Kudsu ต้นไม้เอเลี่ยนจากญี่ปุ่น พืชที่ได้รุกราน และทำลายระบบนิเวศน์ฯ ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกจนบรรลัยไปทั่วทุกหย่อมหญ้า..!!
Kudsu ต้นไม้เอเลี่ยนจากญี่ปุ่น พืชที่ได้เข้าไปรุกราน และทำลายระบบนิเวศน์ฯ ในสหรัฐฯ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จนบรรลัยไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ในกลางศตวรรษที่ 20
.
Kudsu (クズ, 葛) คือต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไม้เถาวัลย์ที่ถูกนำเข้ามาปลูกในอเมริกาในปี 1876 โดยตอนแรกมันถูกนำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม และได้รับการขนานนามว่า เป็นต้นที่มีดอกกลิ่นหอมหวานและสวยงาม
.
หลังจากนั้นในปี 1930 Kudsu ได้ถูกนำมาปลูกในพื้นที่ทางใต้ของอเมริกาโดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เนื่องจากค้นพบว่า มันเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง โตไว และต่อสู้กับการพังทลายของหน้าดินได้ดีเยี่ยม โดยมีการปลูกต้น Kudsu นี้ไปมากถึง 1 ล้านเอเคอร์ด้วยความช่วยเหลือจากเงินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
.
เมื่อเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนถึงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ช่วงที่เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เหล่าเกษตรกรหลายคน ทอดทิ้งการเกษตรในพื้นที่ และหันเข้าไปทำงานในเมืองกันมากขึ้น จนทำให้ต้น Kudsu ที่ได้รับการปลูกในหลายๆ พื้นที่ ไม่ได้รับการดูแลอย่างดีเท่าที่ควร และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ต้น Kudsu แปลงร่างกลายเป็น ปีศาจ ในทางตอนใต้ของสหรัฐฯ
.
ต้น Kudsu เป็นต้นเถาวัลย์ ที่มีอัตราการเจริญเติบโตในอัตราที่สูงเอามากๆ ถึงขนาดที่ว่ามันสามารถเติบโตได้ราวๆ 1 ฟุตต่อวัน และต้นมันก็สามารถใหญ่ได้มากถึง 100 ฟุตภายในเวลาไม่นาน มันโตไวจนถึงขั้นได้รับฉายาว่า "mile-a-minute" ซึ่งมันโตไวและกระจายตัวไปอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นที่ว่า ต่อให้ตัดทิ้งเท่าไหร่มันก็ยังสามารถกลับมาเติบโตได้อย่างปรกติภายในไม่กี่วัน
.
เมื่อขาดการดูแลจากคนในท้องถิ่น ทำให้ต้น Kudsu ที่เติบโตอยู่บนพื้นที่ต่างๆ ทางใต้ของสหรัฐฯ แพร่ขยายกิ่งก้านสาขาในรูปแบบที่ควบคุมไม่ได้ อีกทั้งด้วยสรรพคุณที่เป็นไม้ที่ทนทานเอามากๆ ซึ่งมันสามารถทนกับอากาศที่ร้อนจัด และเย็นจัดได้เป็นอย่างดี
.
ต้น Kudsu จึงเริ่มเติบโตและเข้าปกคลุมส่วนต่างๆ ในบริเวณนั้นอย่างหนาแน่น ซึ่งรวมไปถึง กลบต้นไม้ บ้าน สายไฟ เสาไฟ และพืชท้องถิ่นหลายๆ ชนิดที่ได้ถูกพวกมันปกคลุมนั้น จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้อีกเนื่องจากพวกมันจะทำการบดบังไม่ให้ต้นไม้เหล่านั้น ได้รับแดดใดๆ จนขาดอาหารตาย
.
นอกจากจะโตไว ทนทานแล้ว อีกหนึ่งคุณสมบัติของพวกมันคือ พวกมันมีความสามารถในการดึงไนโตรเจนในดินและอากาศได้ในอัตราที่สูงกว่าพืชทั่วๆไป จากงานวิจัยในปี 2010 ได้พบว่า ในบริเวณที่มีต้น Kudsu มากๆ จะพบว่ามีปริมาณไนโตรเจนในปริมาณที่สูงมากๆ ซึ่งนั่นกลายเป็นว่า การเข้าปกคลุมพื้นที่ของ Kudsu จะเท่ากับการปล่อย ไนตริค-ออกไซต์ (nitric oxide) ในปริมาณที่เข้มข้นเป็น 2 เท่าจากธรรมชาติทั่วไป ซึ่งอาจจะเทียบเท่ากับการเพิ่มมลพิษให้กับโอโซนในอัตราที่สูงมากๆ จนอาจจะส่งผลเสียต่อชั้นบรรยากาศเลยก็ว่าได้
.
