อาจารย์เจษฎา โพสแจง.."อยากคัดกรองมะเร็ง ให้ไปพบแพทย์ตรวจครับ ไม่ใช่เกาแขน"
"อยากคัดกรองมะเร็ง ให้ไปพบแพทย์ตรวจครับ ไม่ใช่เกาแขน"
เฮ้ออ เอาอีกแล้ว มีคอนเท้นต์ประหลาดๆ มั่วๆ ในติ๊กต๊อกเยอะจริงๆ ครับ .. ล่าสุด คนส่งมาฟ้องว่า มีคนอ้างตนเป็นอาจารย์ สอนการตรวจตนเองว่าเป็นมะเร็งหรือเปล่า แบบง่าย ๆ ด้วยการ "เอาน้ำมันพืชมาทาแขน แล้วเอาเล็บขูดๆๆ เกาๆ ถ้ายังแค่ผื่นแดงๆ เหมือนเกาปรกติ แสดงว่าไม่เป็นมะเร็ง แต่ถ้าเป็นสีน้ำตาลเข็ม ก็แสดงว่ามีเซลล์มะเร็งในตัว" !?
ไม่จริงนะครับ ! ไม่รู้ไปเอามาจากไหน (สงสัยเค้าไปเอาไอเดียจากพวก "กัวซา" ทางแพทย์แผนจีน มาผสมกับเรื่องมะเร็งเอง) ... ถ้าตรวจตัวเองได้ง่ายๆ แบบนี้ พวกคุณหมอที่รักษาโรคมะเร็งคงสบายแล้วล่ะ เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งนั้น มันมีวิธีการจำเพาะ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งที่อวัยวะไหน ชนิดไหน ระยะไหนแล้ว ... ไม่ใช่แค่มาเกาแขนแบบนี้
ข้อเสียของการเผยแพร่ความเชื่อผิดๆ ทางสุขภาพแบบนี้ (ซึ่งมีแฟนคลับเชื่อเยอะทีเดียว) คือทำให้ตัวเองเข้าใจผิด เกาแขวนแล้วแค่แดง คิดว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง (ทั้งที่อาจจะเป็นมะเร็งอยู่) แล้วเลยไม่ได้ไปทำการรักษาให้ทันท่วงที
ขอยกเอาแนวทางในการตรวจคัดกรองผู้ที่เป็นมะเร็ง จากของโรงพยาบาลจุฬาฯ มาให้ดูกันครับ ว่ามีรายละเอียดเฉพาะ เยอะมาก
------------------
#การตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิง
โรคที่มักพบได้บ่อยในผู้หญิงก็คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงเน้นไปที่อวัยวะเหล่านี้เป็นหลัก
#เต้านม
โดยทั่วๆไป ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ควรจะต้องเริ่มมีการตรวจเต้านมตัวเองอยู่สม่ำเสมอ แนะนำให้ตรวจหลังการหมดช่วงมีประจำเดือน และให้พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก1-3ปี
อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แนะนำเริ่มมีการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี และยังต้องมีการตรวจด้วยตัวเองต่อไปอย่างสม่ำเสมอเช่นเดิม
แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เช่น เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน เคยตรวจเจอเนื้อเต้านมชนิด LCIS เคยฉายแสงก่อนอายุ 30 ปี บริเวรหน้าอก มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเป็นมะเร็งทางพันธุกรรมเต้านม รังไข่ อาจต้องเริ่มตรวจแมมโมแกรมที่อายุ 30 พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทุก 6-12 เดือน หรือตรวจแมมโมแกรมอาจไม่พอ บางรายอาจต้องตรวจ MRI หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมด้วย
#ปากมดลูก
อายุ 21-29 ปี ให้ตรวจ Pap test (ตรวจแป๊ป) ทุก 3ปี เป็นการตรวจภายในและตรวจเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก
อายุ 30-65 ปี ให้ตรวจ Pap test ทุก3ปีได้ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นอาจต้องมีการตรวจเชื้อ HPV (เอชพีวี) เพิ่มเติม โดยทำทุก 5 ปีถ้าตรวจ Pap test ร่วมกับการตรวจ HPV
#ลำไส้ใหญ่
คนทั่วไป เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปี
โดยการตรวจได้หลายแบบได้แก่
* การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
* การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก10 ปี
* การตรวจอุจจาระ โดยอาจร่วมกับส่องกล้องลำไส้ส่วนปลายปละทวารหนัก ทุก 5 ปี
* การตรวจลำไส้ใหญ่ทางเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT colonography ทุก 5 ปี
----------------------
#การตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ชาย
มะเร็งที่เจอบ่อยในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด ดังนั้นการตรวจสุขภาพจะเป็นตามแนวทางนี้
