ชวนมารู้จัก “บวบ” ที่กินได้จริง
ใครที่เล่นโซเชียลเป็นประจำก็คงทราบดีว่า ช่วงนี้ “บวบ” กำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าบรรดาร้านขายข้าวแกงบอกว่า ช่วงนี้เมนู “ผัดบวบ” กลายเป็นอาหารยอดนิยมไปแล้ว 5555555 อย่ากระนั้นเลย วันนี้เลยจะชวนมาคุยเรื่องของ “บวบ” จริง ๆ ที่กินได้กันดีกว่า
บวบ เป็นชื่อของพืชหลายชนิดที่อยู่ในตระกูลแตง ในสกุลบวบ (Luffa) เป็นไม้เถา ลำต้นเป็นเหลี่ยมสัน อาจจะยาวได้ถึง 6-8 เมตร ตามข้อมีมือสำหรับใช้การเกาะหลัก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสำลับกัน ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ มีสีเหลือง ออกตามง่ามใบ ผลเป็นกระบอกกลมยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นไม้โตเร็ว จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลได้เมื่อปลูกได้ราว 40-70 ;วัน และมีอายุได้ประมาณ 1 ปี
บวบที่นิยมปลูกกันในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่พบมากคือ
บวบเหลี่ยม (Luffa acutangular Roxb.) ผลจะมีสันเหลี่ยมตามยาว มักจะนำผลอ่อนมาใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกงเลียง แกงส้ม ผัดกับไข่ หรือต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก มีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน ทำให้ชุมคอ
บวบงู (Trichosanthes anguina (Linn.)) ผลตอนปลายจะเรียวยาวและคดเล็กน้อยคล้ายลำตัวงู นิยมนำมาใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือทำแกง ผัดผัก มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย แก้กระหายน้ำ
บวบหอม ( Luffa cylindrica (L) M.Roem.) ผลอ่อนสีลายสีเขียวเข้ม ผลแก่มีสีเขียวออกเหลือง นิยมนำผลอ่อนมารับประทานสด ทำแกงเลียง ผัดกับไข่ หรือจิ้มน้ำพริก
นอกจากการนำผลมารับประทานแล้ว อีกประโยชน์หนึ่งของบวบที่หลายคนโดยเฉพาะคุณผู้หญิงคงคุ้นเคยกันดีก็คือ ใยบวบ ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นเส้นใยสำหรับขัดผิว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผิวสะอาดช่วยกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายออกแล้ว การขัดตัวด้วยเส้นใยธรรมชาติจะช่วยให้การกระตุ้นไหลเวียนของโลหิต ทำให้รู้สึกสดชื่นยิ่งขึ้น
ว่าแต่ สุดท้ายแล้วใครรู้บ้างว่า “บวบ” ในข่าวที่ว่า เป็น “บวบ” พันธุ์ไหนครับ 55555555