“คาปิบารา” หมาที่ไม่ใช่หมา!
เรื่องของหมาที่ไม่ใช่หมา “คาปิบารา”
หลายวันที่ผ่านมาบางคนอาจจะได้ยินเรื่องราวของ “หมามะพร้าว” กันมาบ้าง และคงมีบางคนที่รู้สึกสนใจและชอบใจในความน่ารักของพวกมัน งั้นวันนี้จะชวนมาทำความรู้จักกับพวกมันเสียหน่อยเป็นไร
“หมามะพร้าว” ที่ว่านี่คือสัตว์ที่เรียกว่า “คาปิบารา” (Capybara) หรือบางครั้งในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า หมูน้ำ (Water Hog) แต่ความจริงแล้วพวกมันไม่ใช่ทั้งหมาและหมู แต่เป็นสัตว์ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodent) ต่างหาก โดยอยู่ในวงศ์หนูตะเภา (Cavidae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Hydrochoerus hydrochaeris เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกาใต้ฝั่งตะวันออกของเทือกเขาแอนดีส ตั้งแต่ตอนเหนือสุดในประเทศเวเนซูเอลา ไปจนถึงตอนกลางของอาร์เจนตินา ชื่อ Capybara ก็มาจากภาษาทูปิ (Tupi) หมายถึง “สัตว์ที่กินใบไม้เรียวหรือหญ้า
คาปิบาราจัดเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ลำตัวเป็นทรงกระบอกและหัวสั้น ตัวเต็มวัยมีความยาวตั้งแต่หัวถึงปลายลำตัวได้ถึง 1-1.30 เมตร และมีความสูงเมื่อยืนสี่เท้าประมาณ 50-60เซนติเมตร น้ำหนักตัว 25-80 กิโลกรัม มีขนสีน้ำตาลแดงเป็นเส้นหยาบ ๆ มองดูคล้ายใยมะพร้าว ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเล่น “หมามะพร้าว”
แม้ว่าจะเป็นสัตว์บก แต่คาปิบาราก็ชอบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นริมแม่น้ำ ห้วยหนองคลองบึง หรือแม้แต่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ (จนเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ Hydro = น้ำ cholros = หมู) และว่ายน้ำรวมถึงดำน้ำได้เป็นช่วงสั้น ๆ ประมาณ 5 นาที ในเวลากลางวัน พวกมันมักจะแช่ตัวในน้ำ ทั้งเพื่อซ่อนตัวจากศัตรูและเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย และมักจะออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของพวกมันคือหญ้าหรือพืชน้ำ รวมถึงเมล็ดธัญพืชและลูกผลไม้ได้อีกด้วย ตัวเต็มวัยจะกินอาหารวันละประมาณ 2-3 กิโลกรัม และเช่นเดียวกับสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ คือพวกมันจะมีฟันงอกยาวขึ้นตลอดเวลา พวกมันจึงต้องแทะต้นไม้แข็ง ๆ เพื่อช่วยลับฟันไม่ให้งอกยาวเกินไป
คาปิบาราสามารถออกหากินตามลำพัง หรือบางครั้งก็อยู่กันเป็นฝูง ที่เคยพบมากสุดคือประมาณ 40 ตัว โดยมักจะพบตัวเต็มวัยตัวผู้ราว 2-3 ตัว ตัวเมีย 4-7 ตัว คาปิบาราจะสามารถสืบพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว 1.5 ปีครึ่ง ตัวเมียจะใช้เวลาอุ้มท้องประมาณ 150 วันจึงจะคลอด ลูกแต่ละครอกมีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 5 ตัว ลูกคาปิบาราแรกเกิดจะมีน้ำหนักราว 1-1.5 กิโลกรัม และจะหย่านมแม่เมื่อมีอายุได้ราว 4 เดือน
คาปิบาราในธรรมชาติมีอายุขัยเฉลี่ย 8-10 ปี ศัตรูในธรรมชาติของพวกมันได้แก่สัตว์นักล่า เช่น งู แมว นกกินเนื้อ และแน่นอนที่สุดคือ มนุษย์ ที่ทั้งล่าพวกมันเพื่อเอาหนังและขน รวมถึงบางแห่งก็ล่าเป็นอาหาร รวมถึงการทำลายถิ่นที่อยู่ของพวกมัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานภาพของคาปินาราก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ระดับต่ำ เนื่องจากพวกมันขยายพันธุ์ได้เร็ว รวมถึงสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี ในอเมริกาใต้หลายแห่งยังอาจพบคาปิบาราตามพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำในเมืองใหญ่ได้ด้วย นอกจากนั้นก็มีผู้นำคาปิบารามาเลี้ยงทั้งในฐานะสัตว์เศรษฐกิจ รวมถึงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน
🤔🤔🤔
อ้างอิงจาก: https://a-z-animals.com/animals/capybara/
และ https://animals.sandiegozoo.org/animals/capybara