ตำนานความรัก ‘กำไลมาศ’ เรื่องจริงในสมัยรัชกาลที่ 5
ตอนนี้ละครเรื่อง “กำไลมาศ” กำลังเข้มข้นสนุกเลยทีเดียว ซึ่งละครเรื่องนี้สร้างมาจากนิยายของพงศกร นักเขียนนิยายชื่อดัง และเพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า? “กำไลมาศ” คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ สมัยรัชกาลที่ 5 กำไลชิ้นนี้เป็นของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดและรักมาก และเป็นเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรีที่ยังดำรงชีพและถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลปัจจุบัน ไปติดตามตำนานความรักอันแสนเศร้านี้พร้อมๆ กันเลยดีกว่าค่ะ ตำนานความรัก ‘กำไลมาศ’
เรื่องราวความรักที่เกิดขึ้นจริงของ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านขึ้นเป็นเจ้าจอมพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดและรักมาก นั่นทำให้ท่านเป็นที่ริษยาของเจ้าจอมคนอื่นๆ
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม นครานนท์)
เมื่ออายุได้ 11 ปี ได้เข้าถวายตัวเป็นข้าหลวง
เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับในฐานะพระญาติ และยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้งหัดงานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ นอกจากความอัจฉริยภาพและความงามแล้ว เสียงอันไพเราะของท่าน ยังเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นอีกด้วย
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ได้รับพระราชทาน “กำไลมาศ”
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 หม่อมราชวงศ์สดับได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันนี้ท่านได้รับพระราชทาน “กำไลมาศ” จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กำไลมาศ เป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพาน หนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน ถ้ามองตรงๆ เป็นอักษร S (มาจากชื่อย่อของเจ้าจอมสดับ) หากพลิกข้อมือเพียงเล็กน้อยมองอีกด้านหนึ่งจะกลับเป็นอักษร C (จุฬาลงกรณ์) สิ่งที่ทำให้กำไลทองวงนี้มีชื่อมากที่สุดในบรรดาเครื่องประดับสูงค่าของรัตนโกสินทร์ไม่ใช่ราคา หรือการออกแบบ แต่เป็นตัวอักษรซึ่งเป็นบทกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสลักไว้บริเวณด้านบนของกำไลว่า
กำไลมาศชาตินพคุณแท้ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสีเหมือนใจตรงคงคำร่ำพาทีจะร้ายดีขอให้เห็นเช่นเสี่ยงทายตาปูทองสองดอกตอกสลักตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หายแม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกายเมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย
คราวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นี้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้บันทึกไว้ว่า “ในวันเฉลิมพระที่นั่งนี้ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติเยอรมันนำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย”
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้แต่งเครื่องเพชรชุดหนึ่งที่พระราชทาน แล้วให้ช่างถ่ายรูปไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐
วันที่สุขที่สุด!
วันที่ท่านได้รับพระราชทาน “กำไลมาศ” ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด และทั้งตลอดชีวิตของท่าน เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมิได้ถอดออกจากข้อมือเลย จวบจนชีวิตท่านหาไม่แล้ว หม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร ผู้เป็นหลานสาวจึงเป็นผู้ที่ถอดออกให้ และได้ถวาย “กำไลมาศ” แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นเอง ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เก็บไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ สถานที่ที่เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับได้เคยถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ได้รับพระราชทานเครื่องยศ ประกอบด้วย หีบหมากทองคำลงยาราชาวดี พานทอง เป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งเป็นเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นพระสนมเอก ท่านจึงเป็น พระสนมเอก ท่านสุดท้ายในรัชกาล
พระราชทานเกียรติให้นั่งพระเก้าอี้ทองตราแผ่นดิน ซึ่งเป็นพระเก้าอี้สำหรับพระมเหสีเทวีและพระบรมราชวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า ประทับเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการพระราชพิธี (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐)
วันที่ทุกข์ที่สุด!
