นุ่มสบายกับ “น้ำยาปรับผ้านุ่ม”
เชื่อว่าในยุคนี้หลายคนเวลาซักผ้าแล้วก็มักจะต้องใส่ “น้ำยาปรับผ้านุ่ม” (Fabric Softener หรือ Fabric Conditioner) ลงไปด้วยเพื่อปรับสภาพของผ้าหลังจากการซักด้วยผงซักฟอกแล้ว เพื่อให้ผ้าเมื่อนำไปตากแล้วยังคงมีความนุ่มฟู ไม่แข็งกระด้าง นอกจากนั้นแล้ว น้ำยาปรับผ้านุ่มก็ยังช่วยในเรื่องอื่น เช่น ช่วยลดรอยยับ หรือทำให้ผ้าหอมไม่มีกลิ่นอับ ได้อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของน้ำยาปรับนุ่มนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้ว แต่ในตอนแรกนั้นจะยังใช้เฉพาะในอุตสาหกรรมผ้า เนื่องจากพบว่าเมื่อผ้าผ่านการย้อมสีแล้วจะมีผิวกระด้างแข็งขึ้น โดยสูตรของน้ำยาปรับนุ่มที่ใช้กันทั่วไปในยุคนั้นประกอบด้วย สบู่ 3 ส่วน น้ำ 7 ส่วน และน้ำมัน เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด หรือไขมันจากสัตว์ 1 ส่วน อย่างไรก็ตาม สารผสมเหล่านี้ก็ไม่ได้ว่าใช้ได้กับผ้าทุกชนิด บางชนิดก็สามารถใช้ได้ดีกับผ้าฝ้าย แต่ใช้ไม่ได้กับผ้าใยสังเคราะห์อย่างไนลอนหรือโพลิเอสเทอร์ ต่อมาจึงมีการพัฒนาสารเคมีสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสารปรับความนุ่มทดแทนสารผสมดังกล่าว
น้ำยาปรับผ้านุ่มเริ่มมีการนำออกมาจำหน่ายในตลาดเมื่อต้นทศวรรษที่ 1960 อย่างไรก็ตาม น้ำยาปรับผ้านุ่มในยุคแรกยังมีข้อเสียคือ เข้ากับผงซักฟอกไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถเติมลงในเครื่องซักผ้าได้จนกว่าจะล้างเอาผงซักฟอกจากเสื้อผ้าจนหมดแล้ว หรือพูดง่าย ๆ คือจะต้องซักผ้านั้นสองครั้ง ครั้งแรกซักกับผงซักฟอก แล้วจึงค่อยเอามาซักกับน้ำผสมน้ำยาล้างผ้านุ่มอีกรอบ ต่อมาในทศวรรษที่ 1970 มีการประดิษฐ์ “แผ่นอบผ้า” เพื่อช่วยให้สามารถใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มในขั้นตอนของการอบผ้าแทน ทำให้ลดปัญหาการต้องซักผ้าสองครั้งไปได้ จนกระทั่งเมื่อประมาณทศวรรษที่ 1980 จึงเริ่มมีน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้เติมในระหว่างการซักผ้าน้ำสุดท้ายได้ เพื่อให้สามารถใช้เครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ที่สามารถซักและปั่นแห้งในตัวโดยไม่จำเป็นต้องเข้าเครื่องอบผ้าอีกครั้ง ทำให้การใช้งานสะดวกขึ้นกว่าเดิม
น้ำยาปรับผ้านุ่มช่วยทำให้ผ้านุ่มฟูได้ด้วยกลไกทางไฟฟ้าเคมี ในระหว่างการซักผ้าโดยเฉพาะในช่วงการปั่นแห้งนั้น เนื้อผ้าจะถูกกดอัดให้ติดกันแน่นและเสียดสีกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประจุขึ้น ส่งผลทำให้ผ้าเกาะติดกัน น้ำยาปรับผ้านุ่มที่นิยมใช้ทั่วไปจะเป็นแบบประจุบวก ซึ่งจะประกอบด้วยโครงสร้างไฮโดรคาร์บอนสายยาวที่ปลายข้างหนึ่ง และอีกปลายจะเป็นหมู่ฟังก์ชันที่สามารถแตกตัวให้เกิดประจุบวก เช่น Diethyl ester dimethyl ammonium chloride (DEEDMAC) triethanolamine quat (TEAQ) เมื่อโมเลกุลแตกตัว ปลายที่เป็นขั้วบวกจะเกาะยึดอยู่กับผิวของเนื้อผ้า น้ำยาชนิดนี้จะเหมาะกับเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย
อย่างไรก็ตาม น้ำยาปรับผ้านุ่มบางชนิดก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้สำหรับผู้สวมใส่ได้ ดังนั้นจึงควรจะใช้งานในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีน้ำยาปรับผ้านุ่มตกค้างอยู่บนเนื้อผ้าหลังจากซักและตากแห้งมากเกินไป