‘ลึงค์’ ไม่ใช่เรื่องทะลึ่ง แต่คือความยิ่งใหญ่ระดับโลก!!
เมื่อ ‘ลึงค์’ ไม่ใช่เรื่องทะลึ่ง
แต่คือความยิ่งใหญ่ระดับโลก
หากกล่าวถึงวัตถุบูชาเทียมอวัยวะเพศชาย
หรือที่รู้จักกันว่า ‘ลึงค์’ นั้น อาจต้องนั่งไทม์แมทชีนย้อนกลับไปนับพันปี นั่นก็เพราะมนุษย์ในอดีตให้ความสำคัญและ 'คุณค่า' ของเพศชายมากเสียจนถูกกำหนดให้เป็นเรื่องใหญ่ในการดำรงชีวิต พวกเขามีความเชื่อว่า ‘เจ้าโลก’ คือตัวกำหนดชะตากรรมเผ่าพันธุ์ก็ว่าได้ มิหนำซ้ำยังถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องปรัมปราจำพวกเทพนิยาย เล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น
การนับถืออวัยวะเพศชายเกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของโลก อย่างในดินแดนอียิปต์มีเทพเจ้านาม ‘มิน’ (Min) ลักษณะคือมีอวัยวะเพศชายขณะกำลังแข็งเต็มที่
ชูชันจนดูโดดเด่น โดยชาวไอยคุปต์เชื่อว่าท่าน
เป็นเทพนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ มีพลังเพศชาย
ใช้สื่อทางกามารมณ์
ส่วนคตินิยมความเชื่อในฝั่งตะวันออก ค่อนข้างให้ความสมดุลกันระหว่างสองเพศ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดในอินเดีย หนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของลัทธิ และศาสนา
ทั้งนี้มีข้อมูลน่าสนใจ ที่ขออนุญาตคัดลอกจาก
‘คุยเฟื่องเรื่องลึงค์’ โดยเจ้าของนามปากกา siriphong เรียบเรียงจากบทความ
คุณ นงคราญ สุขสม กรมศิลปากร และลงไว้ในเว็บไซต์ monnut.com ว่า “คติการบูชาอวัยวะเพศชายนี้มีพัฒนาการอย่างมากในประเทศอินเดีย
ชาวอินเดียใช้ลึงค์เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ หมายความว่ารูปเคารพของพระศิวะมักปรากฏในรูปลึงค์มากกว่ารูปเทพในร่างมนุษย์ การบูชาลึงค์นิยมบูชาร่วมกับโยนิ คือ อวัยวะเพศหญิงแทน ‘ศักติ’
(ชื่อนิกายใหญ่นิกายหนึ่งใน 3 นิกายของศาสนาฮินดู คือนิกายไวษณพ, ไศวะ และศักติ )
หรือเทพี ซึ่งเป็นพลังอำนาจฝ่ายหญิง เรียกว่า
‘อิตถี’ พละ (คือพระนางปารวตีหรือพระอุมา)”
สำหรับคนไทยการบูชาลึงค์ หรือที่เรียกกันจนชินปากว่า ‘ปลัดขิก’ มีความเชื่อด้านพุทธคุณ ป้องกันภยันตรายให้แคล้วคลาด รวมถึงอำนวยผลด้านการค้า เราจึงมักเห็นหลายๆ ร้านตั้งแท่นบูชาเสียสะดุดตา นอกจากนี้ ปลัดขิกยังถูกมองเป็นเรื่องงานศิลปะในหมู่นักสะสม เนื่องจากมีการสร้างจากวัตถุดิบหลากประเภท อาทิ ไม้ หิน โลหะ และเขาสัตว์
โดยฝีมือผู้สร้างต่างรูปแบบกันไป
เมื่อไม่นานมานี้มีประเพณีของชาวญี่ปุ่นเป็นข่าวไปทั่วโลก กับเทศกาลแห่ลึงค์ประจำปี โดยจะจัดกันทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน ที่อารามคะนะยะมะ (Kanayama) เมืองคะวะซะกิ จังหวัดคะนะงะวะ ซึ่งความน่าสนใจในกิจกรรมนี้อยู่ตรงชาวบ้าน และผู้ร่วมงานจะแต่งองค์ทรงเครื่องตามแบบโบราณ พร้อมใจกันแบกสิ่งเทียมอวัยวะเพศชายขนาดใหญ่สีชมพูแห่ไปตามท้องถนน นำมาสู่ความสนุกสนานให้กับทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
ต้นสายปลายทางของประเพณี ‘คานามาระ มัตสุริ’ เป็นความเชื่อตามศาสนาชินโตย้อนไปราว 400 ปี โดยวัดคะนะยะมะ เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของเหล่าโสเภณีที่มาขอพรให้แคล้วคลาดจากโรคทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากวัดแห่งนี้เป็นที่สถิตของเทพพิทักษ์ความรุ่งเรืองทางธุรกิจการค้า และการสืบพันธุ์สร้างครอบครัว
อีกทั้งมีตำนานกล่าวว่าเคยมีปิศาจชื่อ ‘โยนิทันตะ’ หรือ ฟันของโยนี (vagina dentata) มักแฝงตัวอยู่ในช่องคลอดของหญิงสาววัยรุ่น เมื่อพวกเธอออกเรือน เจ้าปิศาจตนนี้จะกัดกินวัยวะเพศของสามีขณะกำลังมีเพศสัมพันธ์จนขาดสะบั้น พวกเธอจึงแก้เคล็ดด้วยการสร้างลึงค์ปลอมขึ้นมาแทน และเมื่อถูกกัดเจ้าปิศาจก็ฟันหัก สิ้นฤทธิ์ในทันที
(ข้อมูลจาก Wikipedia เทศกาลแหล่งลิงค์)
ในปัจจุบัน ‘คานามาระ มัตสุริ’ ได้รับความสนใจไปทั่วโลก นำเงินตราเข้าท้องถิ่นมหาศาล เนื่องจากเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว จากเคยเป็นเพียงความเชื่อในกลุ่มชาวบ้าน ขยายสู่มหกรรมความสุข มีกิจกรรมมากมายรายทาง นอกจากนี้บรรดาร้านรวงจะครีเอทผลิตภัณฑ์ที่เดี่ยวข้องกับธีมของงานมาเรียกเงินจากกระเป๋า อย่างที่เห็นได้ชัดคือไอศกรีมถอดแบบจากอวัยวะเพศชายที่สาวๆ ซื้อหามารับประทานกันแบบไม่ต้องอายใคร
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/groups/1386527928059829/permalink/3546915535354380/