น้องหนอนผีเสื้อหางติ่ง:ปลอมตัวเป็นลูกงูได้เนียนสุดๆ มีทั้งตาปลอม ลิ้นปลอม วิวัฒนาการกันมาได้ยังไงนี่..!☺️
#ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ระยะตัวอ่อนของแมลงเป็นระยะที่มีโอกาสกลายเป็นอาหารของเหล่านักล่าได้ง่าย ดังนั้นแมลงจึงจำเป็นต้องพัฒนาและปรับตัวทั้ง รูปร่าง สีสัน หรืออาจมีสารเคมีบางอย่างในตัวที่มีความเป็นพิษหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ขับไล่ศัตรูเพื่อความอยู่รอด ดังเช่นการปรับตัวของ หนอนผีเสื้อหางติ่ง วงศ์ Papilionidae หลายชนิด
หนอนผีเสื้อหางติ่งมีรูปแบบการพัฒนาตัวอย่างชาญฉลาดด้วยการสร้างภาพลวงตาให้มีลักษณะคล้ายลูกงู โดยการพัฒนาอวัยวะที่เรียกว่า ตาปลอม (eyespot) และ ออสมีทีเรียม (osmeterium) บนลำตัว
ตาปลอม (eyespot) เป็นลวดลายบนปล้องอกของหนอนวัยสุดท้ายที่มีลักษณะคล้ายดวงตาขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสนเท่ห์หรือตื่นกลัวให้กับศัตรู เมื่อหนอนถูกรบกวนจะขยายผนังลำตัวเพื่อพองส่วนนี้ออกทำให้จุดตาปลอมขยายใหญ่มากยิ่งขึ้นจนดูน่ากลัว
นอกจากนี้ยังมีอวัยวะสีแดงรูปสองแฉกคล้ายลิ้นงู เรียกว่า ออสมีทีเรียม (osmeterium) ในเวลาปกติออสมีทีเรียมจะถูกพับเก็บไว้ใต้อกปล้องแรกด้านบนในลักษณะคว่ำและจะถูกดันหงายออกมาอย่างรวดเร็วโดยใช้แรงดันของเลือดเมื่อหนอนถูกรบกวนหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย และมีกลิ่นฉุนรุนแรงเพื่อขับไล่ศัตรูผู้ล่า
กลิ่นที่หนอนปล่อยออกมาแตกต่างกัน บางชนิดมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย บางชนิดมีกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบทางเคมีของพืชอาหารที่หนอนกินเข้าไป กลิ่นเหล่านี้จะส่งผลได้ดีกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก สามารถขับไล่มดแมงมุม หรือตั๊กแตนตำข้าวได้ แต่สำหรับนกหรือมนุษย์อาจเป็นได้แค่กลิ่นรบกวน
การทำตาโตหรือแลบลิ้นใส่เป็นแค่การป้องกันตัวของน้องหนอน ในความเป็นจริงแล้วหนอนแก้วไม่สามารถทำอันตรายเราได้ การไม่ไปรบกวนหรือทำให้หนอนตกใจจะช่วยให้น้องหนอนมีความสุขกับการกินอาหาร สะสมพลังงาน และพัฒนาเป็นผีเสื้อแสนสวย กลายเป็นแมลงผสมเกสรที่มีประโยชน์ต่อไป
.
ดร.สุนัดดา เชาวลิต
นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ
กลุ่มงานอนุกรมวิธานแมลง กลุ่มกีฏและสัตววิทยา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร