"ขนมหินฝนทอง" ขนมโบราณที่แทบจะไม่มีคนรู้จัก..!!
ขนมชนิดนี้สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยหน้าตาของขนมจะมีลักษณะคล้ายกับหินฝนทองที่คนโบราณใช้ในการทดสอบทองคำว่าเป็นทองแท้หรือไม่
ตามหลักฐานพบชื่อขนมชนิดนี้
ในสมัยอยุธยาจากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง บันทึกไว้ว่า
" ถนนย่านป่าขนม ชาวบ้านย่านนั้นทำขนมขาย แลนั่งร้านขาย ขนมชะมด กงเกวียน สามเกลอ หินฝนทอง ขนมกรุบ ขนมพิมพ์ถั่ว ขนมสำปันนี และขนมแห้งต่าง ๆ "
และในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ (๒๕๑๔) เขียนถึงขนมชนิดนี้เป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์ โดยกล่าวถึงการแห่เครื่องกัณฑ์จากบ้านมาธรรมศาลา ไว้ว่า
" สั่งบ่าวไพร่ให้กรองของเครื่องกัณฑ์
เผือกมันของเรานั้นอักโข
อ้อยขาว อ้อยแดง แตงโม
ส้มโอ มะดูก ลูกมะไฟ
ชะมด กงเกวียน ข้าวเหนียวแดง
หินฝนทอง ครองแครง แตงลูกใหญ่
นอกศาลาข้าวของที่กองไว้
จัดให้เป็นลำดับอย่าซับซ้อน "
ขนมหินฝนทอง มีส่วนผสมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าคั่วสุก ผสมกับกะทิน้ำตาลมะพร้าวเติมผงถ่านกากมะพร้าว นำมาปั้นเป็นก้อนขนาดรับประทาน แล้วปิดทอง จึงนำไปอบควันเทียน
ขนมมีรสหวาน หอม ละมุนลิ้น
คนโบราณนิยมพกติดตัวไปเวลาเดินทางไกลหรือเวลาออกรบ เพราะเก็บไว้รับประทานได้นาน
.
.
ชมคลิปวีดีโอ👇👇
https://youtube.com/shorts/MQvsOpm1FI8?feature=share
งานวิจัยอาหารไทยวัฒนธรรมข้าว โดย อ.ภูชิษย์ สว่างสุข
__________________________
อ้างอิงจาก: Google Facebook และ YouTube