เมื่อเวลาผ่านไป ผลกระทบจากต้น Kudsu เริ่มส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ต้นพวกมัน นอกเหนือจากต้นไม้ท้องถิ่นแล้ว เหล่าสัตว์ท้องถิ่นต่างๆ และรวมไปถึงพวกแมลง ต่างพากันเดือดร้อนเนื่องจากปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน ขนาดในหน้าแล้ง ในขณะที่ต้นไม้อื่นๆ ค่อยๆ แห้งตายลงไป กลับมีเพียงแต่พวก Kudsu เท่านั้น ที่ยังสามารถอยู่รอดได้ และเริ่มเข้ายึดพื้นที่ของต้นไม้อื่นๆ ที่ตายลงไปได้เรื่อยๆ จนสุดท้ายพื้นที่ทั้งหมดก็ถูกปกคลุมไปด้วย ต้น Kudsu ไปหลายล้านเอเคอร์ ด้วยอัตราการแพร่กระจาย 150,000 เอเคอร์ต่อปี (ในปี 2015 เหลืออัตรา 2,500 เอเคอร์ต่อปี) และส่งผลให้พืชและสัตว์บางชนิดหายไปจากท้องถิ่นเดิมของตัวเองโดยสิ้นเชิง จนเกือบจะสูญพันธุ์
.
ถึงแม้จะมีความพยายามของชาวบ้าน และทางภาครัฐ สำหรับการกำจัดต้น Kudsu แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำ เพราะการกำจัดพวกมันด้วยวิธีตัดทิ้ง แทบไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเมื่อรากของมันได้หยั่งลึกลงไปใต้พื้นดินแล้ว พวกมันก็พร้อมที่จะงอกลำต้นและใบขึ้นมาใหม่ได้เรื่อยๆ และวิธีเดียวที่จะกำจัดพวกมันได้ นั่นก็คือ ต้องขุดรากมันออกไป หรือจุดไฟเผาทิ้ง
.
ระยะหลังๆ มีการปล่อยแมลงต่างๆ รวมไปถึงการให้เหล่าปศุสัตว์เข้าไปกัดกินใบและต้นของพวกมัน แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยชะลอการขยายตัวของ Kudsu ได้มากเท่าที่ควร จนในที่สุดในปี 1950 ต้น Kudsu จึงได้ถูกลบออกจากลิสต์พืชคลุมหน้าดินของสหรัฐฯ และในปี 1972 พวกมันก็ถูกลดระดับกลายเป็นวัชพืชแทน
.
ในขณะที่ในยุโรป ต้น Kudsu ถูกบันทึกอยู่ในลิสต์ของ สายพันธุ์ต่างด้าวที่รุกราน (Invasive Alien Species of Union) ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งหมายความว่า สายพันธุ์นี้ไม่สามารถนำเข้า เพาะปลูก ขนส่ง ค้าขาย หรือปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยเจตนา ณ ที่ไหนๆก็ตาม ในสหภาพยุโรป
.
ซึ่งรวมไปถึงที่ต่างๆ บนโลก ที่ต้น Kudsu เข้าไปเป็นพืชเอเลี่ยน ก็จะถูกระบุให้เป็นวัชพืชในเวลาต่อมา เช่น ในประเทศ วานูอาตู และ ฟิจิ ที่เคยนำเข้าไปใช้เป็นอุปกรณ์พรางตัวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือการแพร่ขยายในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งในนิวซีแลนด์นั้น ต้น Kudsu ได้รับการประกาศให้เป็น "สิ่งมีชีวิตที่ไม่ต้องการ" (unwanted organism) ในลิสต์ของความปลอดภัยทางชีวภาพของนิวซีแลนด์ ในปี 2002
.
ในระยะหลัง มีการกำจัดต้น Kudsu ด้วยวิธีการใช้สารเคมีอย่าง ไกลโฟเสต (glyphosate) ไทรโครไพร์ (triclopyr) หรือพิคโลแรม (picloram) ร่วมกับการตัด หรือ เผา ซึ่งสามารถกำจัดพวกมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถหยุดยั้งการขึ้นต้นใหม่จากรากในดินที่พวกมันฝังตัวเองลึกไว้ได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม การควบคุมนี้ต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปีหลังจากใช้สารเคมีพวกนี้ เพื่อทำให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดกระบวนการงอกต้นใหม่ขึ้นมาอีก
.
แล้วสงสัยไหมครับ ทำไมต้น Kudsu ถึงไม่มีปัญหาในญี่ปุ่น และเอเชีย?
.
เพราะจริงๆแล้ว ต้น Kudsu เป็นต้นไม้ในตระกูล Arrowroot ซึ่ง Japanese Arrowroot นั้นจัดอยู่ประเภทเดียวกันกับ East Indian arrowroot ซึ่งในบ้านเราเรียกว่า “ต้นเท้ายายม่อม” และต้นไม้ตามพื้นที่ดั้งเดิมของพวกมัน จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพืชชนิดต่างๆ ที่พร้อมจะอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี และในเอเชียตะวันออก รวมไปถึงในอาเซียน มีการนำรากมันไปทำเป็นอาหารนั่นเอง ซึ่งจุดที่ต้น Kudsu จะแตกต่างออกไปจากแก๊งค์ยายม่อม นั่นก็คือ อัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและทนทานต่อสภาพอากาศนั่นเองครับ
.
ขนมที่ทำจากพืชชนิดนี้
เพื่อลดการแพร่กระจาย
อ้างอิงจาก: https://www.treehugger.com/invasion-of-the-kudzu-monsters-4868778
https://www.southernliving.com/garden/plants/kudzu-vine-facts
https://en.wikipedia.org/wiki/Kudzu
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/true-story-kudzu-vine-ate-south-180956325/
https://www.nature.org/en-us/about-us/where-we-work/united-states/indiana/stories-in-indiana/kudzu-invasive-species/