‘นารีวงศ์’ ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม
‘นารีวงศ์’ ประวัติศาสตร์วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในสยาม ห่างจากสะพานพระราม ๕ จังหวัดนนทบุรีไปไม่ไกลคืออดีต ‘วัตร์นารีวงศ์’ ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของวัตร์นารีวงศ์ให้เห็นอีกแล้ว หากถามผู้คนแถวนั้นว่า “วัตร์นารีวงศ์ไปทางไหน” พวกเขาจะสั่นหัวและตอบว่า “ไม่รู้จัก” บริเวณที่เคยเป็นวัตร์นารีวงศ์ปัจจุบันยังคงเป็นบ้านของนรินทร์ ภาษิต เจ้าของบ้านคนปัจจุบันคือลูกหลานผู้ไม่ต้องการเปิดเผยหน้าตาและชื่อเสียงให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะ เราจึงไม่สามารถเปิดเผยหน้าตาและชื่อเสียงของเจ้าของบ้านให้เป็นที่รับรู้ได้
นรินทร์ ภาษิต ได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านหลังนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้วยอายุ ๗๗ ปี นางสาระบุตรสาวได้ถึงแก่กรรมไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑ ด้วยอายุ ๘๘ ปี ในขณะที่นางจงดีผู้น้องอยู่ในวัยชราและได้ย้ายไปอยู่กับลูกหลานที่ต่างจังหวัด ส่วนน้องชายอีก ๓ คนของนางสาระได้ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา เดินสำรวจรอบๆ บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งวัตร์นารีวงศ์ บัดนี้กลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่า บางส่วนเป็นกอหญ้าป่ารก และพบว่าอดีตวัตร์นารีวงศ์แห่งนี้ยังคงหลงเหลือเศษสิ่งก่อสร้างบางอย่างให้ได้รับรู้ว่าในอดีตที่นี่เคยเป็นวัดมาก่อนอย่างน้อยก็ ๓ สิ่ง นั่นคือ ภูเขาจำลอง ซากโบสถ์ และศาลาท่าน้ำ
ภูเขาจำลอง สิ่งก่อสร้างรูปทรงภูเขาขนาดเล็ก ความสูงประมาณ ๒ เมตร มีต้นไม้ปกคลุมไปทั่ว ภูเขาถูกตกแต่งด้วยไหและโอ่ง บ่งบอกให้รู้ว่าบ้านหลังนี้เคยมีอาชีพปั้นหม้อดินขาย บนภูเขามีโบสถ์ขนาดจิ๋วสร้างประดิษฐานไว้ แต่ปัจจุบันโบสถ์จิ๋วได้พังทลายลงมา
ซากผนังโบสถ์ เป็นส่วนของผนังโบสถ์ที่พังทลายลงมาจากภูเขา เป็นศิลปะปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าปางป่าเลไลยก์ มีรูปช้างกับลิงนั่งหมอบอยู่เคียงข้าง ลายปูนปั้นมีลักษณะสมบูรณ์
ศาลาท่าน้ำ สิ่งก่อสร้างชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังคงหลงเหลือให้เห็น หากนั่งเรือจากท่าน้ำนนทบุรีเพื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วหันหน้าไปทางนนทบุรีฝั่งตะวันตกจะแลเห็นศาลาท่าน้ำนี้ เป็นศาลาท่าน้ำสีน้ำตาลทราย ไม่มีการตกแต่งทาสีใดๆ เป็นศาลารูปทรงโบราณที่ดูแปลกตา
จากการค้นคว้าพบว่าวัตร์นารีวงศ์ในอดีตประกอบไปด้วยที่พักสงฆ์รูปทรงตึกสูง ๗ ชั้น ประกอบด้วยชั้นใต้ดิน ๑ ชั้น บนดิน ๔ ชั้น, ดาดฟ้า ๑ ชั้น, หอคอย ๑ ชั้น รวมเป็น ๗ ชั้น แล้วยังมีป้อมซึ่งเป็นบันไดเวียนขึ้นไปบนยอดเสาประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ทั้งหมดมีมูลค่าอยู่ที่หลักแสนสำหรับการก่อสร้างในเวลานั้น
ในอดีต ๘๐ ปีที่แล้วใครสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีความสูงขนาดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะต้องเป็นคนมีฐานะ เรียกได้ว่าวัตร์นารีวงศ์เป็นสิ่งก่อสร้างที่สะดุดตาที่สุดในแถบริมน้ำเจ้าพระยา หากใครพายเรือผ่านไปมาแถวนั้นก็ต้องฉงนสนเท่ห์ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีการสร้างตึกสูงๆ นอกเสียจากเจดีย์หรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ตึกที่สูงที่สุดในเวลานั้นคือตึกที่เยาวราชมีความสูง ๙ ชั้น
