ภาพเก่าหาดูยาก..!! ย้อนตำนาน "ตลาดเสาชิงช้า"
#ตลาดเสาชิงช้า #โรงบ่อนเสาชิงช้า
ภาพที่ 1 เป็นภาพเสาชิงช้า ด้านซ้ายมือคือ วัดสุทัศน์ฯ ด้านขวามีอ มีตึกแถวตั้งเด่นอยู่บนลานคนเมืองในปัจจุบัน ตึกแถวนี้คือ ตลาดเสาชิงช้า
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีบริษัทไฟฟ้าเกิดขึ้นจึงได้รื้อโรงกลั่นแก๊สลงทั้งหมด แล้วย้ายเสาชิงช้าที่เดิมตั้งอยู่หน้าโบสถ์พราหมณ์ ออกมาตั้งตรงที่ตั้งอยู่กลางถนนบำรุงเมืองดังในปัจจุบันนี้ ตรงโรงแก๊สที่รื้อทิ้งได้สร้างเป็นตลาด ลักษณะเป็นตึกแถวยาวหักวกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจรดกันสี่ด้าน เว้นช่องเป็นประตูตรงกลางทุกด้าน ภายในทำเป็นตลาดใหญ่ ตามจดหมายเหตุกล่าวว่าผู้สร้างตึกชื่อ มิสเตอร์ สุวาราโต ได้มาสร้างและเปิดตลาดเสาชิงช้านี้เมื่อร.ศ. 119 (พ.ศ. 2444)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งลงวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ.119 ถึงกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์แลเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์มีความว่า
......."ด้วยตลาดเสาชิงช้าตอนข้างในแล้วเสร็จพอที่จะเปิดให้เข้าไปขายของในนั้น รื้อร้านที่โสโครกเสียได้สักคราวหนึ่ง ฉันได้กำหนดว่าจะเปิดในวันที่ 18 คือ เดือน 6 ขึ้นหนึ่งค่ำ เพราะเหตุว่าถ้าจะเปิดในเวลาสงกรานต์ จะเป็นการชุลมุนกับเรื่องก่อพระทรายและกระทุ้งรากที่วัดเบญจมบพิตร แต่มีเรื่องที่จะต้องพูดกับเธอแลกรมศุขาภิบาล 2-3 เรื่องคือ
1. ในตลาดนั้นอยากจะให้ติดไฟฟ้า คิดประมาณดูว่าจะต้องติดกิ่งฟากโรงตลอดฟากเดียวไม่ติดตามตึกโดยรอบริมขอบถนนนี้ด้านละ 5 ดวงด้านสกัดด้านละ 1 ดวง รวมเป็น 12 ดวง ในตลาดเพียงสัก 3 ดวงก็พอ เพราะเหตุว่าของเหล่านั้นย่อมขายในเวลากลางวัน ติดไฟไฟ้พอให้สว่างในการที่จะรักษาของอันเก็บไว้ในตลาด รวมเป็นไฟข้างใน 15 ดวงไฟที่ถนนในระหว่างตึกที่จะไปเว็จแลไปบ่อน้ำ ถ้าจะมีแต่มุมละดวงก็เกือบจะพอดอกกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็จะเป็นเพียง 19 ดวงๆหนึ่ง 20 แรงเทียน ถ้ากรมศุขาภิบาลจะให้ได้จะเป็นที่ยินดีมาก หรือจะเี่กี่ยงอยู่ว่าในตลาดไม่ใช่เป็นท้องถนน จะให้เจ้าของตลาดใช้ค่าไฟฟ้า 3 ดวงข้างในนั้นก็ได้ การที่จะติดเหล่านี้ถ้าเธอมีความสงสัยให้หารือเจ้าหมื่นเสมอใจ แต่ถ้าติดไฟให้ได้จุดทันวันกำหนดเปิดตลาดจึงจะเป็นการดี
2. ที่เสาชิงช้าซึ่งจะยกพื้นขึ้นรอบ แลจะปักเสาโคมสี่มุมนั้น ถ้าสำเร็จได้ด้วยในเวลานั้นจะเป็นการงามมาก
3. เมื่อตลาดได้ย้ายไปในที่ใหม่แล้ว ตลาดเก่านั้นจะได้ให้รื้อทันที เมื่อรื้อลงแล้วขอให้กรมศุขาภิบาลได้ทำพื้นที่นั้นให้สิ้นความโสโครก ให้เป็นลานใหญ่สำหรับรถเดินไปมาได้โดยสะดวกโดยเร็วด้วย"....
ตลาดเสาชิงช้าในสมัยก่อนมักจะเปิดในเวลากลางวันมีกำหนด ถ้าเลยเวลาแล้วก็ไม่มีของขาย และตลาดเสาชิงช้าแต่ก่อนนี้ก็มีสถานที่ที่ช่วยทำความครึกครื้นอีกอย่างหนึ่งคือมีโรงบ่อนเบี้ย เรียกกันว่าโรงบ่อนตลาดเสาชิงช้า ซึ่งในสมัยนั้นอนุญาตให้เล่นตั้งแต่เวลาโมงเช้าจนถึงเวลา 5 ทุ่ม แลเวลาที่เล่นนั้นให้มีโปลิศประจำอยู่ทุกบ่อน เพื่อมิให้จีนเจ้าของบ่อนคิดทุจริตด้วยประการต่าง ๆ ก็ธรรมเนียมของโรงบ่อนแต่ก่อนนายบ่อนหรือขุนพัฒน์มักจะหาทางล่อใจให้คนมาเล่น จึงมักจะติดตลาดให้มีร้านรวงครึกครื้นหางิ้วและละครมาเล่นให้ดูที่หน้าบ่อน เพื่อคนดูจะได้ไถลเลยเข้าไปเล่นเบี้ยด้วย ก็เป็นอันว่าพวกงิ้วพวกละคร ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากเจ้าของบ่อนอยู่เสมอ เพราะเขาหาไปเล่นแบบเล่นงานเหมาคราวละ 7 - 10 วัน..
(ข้อมูลจากเรื่องของ ส.พลายน้อย)
ตลาดเสาชิงช้านี้ถูกรื้อทิ้งลงทั้งหมด ในปีพ.ศ. 2497 - 8 โดยเทศบาลนครกรุงเทพฯ (ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน) ต้องการสถานที่สำหรับให้ประชาชนมาออกกำลังกาย จึงเรียกลานกว้าง ๆ แห่งนี้ว่าลานคนเมือง