วันที่หม่อมราชวงศ์ได้เล่าว่าเป็นวันที่ทุกข์ที่สุดก็คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2450 เนื่องจากก่อนรัชกาลที่ 5 จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จไปยุโรปด้วย ในฐานะข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตตินารี ถึงกับสอนภาษาอังกฤษพระราชทานเองก่อนเสวยพระกระยาหารทุกคืน แต่มีเหตุขัดข้อง จึงมิอาจเป็นไปตามพระราชดำรินั้นได้
แม้กระนั้น พระองค์ก็มิได้ทรงเพิกเฉย เมื่อเสด็จออกนอกอ่าวไทยจนไปถึงในหลายๆ ประเทศ ทรงมีพระราชนิพนธ์กลอนด้วยลายพระหัตถ์รำพึงถึงความในพระราชหฤทัยมาถึงเจ้าจอมสดับทุกสัปดาห์
เมื่อได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้ว ท่านก็แสดงอาการดีใจออกมาทุกครั้ง แต่อาการนั้นทำให้เกิดความรู้สึกริษยาจากคนรอบข้างโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ทำให้พระวิมาดาเธอฯ ในฐานะผู้ปกครองจึงทรงต้องเข้มงวดกวดขันกิริยาอาการ ตลอดไปถึงข้อความในจดหมาย ด้วยเกรงว่าจะเขียนกราบทูลในเรื่องไม่สมควรไป
เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ทรงถ่ายเมื่ออายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์
ความรัก บ่อเกิดแห่งความริษยา
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนคร ก็ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างชาติมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทาน และโปรดพระราชทานตู้ที่ระลึก ยังทรงจัดของตั้งแต่งในตู้นั้นอีกด้วย อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาท่านขึ้นเป็นพระสนมเอก
อันเป็นตำแหน่งที่แม้เจ้าจอมมารดาบางท่านรับราชการมาช้านานยังไม่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวรุ่น และเพิ่งเข้ามารับราชการไม่นานนักกลับได้รับพระเมตตาไว้ในตำแหน่งที่สูงถึงเพียงนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความริษยาจากคนรอบข้าง ด้วยวัยเพียง 17 ปี ท่านจึงได้เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นว่า
“เหลียวไปพบแต่ศัตรู คุณจอมนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีหรือข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน”
ด้วยความอายุยังน้อย ขาดความยั้งคิด ท่านจึงตัดสินใจทำลายชีวิตตนเองด้วยการดื่ม น้ำยาล้างรูป! แต่ว่าแพทย์ประจำพระองค์ช่วยชีวิตไว้ทัน
ครั้นเมื่อท่านมีอายุได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ท่านมีความทุกข์ และเศร้าโศกอย่างยิ่ง และนี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณคือ การเป็นต้นเสียงนางร้องไห้ หน้าพระบรมศพ ท่านได้กล่าวไว้ว่า
“ใจคิดจะเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะหรือเลือดเนื้อ หรือชีวิตถ้าเสด็จกลับคืนมาได้
ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใจที่คิดแน่วแน่ว่าตายแทนได้ไม่ใช่แค่พูดเพราะๆ
คุณจอมเชื้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า บอกว่าท่านได้ประทานไว้ซับพระบาท
ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าที่ซับพระบาทนั้นแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไปอีก …”
เมื่อสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับก็เลิกไว้ผมยาว เปลี่ยนไว้ผมสั้นตามแบบที่พระราชวงศ์และท้าวนางในพระบรมหาราชวังไว้กัน
‘ความรักยิ่งใหญ่กว่าสิ่งอื่นใด’
ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีอายุเพียง 20 ปี ทำให้ท่านเป็นที่จับตามองจากคนรอบข้างว่าจะสามารถครองตัวครองใจเป็นหม้ายได้ต่อไปตลอดหรือไม่
แต่นับตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ท่านยังจงรักภักดีครองตัวรักษาพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงสถานะพระสนมเอกอย่างงดงาม เจ้าจอมท่านยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณลูบคลำกำไลทองแห่งความรักที่สวมใส่ไม่เคยถอดวาง ตามคำกลอน พระราชนิพนธ์ที่พระราชทานกำชับไว้ตราบจนวันสุดท้ายแห่งชีวิต
หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านได้ถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมาแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนหมดสิ้น เหลือเพียงกำไลมาศซึ่งเจ้าจอมสดับได้สวมติดข้อมือตั้งแต่วันแรกที่ทรงสวม สมเด็จฯ ก็ได้ทรงรับไว้แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำไปขายที่ยุโรป แล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งสิ้น นอกจากนั้นท่านยังหันไปยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกด้วย
จนเมื่อท่านเจ้าจอมนั้นมีวัยชราแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเวลานี้นี่เอง ที่ท่านได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์อีกครั้ง โดยการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง เช่น
วิธีถักตาชุนหรือ ถักสไบ ที่เรียกกันว่า กรองทอง
วิธีทำน้ำอบ น้ำปรุง
ยาดมส้มโอมือ ฯลฯ
ตลอดจนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆในพระราชสำนักเมื่อครั้งกระนั้น ให้ชนรุ่นหลังได้ฟังและจดบันทึกไว้ นับเป็นประโยชน์มาก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2526 สิริรวมอายุได้ 93 ปี
ขอบคุณข้อมูล th.wikipedia.org, www.bloggang.com ขอบคุณรูปภาพประกอบ topicstock.pantip.com
กำไลมาศประวัติศาสตร์ไทยละครกำไลมาศเรื่องจริง
pornphanh mthai