เปิดตำนาน " คุกขี้ไก่ "
คุกขี้ไก่ จันทบุรี
คุกขี้ไก่ เป็นหลักฐานยืนยันเหตุการณ์ในยุคการล่าอาณานิคม ที่เสมือนเป็นภาพเล่าเรื่อง ให้ชาวไทยได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการแสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก คุกขี้ไก่ ตั้งอยู่ในอำเภอแหลมสิงห์ ใกล้กับตึกแดง และชายหาดแหลมสิงห์ อยู่เกือบสุดถึงท่าเรือแหลมสิงห์
คุกขี้ไก่ สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2436 หรือที่เรียกว่าช่วง วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112* สร้างขึ้นโดยชาวฝรั่งเศส พร้อมกับการสร้างตึกแดง แต่เดิมชาวบ้านเห็นว่าสร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายป้อม จึงเรียกกันนว่า "ป้อมฝรั่งเศส" แต่แท้จริงแล้วเป็นที่สำหรับคุมขังนักโทษที่ต่อต้านชาวฝรั่งเศส มีทั้งชาวญวน จีน และชาวไทย ส่วนบนของคุกนี้ เคยเลี้ยงไก่ เพื่อให้ไก่ขี้ลงมาข้างล่าง โดนหัวนักโทษที่อยู่ภายในนั้น ต่อมาจึงเรียกกันว่า "คุกขี้ไก่" คุกนี้เลิกใช้งานตั้งแต่ทหารฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2447
คุกขี้ไก่ มีลักษณะเป็นเหมือนป้อมสี่เหลี่ยมจัตุรัสลบเหลี่ยม ก่อด้วยอิฐมอญ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 10 เมตร ผนังอาคารด้านนอกเห็นเป็นอิฐมอญก่อโดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน หลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องทรงพีระมิด ปัจจุบันหลังคาได้ชำรุดไปหมดแล้ว จึงปล่อยไว้แบบเปิดโล่ง ตัวอาคาร(คุก) มีประตูทางเข้าออกเพียงทางเดียว ผนังรอบอาคารแต่ละด้าน เจาะช่องระบายอากาศเป็น 2 แถว มองจากด้านนอกเห็นเป็นแนวริ้วยาว ส่วนด้านในเจาะเป็นเหมือนกรอบช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก แต่ก่อปูนสอบจนเหลือเป็นเพียงแนวช่องตามแนวยาว (เหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู) เพียงพอแค่ให้แสงและอากาศผ่านเข้าไป แต่ตัวคนไม่สามารถออกมาได้ และยังทำให้ลมไม่เข้า อากาศด้านในจึงค่อนข้างร้อนอบอ้าว ในอดีตรอบๆ ป้อมจะมีน้ำล้อมอยู่ 3 ด้าน ปัจจุบันเห็นเป็นพื้นร่องโดยรอบเท่านั้น
(ข้อมูลจาก : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 4 ปราจีนบุรี)
คุกขี้ไก่ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหาดแหลมสิงห์ และตึกแดง เป็นสถานที่ไม่กว้างมากนัก ตัวคุกมีการคงสภาพไว้แบบเดิมๆ ตั้งแต่สมัย 100 กว่าปีก่อน โดยไม่ได้มีการบูรณะ ภายนอกคุก จะเห็นเป็นผนังอิฐมอญ มีการจัดแต่งพื้นที่เป็นทางเดิน และไม้ประดับ สามารถเดินชมได้โดยรอบ หากต้องการเข้าไปชมด้านใน ก็สามารถเข้าไปได้ (ทางเข้าเล็กและเตี้ยหน่อย)
วิกฤตการณ์ รัตนโกสินทร์ศก 112 ตรงกับปีพ.ศ. 2436 เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สยามถูกรุกรานจากประเทศฝั่งตะวันตก จนถึงขั้นสู้รบกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นจากฝรั่งเศสขยายการล่าอาณานิคมเข้ามาในเขตอินโดจีน และได้ดินแดนเวียดนามไป แล้วจึงเรียกร้องสิทธิในการครอบครองดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในการปกครองของสยาม สยามและฝรั่งเศสต่างตกลงกันไม่ได้ ฝรั่งเศสจึงถือสิทธิ ส่งเรือรบ เข้ามายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา และเกิดการยิงตอบโต้กัน เป็นเหตุให้เกิดกรณีพิพาท และได้ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี ขณะนั้นฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 - 2447 และบังคับให้สยามลงนามใน สนธิสัญญาสันติภาพ ที่ไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส เป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ พร้อมทั้งยอมสละดินแดนสยามบางส่วนให้กับฝรั่งเศส