย์อาจส่งปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อพิจารณาเรื่องการหยุดยาที่จะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวลิ้นหัวใจ หรือเคยเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาก่อน ทันตแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะ (Amoxicillin) ก่อนเข้ารับการถอนฟัน และควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- หากผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลหรือความดันโลหิตสูง และยังไม่สามารถควบคุมได้ ทันตแพทย์อาจเลื่อนการถอนฟันออกไปก่อน
- ซื้ออาหารที่รับประทานง่ายๆ เตรียมไว้ เช่น ซุป ข้าวต้ม โจ๊ก รวมทั้งซื้อเจลเผื่อเอาไว้ประคบเย็น
คำแนะนำหลังถอนฟัน
- กัดผ้าก็อซให้นิ่งบริเวณแผลถอนฟัน เป็นเวลาอย่างน้อย 45 นาที หรือถ้าหากยังมีเลือดออกอยู่ สามารถเปลี่ยนผ้าก็อซอันใหม่แล้วกัดต่ออีก 30-45 นาที โดยห้ามใช้ลิ้นดุนแผล และไม่ควรดูดน้ำลายหรือเลือดจากผ้าก๊อซ
- ใช้เจลเย็นหรือน้ำแข็งห่อผ้าชุบน้ำหมาดๆ ประคบที่ด้านนอกของแก้มบริเวณที่เพิ่งถอนฟัน เพื่อลดอาการบวม ควรเปลี่ยนเจลหรือน้ำแข็งทุกๆ 15 นาที และทำต่อเนื่องประมาณ 24 ชม. หลังจากนั้น หากยังมีรอยช้ำหรือยังปวดตึงอยู่ ก็สามารถประคบอุ่นต่อได้
- หากไม่มีเลือดออกแล้ว สามารถทำความสะอาดแปรงฟันซี่อื่นๆ ได้ แต่หลีกเลี่ยงบริเวณแผล งดการกลั้วปากแรงๆ ใน 24 ชม. แรก แต่หลัง 24 ชม. เป็นต้นไป สามารถบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น 1 แก้วผสมเกลือครึ่งช้อนชาได้
- การรับประทานอาหาร ควรเลือกรับประทานที่ทานง่ายๆ ไปก่อนในช่วง 2-3 วันแรก และควรดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้น อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
- หากยังมีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น ibuprofen หรือพาราเซตามอลได้ ครั้งละ 1 เม็ด เวลาห่างกัน 4-6 ชั่วโมง หรือกินยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง
- ระวังข้อห้ามอื่นๆ เช่น งดออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วัน และงดสูบบุหรี่และสุราอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- หากรู้สึกว่ามีอาการแปลกๆ รู้สึกผิดปกติ ถอนฟันเลือดไหลไม่หยุด ควรรีบติดต่อโรงพยาบาลทันที
สรุป
การถอนฟันมีสิ่งที่ควรรู้มากมาย ทั้งอาการอะไรบ้าง ที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น จึงจำเป็นจะต้องถอนฟัน รวมถึงความสำคัญของผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบถึงโรคและยาที่ใช้ก่อน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหลังถอนฟัน นอกจากนั้นยังมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการถอนฟันที่สามารถนำไปใช้เอง หรือแนะนำให้คนใกล้ตัวที่กำลังจะไปถอนฟันก็ได้