ปิดแอร์ก่อนดับเครื่องยนต์ช่วยให้แอร์รถไม่เหม็นและยืดอายุการใช้งานได้จริงหรือเปล่า
หนึ่งในคำเตือนจากคนรุ่นเก่า ๆ เวลาขับรถยนต์มักพูดกันว่า ก่อนดับเครื่องยนต์ให้ปิดแอร์ก่อนเสมอ เพื่อไฟจะได้ไม่กระชาก แอร์ไม่เหม็น หรือไม่ต้องกลัวว่าแอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้างขณะขับขี่ คำถามคือมันเป็นเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน แล้วการทำในลักษณะดังกล่าวช่วยยืดอายุการใช้งานได้จริงหรือไม่ บทความนี้จะพาทุกคนไปคลายข้อสงสัยพร้อมหาคำตอบชัดเจนจากศูนย์บริการรถยนต์ว่าควรทำแบบไหนดีจึงเหมาะสมมากที่สุด
ตอบข้อสงสัย ควรปิดแอร์ก่อนดับเครื่องยนต์หรือไม่?
ย้ำว่าหากเป็นรถในยุคปัจจุบัน จะปิดหรือไม่ปิดก่อนดับเครื่องยนต์ก็ไม่มีข้อใดผิดทั้งสิ้น เนื่องจากรถรุ่นใหม่ ๆ ต่างก็พัฒนาระบบให้เกิดความทันสมัยมากขึ้น เครื่องยนต์มีการออกแบบให้ตัดต่อระบบไฟโดยอาศัยหลักการแยกชิ้นการทำงานของอุปกรณ์ นั่นหมายถึงแม้คุณจะเปิดแอร์ค้างเอาไว้แล้วเตรียมสตาร์ทใหม่ยังไงก็ไม่มีทางเกิดไฟกระชาก หรือดึงรั้งการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์จนเสียหายอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามหากเป็นรถรุ่นเก่ามาก ๆ อายุเกิน 20 ปีขึ้นไป การปิดแอร์ก่อนแล้วค่อยดับเครื่องคือสิ่งที่ต้องทำ (ย้ำว่ารถเก่ามากระดับ 20 ปีขึ้นไป) เนื่องจากเทคโนโลยีในยุคดังกล่าวยังไม่อัปเดตมากพอ ส่งผลถึงรถบางรุ่นยังไม่ติดตั้งระบบตัดต่อไฟ จึงมีหน่วงเวลาเกิดขึ้นระหว่างอุปกรณ์จะเริ่มทำงาน พอสตาร์ทรถอาจทำให้เกิดไฟกระชาก นำมาซึ่งความเสียหายของตัวแอร์ได้นั่นเอง ผลร้ายมากกว่านั้นคืออาจนำไปสู่อาการแบตเตอรี่เสื่อมหรือสตาร์ทรถไม่ติดได้เลย
ปิดแอร์ก่อนดับเครื่องยนต์ทำให้แอร์รถไม่เห็นจริงหรือ?
บางคนอาจเคยลองเข้าไปถามร้านซ่อมแอร์รถยนต์หรือจุดไหนก็ตามว่าเกี่ยวกันหรือไม่ที่ต้องปิดแอร์ก่อนดับเครื่องยนต์เพื่อไม่ให้แอร์รถเหม็น คำตอบคือ “ไม่จำเป็น” แต่!!! สิ่งที่ควรทำคือ ควรปิดระบบ A/C ซึ่งเป็นระบบทำความเย็นด้วยการปล่อยน้ำยาแอร์รถก่อนถึงจุดหมายปลายทางราว 3-5 นาที เหตุผลเพื่อช่วยไล่ความชื้นให้ออกไปจากระบบแอร์ ลดปัญหาการเกิดกลิ่นอับ เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่กลิ่นไม่พึงประสงค์เวลาสคาร์ทรถใหม่นั่นเอง
เมื่อรู้แบบนี้แล้วหลายคนคงคลายข้อสงสัยออกไปได้เยอะมากเกี่ยวกับเรื่องของการปิดแอร์ก่อนแล้วค่อยดับเครื่องยนต์ ยืนยันว่ารถรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นแล้ว แต่ถ้ายังเป็นรถรุ่นเก่าเกิน 20 ปี ก็ควรทำตามที่ผู้ใหญ่แนะนำไว้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หรือแม้เป็นรถรุ่นใหม่ ๆ จะดับแอร์แล้วค่อยดับเครื่องจนกลายเป็นนิสัยก็ดีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน