อ.เจษฏา แจง "พระธาตุอินทร์แขวน เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา"
โดย ทางเฟสบุ๊คเพจ ของ อ.เจษฏา ได้โพสแจงดังนี้...
มีแฟนเพจส่งคำถามว่า "อาจารย์ครับ ผมสงสัยเรื่องการตั้งอยู่ของพระธาตุอินทร์แขวน ที่พม่าครับ ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตามหลักวิทยาศาสตร์ครับ ?"
เป็นคำถามที่ดีมากเลย ที่ต้องการคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชิงความเชื่อหรือตำนาน .. ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์นั้นบอกว่า ก้อนหินก้อนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา (ซึ่งสุดท้ายถูกปรับเปลี่ยนมา จนเป็นสถานที่สักการบูชา) นั้นไม่ใช่เกิดจากการที่มีใครยกไปตั้ง แต่ว่าเป็นผลจากการกัดเซาะของหินทางธรณีวิทยา เท่านั้นเองครับ
"พระธาตุอินทร์แขวน" หรือที่คนพม่าเรียกว่า "พระธาตุไจที่โย่" เป็นสถานที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก สร้างขึ้นบนก้อนหินแกรนิต ที่ปิดด้วยทองคำเปลว
โดยผู้ที่นับถือศรัทธาเชื่อกันว่า พระธาตุไจที่โย่เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาสูงชัน บนยอดเขาไจที่โย่ อย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลก โดยไม่ตกลงมา
ตามตำนานระบุว่า ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า และนำมาไว้ในมวยผม ตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของฤๅษี ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทร และนำมาวางไว้บนภูเขา
พระธาตุไจที่โย่ นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า โดยก้อนหินสีทองที่มีการสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กไว้ด้านบนนั้น ตั้งอยู่บนแท่นหินธรรมชาติ ที่ดูเหมือนเป็นฐานของพระธาตุ ตั้งอยู่บนระนาบที่เอียงและบริเวณที่สัมผัสมีขนาดเล็กมาก เชื่อกันว่าก้อนหินและฐานหินเป็นอิสระจากกัน
อย่างไรก็ตาม ในทางธรณีวิทยา อธิบายการเกิดของพระธาตุนี้ว่า เป็นผลจากการกัดเซาะ (erosion) ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏขึ้นตามที่ต่างๆทั่วโลก เพียงแต่หาดูได้ยากสักหน่อย
สาเหตุนั้น เกิดจากการยกตัวของชั้นหินแกรนิต และเกิดการแตกร้าวขึ้นได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน
หลังจากนั้น น้ำเป็นตัวการในการกัดเซาะ โดยไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้าๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์
ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาแบบนี้ อาจจะเรียกว่า เป็น balancing rock หรือหินสมดุล (หรือ balanced rock หรือ precarious boulder) ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และทำให้เห็นก้อนหินขนาดใหญ่ ไปตั้งอยู่บนก้อนหินก้อนอื่นหรือหน้าผา
หินสมดุลนั้น มีทั้งแบบที่เกิดจากการที่หินก้อนใหญ่ ไหลมาตามการเคลื่อนที่อันทรงพลังของ "ธารน้ำแข็ง Glacial" จนทำให้มันย้ายไปอยู่ที่อื่นได้อย่างน่ามหัศจรรย์ และสังเกตได้ว่าจะเป็นหินแร่คนละประเภทกัน
ขณะที่หินสมดุลแบบที่พบที่พระธาตุอินแขวนนั้น จะเป็นผลจากการเกิดการกัดเซาะ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกัดเซาะของน้ำ ลม หรือสารเคมีต่างๆ ลงไปบนชั้นหินที่ตำแหน่งนั้น
และชื่อ "หินสมดุล" นี้ อาจจะทำให้เข้าใจผิด ว่าหินก้อนหนึ่งไปวางตัวอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่ง อย่างสมดุล ไม่ร่วงหล่นลงมา ทั้งที่จริงๆ แล้ว กินทั้งสองยังเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนาที่ฐานของหิน