#มะเร็งต่อมลูกหมาก
จริงๆการตรวจคัดกรองในโรคนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันเพราะมีหลายการศึกษาที่ระบุว่าการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มการมีชีวิตอยู่รอด แถมเมื่อตรวจค่าผิดปกติและต้องไปเจาะตรวจชิ้นเนื้อ พบว่าประมาณ 75% พบว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง ผู้ป่วยก็จะเจ็บตัวเปล่าๆ
แต่ถ้าอยากตรวจก็สามารถทำได้โดยการตรวจหาค่า PSA และการพบแพทย์เพื่อตรวจขนาดต่อมลูกหมากทางทวาร (rectal examination) โดยมักแนะนำในคนที่มีความเสี่ยงเช่น อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว
#มะเร็งตับ
เรามักจะตรวจในผู้ป่วยที่โรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบBและC ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง โดยการหาเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ (liver function test) ค่าของ AFP และการอัลตราซาวน์ตับ หรือถ้ามีการสงสัยอะไรก็อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเช่นการทำMRI
#มะเร็งลำไส้
เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปี แต่ถ้ามีภาวะบางอย่างที่อาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ ก็จะแนะนำตรวจก่อนอายุ 50 ปี เช่น มีประวัติในครอบครัวเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ มีให้เลือกตรวจได้หลายแบบ เช่น
-การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
-การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก10 ปี
-การตรวจอุจจาระ โดยอาจร่วมกับส่องกล้องลำไส้ส่วนปลายปละทวารหนัก ทุก 5 ปี
-การตรวจลำไส้ใหญ่ทางเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT colonography ทุก 5 ปี
#มะเร็งปอด
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดนี่ เป็นเรื่องใหม่มากพอสมควร ล่าสุดมีการศึกษาหนึ่งออกมาว่า ช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งปอด 20% (lung cancer mortality rate) แต่ในการศึกษาพุ่งเป้าไปที่คนบางกลุ่ม ดังนั้นกลุ่มดังกล่าวจึงเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์จากการตรวจคัดกรองมะเร็ง
การคัดกรองในที่นี้ คือการตรวจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำกว่าปกติ เรียกว่า low-dose CT ซึ่งจะมีจำกัดอยู่เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น
กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์คือ ต้องมีทั้งสามข้อ
- มีประวัติสูบบุหรี่จัด ในที่นี้คือ ค่า pack-year ให้เอาจำนวนต่อซอง x จำนวนปี ค่าตั้งแต่30ขึ้นไปถือว่าจัด เช่น สูบ1ซองเป็นเวลา30ปี (pack year=30) , สูบ2ซองเป็นเวลา15ปี (pack year=30)
- ยังคงสูบอยู่หรือถ้าเลิกแล้ว ยังคงอยู่ในช่วงไม่เกิน 15 ปีหลังเลิก
- อายุช่วง 55-74 ปี
--------------
ความเสี่ยงของการตรวจคัดกรองมีอยู่ว่า
1.ในเอกซเรย์อาจเห็นว่ามีอะไร แต่จริงๆแล้วไม่มี เรียกว่าค่าบวกลวง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เครียด ต้องมาตรวจเพิ่มเติมบ่อยๆ เจาะชิ้นเนื้อเพิ่ม
2.อาจเจออะไรที่ผิดปกติบางอย่างจริงๆ แต่จริงๆอาจไม่ต้องรักษา ผู้ป่วยไม่มีอาการอะไร แต่อาจต้องไปผ่าตัดจริง หรือรักษาเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น
3.การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บ่อยๆหลายครั้งมากๆ เป็นเวลานาน ก็ทำให้ร่างกายเราได้รับรังสีด้วยเช่นกัน อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งบางอย่างในอนาคต
(ข้อมูลจาก https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=521 และ https://www.chulacancer.net/patient-list-page.php?id=522)