รำลึกถึงเรื่องราวความเป็นมาของปัญหา Y2K
ช่วงนี้หลายคนอาจจะได้ยินว่ามีการฮิตกระแสแฟชั่นย้อนยุคไปในสมัย Y2K หรือความพยายามที่จะย้อนกลับไปหาเทรนด์การแต่งตัวในสมัยประมาณทศวรรษที่ 1990-2000 ซึ่งตรงนี้จะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ที่จะมาพูดถึงในวันนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของ Y2K ซึ่งจะว่าไปก็ผ่านมาเกิน 20 ปีแล้ว บรรดาน้อง ๆ หนู ๆ ที่อายุยังไม่เกิน 30 ปี ก็อาจจะไม่ทราบความหมายหรือเรื่องราวที่แท้จริงของ Y2K กันแล้วเพราะเกิดไม่ทัน งั้นวันนี้จะชวนคุณน้าคุณอามาย้อนรำลึกความหลังเรื่องนี้กันดีกว่า
Y2K คืออะไร ? Y2K ก็คือซิปยี่ห้อหนึ่ง เอ๊ย ไม่ใช่ นั่นมัน YKK แล้ว (ใครทันยุค YKK นี่อาจจะเรียกว่า เก่ากว่ายุค Y2K อีกนะเออ 5555555) คำตอบที่แท้จริง Y2K ก็คือ ปี 2000 (Y = year, 2K = 2000 K ย่อมาจาก Kilo ที่เป็นคำอุปสรรคใช้เติมเพื่อหมายถึงจำนวนพัน อย่าง กิโลกรัม กิโลเมตร) นั่นเอง ซึ่งเป็นปีที่มีผู้กังวลว่าจะเกิดปัญหากับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกจากการเปลี่ยนศตวรรษนั่นเอง
จุดเริ่มต้นของปัญหา Y2K คงต้องย้อนไปถึงยุคปี 1950 ที่คอมพิวเตอร์เพิ่งเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ในเวลานั้น เครื่องคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดใหญ่ แต่...บรรจุข้อมูลได้น้อยมาก ดังนั้น ในกรณีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวันเวลา เพื่อประหยัดเนื้อที่ในการเก็บข้อมูล ในส่วนของตัวเลขปีจึงได้มีการตัดเลขสองหลักแรกทิ้ง เก็บเพียงสองหลักท้าย เช่น ปี 1974 ก็จะตัด 19 ทิ้งไป เหลือเพียง 74 เท่านั้นที่เก็บไว้ เนื่องจากเห็นว่าตัวเลขสองหลักแรกไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยในระหว่างนั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าถึงศตวรรษที่ 1990 บรรดานักคอมพิวเตอร์ก็เริ่มมองเห็นปัญหาขึ้น เพราะช่วงเวลาในการเปลี่ยนศตวรรษต้องเปลี่ยนตัวเลขสองหลักแรกเข้าใกล้มาทุกทีแล้ว แต่คอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์จำนวนมากยังคงเก็บข้อมูลปีในระบบสองหลักกันอยู่ จึงเกิดคำถามว่า หากสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 1999 ขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2000 จะเกิดอะไรขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าตัวเลขเปลี่ยนจาก 99 เป็น 00 มันจะตีความว่าจะกลับไปเป็นปี 1900 หรือไม่
และที่สำคัญคือ ในเวลานั้น คอมพิวเตอร์ได้ถูกนำไปใช้งานในระบบงานต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานการเงิน ระบบควบคุมการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ระบบควบคุมคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ระบบการจัดการเที่ยวบินของสนามบิน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า หากคอมพิวเตอร์ทำงานเพี้ยนไปคิดว่าเวลาย้อนไปเป็น 1900 ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างที่คาดไม่ถึงขึ้นมาก็ได้ เช่น ไฟฟ้าดับทั้งเมือง คนถอนเงินจากธนาคารไม่ได้ เที่ยวบินต้องยกเลิกกันหมด จนถึงกับมีคนบางส่วนที่คิดไปไกลถึงขั้นว่าอาจจะทำให้ “โลกแตก” หรือ “สงครามล้างโลก” กันเลยก็มี ถ้าระบบควบคุมการยิงขีปนาวุธของชาติมหาอำนาจเกิดอาการเรรวนจนมีขีปนาวุธถูกยิงออกไปเองโดยไม่ได้มีการสั่งการ
แต่สุดท้ายแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็แก้ไขได้ด้วย “เงิน” และ “เทคโนโลยี” เนื่องจากคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นสามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่ายุคก่อนได้หลายร้อยเท่า เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาก็ทำเพียงแค่การเปลี่ยนคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ และซอฟท์แวร์ควบคุมการทำงานรุ่นใหม่ที่รองรับการระบุตัวเลขปี ค.ศ. เป็น 4 หลักก็แค่นั้น และเรื่องทั้งหมดก็จบลงแบบเรียบร้อยโดยไม่ได้เกิดเหตุโกลาหลวุ่นวายใด ๆ อย่างที่ตื่นกลัวกันไปแต่อย่างใด
จากนี้ก็คงต้องรอไปอีกจนถึงปี 9999 ละครับว่า มนุษย์ยุคนั้นถึงจะต้องจัดการกับปัญหา Y10K อีกครั้งก่อนเข้าสู่ปี ค.ศ. 10000 ที่เลขปี ค.ศ. เพิ่มจาก 4 เป็น 5 หลัก
ปล. ส่วนแฟชั่่นยุค Y2K อย่างเดียวที่ผู้เขียนจำได้ก็คือเสื้อเกาะอก “สายเดี่ยว เสียวหลุด” แบบ โบ-จอยซ์ TK นั่นแหละครับ 5555555