น่าสังเกตว่าตึกวัตร์นารีวงศ์ที่นรินทร์สร้างมีความหมายของ “พระรัตนตรัย” แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมนี้ กล่าวคือ ยอดบนสุดเป็นป้อมประดิษฐาน “พระพุทธ” ชั้นสองรองลงมาเป็นหอคอยหรือหอไตรเป็นสัญลักษณ์ของ “พระธรรม” ในขณะที่ชั้นล่างถัดลงไปเป็นที่พักสงฆ์ หมายถึง “พระสงฆ์” นับว่านรินทร์มีหัวคิดในการสร้างมิใช่น้อย เพราะเป็นการนำความหมายของ “พระรัตนตรัย” มาใส่ไว้ในสิ่งก่อสร้าง น่าเสียดายที่สิ่งก่อสร้างถูกทำลายไปเสียหมด ไม่หลงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ เวลานั้นนรินทร์ถูกจำคุกอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช (๒๔๘๖-๒๔๘๘) ซึ่งเป็นการติดคุกครั้งสุดท้ายของเขาในช่วงปัจฉิมวัย ประกอบกับอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ขณะนั้นลูกๆ ทั้ง ๕ คนของนรินทร์โตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว ลูก ๔ คนลงความเห็นว่าให้ทำลายตึกเสียเหตุผลเพราะจะเป็นจุดเด่นให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดได้ ในขณะที่นางสาระเป็นเพียงเสียงเดียวที่ต้องการให้เก็บรักษาไว้ เมื่อเป็นเพียงเสียงเดียวสิ่งก่อสร้างอันมหัศจรรย์ความสูง ๗ ชั้นของนรินทร์จึงถูกทุบทิ้งตามเสียงข้างมาก ขณะนั้นตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่าจะเป็นช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ – ๒๔๘๘ ที่มีการทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ เหลือเพียงภูเขาจำลอง ซากโบสถ์ และศาลาท่าน้ำ ซึ่งเจ้าของบ้านบอกว่าจะเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงนายนรินทร์นักต่อสู้
ผู้เขียนถามเจ้าของบ้านว่าอยากพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าที่อดีตเคยเป็นวัตร์นารีวงศ์แห่งนี้ให้เป็นอย่างไร เจ้าของบ้านตอบว่าถ้ามีเงินมากพอก็อยากพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานปฏิบัติธรรม เพราะตัวเธอเองสนใจการปฏิบัติธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
สุภาพสตรีท่านดังกล่าวได้เล่าเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ทางราชการมีโครงการจะอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นอนุสรณ์สถานให้กับนายนรินทร์ ภาษิต แต่เนื่องจากเกิดอุปสรรคบางอย่างทำให้โครงการที่จะสร้างอนุสรณ์สถานต้องถูกระงับไป จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าบุคคลผู้ริเริ่มสิ่งดีๆ ให้กับสังคมต้องถูกลืมเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์ มีเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีความหมายในอดีต
แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่นรินทร์ ภาษิต ได้ทำไว้ไม่เคยสูญเปล่า ชาวบ้านละแวกนี้ยังคงระลึกถึงคุณงามความดีของเขาจึงไม่ลืมที่จะตั้งชื่อถนนซอยทางเข้าบ้านของเขาว่า “ซอยนรินทร์ (กลึง)” ผู้เขียนเชื่อมั่นอยู่เสมอว่าคนที่ทำความดีเพื่อสังคมอย่างน้อยก็ต้องมีคนมองเห็นคุณงามความดีของเขาอย่างแน่นอน เหมือนอย่างที่มีการนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อถนนไว้เป็นอนุสรณ์ แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตมานาน ๖๒ ปีแล้วก็ตาม
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ณ สถานที่แห่งนี้ย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๘๐ กว่าปีที่แล้วเคยมลังเมลืองด้วยความหมายว่าเป็นวัดแห่งแรกของนักบวชหญิง หากแต่วันนี้หลงเหลือเพียงชื่อและเศษซากของโบราณวัตถุที่ยังคงพอหลงเหลือไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาว่า “วัตร์ภิกษุณีแห่งแรกในพุทธศาสนา” เคยอยู่ที่นี่
แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะมิได้ไปสู่การรับรู้จากสาธารณะว่านายนรินทร์ ภาษิต และที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในอดีตอย่างไร แต่เชื่อว่าผลงานและวีรกรรมของเขาก็ไม่เคยสูญเปล่า เพราะคนที่ตั้งใจทำดีเพื่อสังคมไม่เคยตายไปจากโลกนี้จริงๆ .