ผ่าตัดสะโพก ทางเลือกเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตปกติ
สะโพกเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักตัวของเรารองลงมาจากเข่า ทำให้เมื่ออายุมากขึ้นหรือเมื่อสะโพกถูกใช้งานหนัก ก็อาจนำไปสู่อาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โรคเกี่ยวกับข้อสะโพกมีหลายสาเหตุ ทั้งการที่ข้อสะโพกเสื่อมตามวัย เสื่อมตั้งแต่กำเนิด ข้อสะโพกอักเสบ รวมไปถึงข้อสะโพกหักจากอุบัติเหตุ ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดสะโพก
ผ่าตัดสะโพก
การผ่าตัดสะโพก เป็นการเปลี่ยนข้อสะโพกโดยใช้สะโพกเทียมซึ่งทำจากโครเมียม หรือวัสดุอื่นๆที่มีความปลอดภัย ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในทางการแพทย์เพื่อทดแทนข้อสะโพกธรรมชาติ สาเหตุของอาการเจ็บปวดที่นำไปสู่การผ่าตัดสะโพกมีหลายสาเหตุ รวมไปถึงการผ่าตัดเองก็มีหลายแบบ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มได้ที่ ผ่าตัดสะโพก คลิกได้เลย
เช็กอาการข้อสะโพกเสื่อม
ผู้ที่มีอาการเจ็บหรือปวดสะโพกมาก จนรบกวนชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือผ่าตัด โดยแพทย์จะวินิจฉัยความรุนแรงของโรคและพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเจ็บป่วย สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ทำการตัดสินใจร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวว่าผู้ป่วยควรรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
- มีอาการปวดสะโพกจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การลุกเดิน นั่ง
- การเคลื่อนไหวสะโพกมีอาการติด หรือขัด
- มีอาการปวดทั้งกลางวันและกลางคืน
- จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดทุกวัน
- รับการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้ยา กายภาพบำบัด แล้วอาการไม่ดีขึ้น
การวินิจฉัยอาการข้อสะโพกเสื่อม
เมื่อพบแพทย์ แพทย์จะดำเนินการตรวจเพื่อวินิจฉัยดังนี้
- ผู้ป่วยรับการซักประวัติ อาการป่วย ตำแหน่ง ระยะเวลาที่เกิดอาการปวด รวมถึงข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัย ยิ่งผู้ป่วยให้ข้อมูลมาก ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยต่อไป
- ทำ CT scan หรือ MRI เพื่อตรวจดูสภาพของข้อและประเมินอาการป่วย
- แพทย์แนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม หากผู้ป่วยยังอยู่ในขั้นที่สามารถรักษาด้วยยาและการทำกายภาพบำบัดได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดสะโพก แต่หากอยู่ในขั้นรุนแรงก็อาจจะรักษาด้วยการผ่าตัด
ทำไมต้องผ่าตัดสะโพก
ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดสะโพก ย่อมหมายความว่าไม่สามารถรักษาด้วยการใช้ยาหรือกายภาพบำบัดได้ หรือได้ก็ได้ผลน้อย ไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยจากอาการป่วยได้ การผ่าตัดสะโพกจึงมีประโยชน์ดังนี้
- เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
- ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติ
- ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนกับความเจ็บปวด
วิธีผ่าตัดสะโพก มีกี่แบบ
วิธีการผ่าตัดสะโพกมีทั้งหมด 2 แบบ ซึ่งการที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัดแบบไหนนั้น แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย มีสองแบบคือ การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมทั้งหมด และ การผ่าตัดสะโพกเทียมข้างเดียว โดยจะแตกต่างกันที่ส่วนของสะโพกที่จะถูกแทนที่ด้วยสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมทั้งหมด (Total Hip Replacement)
วิธีนี้จะเป็นการนำส่วนของกระดูกที่เสียหายออกไปทั้งหมด แล้วใช้ข้อสะโพกเทียมซึ่งมีก้านต่อ และเสียบลงในโพรงกระดูก
การเปลี่ยนสะโพกเทียมเพียงข้างเดียว (Hip Hemiarthroplasty)
วิธีนี้จะยังคงเย้าสะโพกเดิมของผู้ป่วยเอาไว้ แต่เปลี่ยนในส่วนของหัวกระดูกสะโพก หรือข้อสะโพกด้านในด้านหนึ่ง
ส่วนประกอบของข้อสะโพกเทียม
ข้อสะโพกเทียมนั้น ประกอบไปด้วยส่วนประกอบทั้งหมด 4 ส่วน
- เบ้าสะโพกเทียม ทำมาจากโลหะ
- ผิวเบ้าสะโพก เป็นส่วนที่สัมผัสกับหัวสะโพกเทียม ทำจากวัสดุชนิดพิเศษ
- หัวสะโพกเทียม ทำจากโลหะ มีรูปร่างกลม
- ก้านสะโพกเทียม ทำจากโลหะ
อายุการใช้งานของข้อสะโพกเทียมอยู่ที่ 20-25 ปี อย่างไรก็ตาม อายุการใช้งานขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนด้วย
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดสะโพก
ก่อนผ่าตัดสะโพก นอกจากการพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและพิจารณาความเหมาะสมในการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยยังต้องเตรียมร่างกายและสภาพแวดล้อมให้พร้อมต่อการผ่าตัดอีกด้วย
ผู้ป่วยควรดูแลรักษาร่างกาย รักษาความสะอาดของร่างกายเพื่อป้องกันโอกาสในการติดเชื้อ หรือหากมีโรคอื่นๆ เช่น ฟันผุ ก็ควรรับการรักษาให้เรียบร้อย ควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ก็ควรทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตัวตามแนวทางการรักษาของโรคนั้นๆเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อการผ่าตัด
งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้ปอดทำงานแย่ลง เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต และอาจจะทำให้แผลผ่าตัดหายช้า
เตรียมที่พักอาศัยให้เหมาะสม เช่น จัดวางข้าวของเครื่องใช้ในบริเวณที่หยิบใช้ได้สะดวก ไม่ต้องลุกเดินไปมาบ่อยๆ อาจย้ายห้องนอนลงมาอยู่ชั้นหนึ่ง หรือทำราวจับในบริเวณต่างๆ
ขั้นตอนการผ่าตัดสะโพก
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ระงับความรู้สึกของคนไข้ โดยการดมยาสลบ หรือฉีดยาเข้าไขสันหลัง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
- แพทย์ทำการตัดส่วนหัวของกระดูกสะโพกออก
- เจียผิวเบ้าสะโพก ให้รองรับข้อสะโพกเทียม แล้วติดตั้งข้อสะโพกเทียมเข้าไป
- ผู้ป่วยพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน เพื่อทำกายภาพบำบัด จากนั้นแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยต้องอยู่ที่โรงพยาบาลต่อ หรือกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้
ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดสะโพก
หลังจากการผ่าตัดสะโพก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ข้อสะโพกเทียมเคลื่อนหลุด ข้อสะโพกเทียมชำรุด ข้อสะโพกเทียมหลวม ความยาวช่วงขาไม่เท่ากัน รวมไปถึงการติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือด หรืออาการบาดเจ็บของเส้นประสาท แต่ก็มีโอกาสเกิดได้น้อย
อาการผิดปกติที่ควรรีบพบแพทย์
หากหลังจากการผ่าตัด มีอาการบวมแดงบริเวณแผล มีของเหลวไหลออกมา หรือมีอาการปวด ก็ควรพบแพทย์ทันที หรือหากใช้งานข้อสะโพกเทียมไปสักพักแล้ว พบว่าเกิดความผิดปกติ ก็ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์
การดูแลหลังผ่าตัดสะโพก
หลังการผ่าตัดสะโพก ผู้ป่วยควรระมัดระวังตัวเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด และเพื่อให้การฟื้นฟูร่างกายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตประจำวันอย่างระมัดระวัง การลงจากเตียง ควรขยับตัวไปด้านข้างแล้วใช้ข้อศอกดันลำตัวในขณะเคลื่อนสะโพก เลี่ยงการบิดหรือหมุนขา ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินในการลุกยืน เมื่อเดิน ก็ควรลงน้ำหนักตัวให้สมดุลกับวอร์คเกอร์ ในการนั่ง ควรนั่งท่าที่มั่นคง หลังแนบกับพนักพิง และเก้าอี้จะต้องสูงพอดี เพื่อไม่ให้เข่างอเกิน 90 องศา
ผ่าตัดสะโพก พักฟื้นกี่วัน
การพักฟื้นหลังผ่าตัดสะโพก โดยทั่วไปจะพักพื้นที่โรงพยาบาล 5-7 วัน ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกอาจยังต้องใช้วอร์คเกอร์ในการเดิน และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ในช่วง 6-8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและการดูแลรักษาในช่วงพักฟื้นด้วย
วิธีกายบริหารหลังผ่าตัดสะโพก
กายบริหารสะโพก 4 ท่า ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน
- ท่าที่ 1 นอนหงายราบไปกับพื้น ขาและเข่าเหยียดตรง แล้วกางขาหุบขาสลับกัน 20-40 ครั้ง
- ท่าที่ 2 นอนหงายราบไปกับพื้น ขาและเข่าเหยียดตรง ยกขาขึ้น 20-40 ครั้ง
- ท่าที่ 3 นอนหงาย งอข้อเข่า และข้อสะโพกช้าๆ 20-40 ครั้ง
- ท่าที่ 4 นอนหงาย ขาและเข่าเหยียดตรง กระดกข้อเท้าขึ้นลง 20-40 ครั้ง
ผ่าตัดสะโพก ราคาเท่าไหร่
การผ่าตัดสะโพก ราคาประมาณ 250,000 - 506,000 บาท โดยอาจจะขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล และรูปแบบของการผ่าตัด สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมและบัตรทองได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในบางกรณี ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดต่อสอบถามโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้
ข้อสรุป
การผ่าตัดสะโพก เป็นการรักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยบริเวณข้อสะโพก ไม่ว่าจะเป็นข้อเสื่อม ข้ออักเสบ หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและประเมินอาการเพื่อเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข หรือใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด