เตือนภัย!! ข่าวปลอมเก่า "ดื่มน้ำยางกล้วย รักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน"
ล่าสุดอาจารย์เจษฏ์ นั้นได้ออกมาโพสต์เตือนภัยเกี่ยวกับน้ำยางกล้วยที่ถูกแชร์กันในโซเชียลกันอย่างมากมายในขณะนี้ โดยโพสว่าดังนี้..
ข่าวปลอมเก่า เอามาเล่าใหม่อีกแล้วครับ "ดื่มน้ำยางกล้วย รักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน"
อันนี้ก็เห็นมาหลายปีแล้วนะครับ เคยโพสต์เตือนแล้วแหละ ว่าแค่ความเชื่อคิดกันขึ้นมาเอง ไม่ได้อยู่ในตำราสมุนไพรด้วยซ้ำ
ส่วนยากล้วย ที่มันอยู่มีจริงๆ คือ เอาผลกล้วยดิบ มาทำเป็นยาผง ชงน้ำดื่ม ดังนี้ครับ
"ยากล้วย" เป็นยารักษากลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหารกลุ่มยาบรรเทาอาการท้องเสีย ทำจากผลกล้วยน้ำว้าชนิดแก่จัด [Msua sp. (ABB group) "Klui Nam Wa"] หรือกล้วยหักมุกชนิดแก่จัด [Musa sp. (ABB group) "triploid" cv.] ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน โดยรับประทานครั้งละ10 กรัม ชงน้ำร้อน 120 - 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร แต่ไม่ควรใช้ในคนที่ท้องผูก และการรับประทานติดต่อกันนานๆ อาจทำให้ท้องอืดได้ (จาก https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/drug/text/drug.php?drugID=55)
ลองอ่านข้อความที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เคยเตือนไว้ครับ
---------------
(คำเตือน) ข่าวปลอม อย่าแชร์! ดื่มน้ำยางจากกล้วย รักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อนได้
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องดื่มน้ำยางจากกล้วย รักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อนได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์ชวนเชื่อเกี่ยวกับสุขภาพในเฟซบุ๊กโดยระบุว่า วิธีเอาน้ำยางจากกล้วย ดื่มเพื่อรักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน บางคนดื่มแค่ 1 ครั้งก็หายขาด
ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เนื่องจากยังไม่พบรายงานใดที่ยืนยันว่าการรับประทานน้ำยางกล้วย สามารถช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและกรดไหลย้อนได้ และยังไม่พบรายงานสนับสนุนใดที่บ่งบอกว่าการรับประทานยางกล้วยส่งผลต่อการรักษาทางการแพทย์
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ยากล้วย ซึ่งทำมาจากผลกล้วยน้ำว้าห่าม นำมาตากแห้งแล้วบดเป็นผง ชงน้ำดื่มเพื่อรักษาโรค ในปัจจุบันถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งประชาชนสามารถมั่นใจได้ถึงประสิทธิผลและความปลอดภัย ในการใช้รักษาโรค และประชาชนสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายในสถานพยาบาลของรัฐตามภูมิลำเนา
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขได้ที่เว็บไซต์ https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/หรือโทร0-2591-7007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่แนะนำให้ใช้ยางกล้วยเพื่อรักษาโรค เพราะไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย หากนำมาใช้โดยปราศจากความรู้และความเชี่ยวชาญในการใช้ อาจส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/219186678564393/posts/pfbid0tEz9A96YoGJ4aY37sbaiGYqVgjGmByMQicAVPLcPmFxVTzzsaeLNQQtkTDSHhsWal/