เจ็บข้อเข่า ปวดเข่า เกิดจากอะไร มีโอกาสเป็นโรคอื่นหรือเปล่า?
อาการเจ็บข้อเข่า เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้คนยุคปัจจุบันโดยอาการปวดเข่า สาเหตุเกิดได้หลายอย่าง เช่น ด้วยอายุที่มากขึ้น การใส่รองเท้าส้นสูง ติดเชื้อ หรือการออกกำลังกายหนัก ๆ อีกทั้งยังสามารถเกิดได้แบบสะสมรื้อรังและแบบฉับพลันทันทีโดยไม่รู้ตัวมาก่อนก็ได้ บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับอาการเจ็บข้อเข่ากันให้มากขึ้นในทุก ๆ แง่มุมที่ควรรู้
เจ็บข้อเข่า
ข้อเข่า เป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักตัวมากที่สุด ฉะนั้นเมื่อใช้งานร่างกายที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ก็มีโอกาสทำให้ เจ็บข้อเข่า ได้ โดยสาหตุของการเจ็บเข่าอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งจากโรค จากการเสื่อมสภาพของอวัยวะบริเวณอื่น ๆ รวมถึงการโดนปะทะกระแทกแรง ๆ ที่เข่าทำให้อักเสบ และข้อเข่านั้นประกอบด้วยหลายส่วนตั้งแต่
องค์ประกอบข้อเข่า
- ลูกสะบ้า กระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้ง ที่เป็นส่วนประกอบหลัก
- กระดูกอ่อนและน้ำเลี้ยงข้อเข่า ที่ไว้รองรับการเคลื่อนไหว
- เอ็นไขว้หน้าและเอ็นไขว้หลัง ที่ช่วยยึดกระดูกส่วนต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน
เจ็บข้อเข่า เกิดจากอะไร
อาการเจ็บข้อเข่าเกิดจากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งได้ตามบริเวณที่เจ็บโดยแบ่งหลัก ๆ เป็น 3ข้อดังนี้
1. หมอนรองกระดูกเสื่อม
ทำให้ข้อเข่าเสียดสีกันจนอักเสบและสึกหรอ ซึ่งมักเกิดจากการหกล้ม ถ้าเป็นคนที่มีอายุมากยิ่งทำให้หมอนรองกระดูกบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น
2. กระดูกอ่อนอักเสบ
นับเป็นอาการเจ็บข้อเข่าด้านใน มักเกิดจากการกระแทกหรือใช้งานข้อเข่าซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จากการงอเข่าหรือนั่งยอง ๆ หรือเดินขึ้นลงบันได
3. เส้นเอ็นฉีกขาด
มักเกิดจากอุบัติเหตุระหว่างเล่นกีฬา ทำให้เอ็นฉีกขาดและ เจ็บข้อเข่าด้านนอกตามมา เพราะเอ็นที่ช่วยยึดข้อเข่าไว้ไม่สามารถรับน้ำหนักได้เข่าก็จะบวม
อาการเจ็บข้อเข่า ปวดเข่า
อาการเจ็บข้อเข่าเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง และสามารถพัฒนาไปสู่โรคได้หากไม่ได้รับการรักษา ดังนั้นควรสังเกตตนเองว่าหากเริ่มมีอาการดังนี้ควรเฝ้าระวัง และ/หรือเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
- ปวดเข่า ปวดเมื่อยรอบ ๆ เข่าหรือน่อง และเมื่อรุนแรงขึ้นจะเริ่มปวดมากขึ้นจนทำให้การเคลื่อนไหวไม่สะดวก
- เกิดเสียงในข้อ เมื่อมีการเคลื่อนไหว
- เกิดอาการบวม หรือร้อนแดงบริเวณข้อเข่า
อาการเจ็บข้อเข่าที่ควรพบแพทย์
เพราะอาการเจ็บข้อเข่าไม่สามารถบ่งชี้ถึงจุดที่มีความผิดปกติได้จากภายนอก ดังนั้นเมื่อมีอาการเจ็บข้อเข่าที่รุนแรงมากขึ้น จนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย
โดยกลุ่มอาการที่ควรมาพบแพทย์มีดังนี้
- ไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้จนสุด และเจ็บข้อเข่าทุกครั้งที่มีการฝืนเหยียดหรืองอเข่า
- ยืนหรือลงน้ำหนักไม่ได้ หรือไม่เต็มที่
- เจ็บข้อเข่าเรื้อรังไม่หายขาด ถึงจะทานยา งดการใช้ขาก็แล้วแต่ก็ยังมีอาการเจ็บข้อเข่า และยังเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ
- มีการปวดบวมร้อนมากบริเวณข้อเข่า
เจ็บข้อเข่า อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น
อาการเจ็บข้อเข่าอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้เช่น
โรคข้อเข่าเสื่อม
โรคนี้เกิดจากการที่ข้อเข่าเสียดสีกันเองจนสึกและอักเสบ ที่ข้อเข่าเสียดสีกันได้อาจจะเนื่องจากอวัยวะในเข่าเสียหายแล้วไม่ได้รับการรักษา ทำให้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ผิดเพี้ยนและมีการเสียดสีขึ้น
โรครูมาตอยด์
โรคนี้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเนื้อเยื่อตนเอง ซึ่งมันอาจไปทำลายเนื้อเยื่อตรงข้อเข่าแล้วมีอาการปวดได้
ใครบ้างที่มักเจ็บข้อเข่า
อาการเจ็บข้อเข่าสามารถพบได้ในบุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากข้อเข่าผ่านการใช้งานมานาน
- เพศหญิง มีโอกาสเจ็บข้อเข่าได้มากกว่าเพศชาย
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากและเสี่ยงต่อข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- ผู้ที่ทำงานที่ใช้แรงยกมาก และมีการขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ
- การใช้ข้อเข่าในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งพับเพียบ ที่มีการบิดข้อเข่า การนั่งขัดสมาธิ การนั่งยอง ๆ ที่ไปเพิ่มโอกาสการเกิดข้อเข่าเสื่อม
- ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณเข่า ไม่ว่าจะเอ็นฉีกขาด หรือกระดูกแตก ก็เพิ่มโอกาสการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
วิธีตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บข้อเข่า
อาการปวดเข่า สาเหตุ อาจเกิดได้หลายสาเหตุอย่างที่เรากล่าวไปข้างบน แต่ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรเราสามารถสังเกตเองได้ว่า เจ็บข้อเข่าหรือไม่, เจ็บตอนไหน, ถ้าอยู่เฉย ๆ เจ็บหรือเปล่า, ขยับท่าไหนเจ็บท่าไหนไม่เจ็บ และอาการอื่น ๆ เท่าที่เราจะสังเกตได้เอง เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ไปแจ้งกับแพทย์เพื่อจะได้วินิจฉัยอาการเจ็บข้อเข่า ข้อเท้า ได้แม่นยำขึ้น ทั้งยังช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่ต้องสียจากการ X-ray หรือ CT scan ได้อีกด้วย
เจ็บข้อเข่า รักษาอย่างไร
อาการเจ็บข้อเข่า สามารถรักษาได้หลากหลายวิธี ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความรุนแรงของอาการ โรคที่ทำให้เกิดอาการ หรือตัวผู้ป่วยเอง โดยเราจะขอยกตัวอย่างวิธีรักษาและบรรเทาอารเจ็บข้อเข่าซึ่งสามารถทำได้ทุกคนมาให้ดังนี้
รักษาตามอาการและทานยา
ถ้าเราระบุสาเหตุของอาการเจ็บข้อเข่าได้ไม่แน่ชัด หรืออาการยังไม่หนักไม่รุนแรงมาก ขอแนะนำให้รักษาตามอาการไปก่อน โดยการทานยาแก้ปวด หรือฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น ควบคู่ไปกับการลดน้ำหนัก ให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง และออกกำลังกายเพิ่มกล้ามเนื้อขาและสะโพก จะช่วยให้รับน้ำหนักได้มากขึ้น
รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ
เพราะเจ็บข้อเข่า ส่วนมากมักมากับโรค เช่น เบาหวานและเก๊าท์ ถ้ารักษาให้หายหรือควบคุมให้อาการดีขึ้น อาการเจ็บก็อาจจะหายหรือบรรเทาลงไปตามอาการของโรคเช่นกัน
วิธีการทางการแพทย์อื่น ๆ
ถ้าเจ็บข้อเข่าหนักมาก อาจจะต้องใช้วิธีการทางการแพทย์เพื่อบรรเทาและรักษาอการ เช่น ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าหรือเจาะน้ำในข้อเข่า เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด และถ้าหากอาการเจ็บรุนแรงจริง ๆ อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เปลี่ยนอวัยวะเทียม หรือใช้เหล็กดามไปเลย
วิธีป้องกันเจ็บข้อเข่า
อาการเจ็บข้อเข่าสามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- ควบคุมน้ำหนัก
เพราะการที่มีน้ำหนักตัวมาก ส่งผลให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากขึ้น เวลาเสียดสีหรือกระแทกก็จะมีผลที่หนักกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ และนั่นเป็นสาเหตุที่เร่งให้เกิดการเจ็บข้อเข่า จนเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมขึ้นได้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานหัวเข่าที่ผิดประเภท
การนั่งยอง นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ การแบกของหนัก ๆ ทำให้เข่าเกิดแรงกดที่ผิวข้อเข่าเป็นอย่างมาก ซึ่งเพิ่มโอกาสการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น
- ระวังกิจกรรมที่มีการใช้งานเข่ามาก
เช่นการเล่นกีฬา ซึ่งมีการใช้งานเข่าค่อนข้างมาก และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บข้อเข่าได้ง่าย อาจต้องเพิ่มความระวังในการเล่นกีฬา ใช้ซัพพอร์ดเมื่อเล่นกีฬา และการวอร์มอัพและคูลดาวน์ก่อนและหลังการเล่นกีฬา เพื่อลดโอการการบาดเจ็บของข้อ
- ออกกำลังกาย
สามารถออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณขาและเข่า เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงก็จะช่วยพยุงข้อเข่าให้รองรับน้ำหนักน้อยลง และถ่ายเทแรงมาที่กล้ามเนื้อมากขึ้น
คำถามที่พบบ่อย
เจ็บข้อเข่า ออกกำลังกายได้ไหม
ถ้ามีอาการเจ็บข้อเข่า ควรเลือกท่าออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักมาก และควรออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ต้นขาหรือสะโพก เพื่อให้ข้อเข่าไม่ต้องรับน้ำหนักมากเกินไป
เจ็บข้อเข่า ควรประคบร้อนหรือประคบเย็น
ข้อนี้ต้องบอกว่าแล้วแต่อาการ ถ้าเจ็บข้อเข่า จากการวิ่ง หรือปวดแบบเฉียบพลันจากอุบัติเหตุก็ให้ประคบเย็น ถ้าปวดบ่อย ๆ หรือปวดหลังจากเกิดอุบัติเหตุมานานแล้วก็ประคบร้อน
ข้อสรุป
อาการเจ็บข้อเข่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด และสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย หากเริ่มมีอาการเจ็บข้อเข่าไม่ควรนิ่งนอนใจ ปล่อยทิ้งไว้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยถึงโรคและสาเหตุการเจ็บข้อเข่า เพื่อให้เข่าของเราสามารถอยู่กับเราไปได้นานที่สุดเท่าที่จะยาวได้ค่ะ