อาจารย์ ทีเจ.โจเซฟ ครูอินเดียถูกโจรบุกตัดมือ หลังออกข้อสอบ “หมิ่นอิสลาม”เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อ 12 ปีก่อน
เหตุการณ์สะเทือนขวัญ อาจารย์ทีเจ. โจเซฟ ครูอินเดียถูกโจรบุกตัดมือ หลังออกข้อสอบ “หมิ่นอิสลาม”
อาจารย์ทีเจ. โจเซฟ ครูผู้สอนภาษามาลายาลัมที่วิทยาลัยของชาวคริสต์แห่งหนึ่งในรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย
👉🏿อาจารย์ทีเจ. โจเซฟ ครูผู้สอนภาษามาลายาลัมที่วิทยาลัยของชาวคริสต์แห่งหนึ่งในรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย ยังคงจดจำเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อ 12 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี
ขณะนั้นอาจารย์โจเซฟในวัย 52 ปี กำลังขับรถกลับบ้าน หลังเสร็จสิ้นการเข้าร่วมพิธีมิสซาที่โบสถ์ประจำท้องถิ่น โดยมีภรรยาและพี่สาวของเขาที่เป็นแม่ชีคาทอลิกโดยสารมาในรถด้วย
ก่อนจะถึงบ้านเพียง 100 เมตร มีรถตู้ขนาดเล็กคันหนึ่งแซงขึ้นไป ก่อนจะเลี้ยวปาดหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อกั้นไม่ให้รถของเขาแล่นต่อไปได้ ชายฉกรรจ์ 6 คน วิ่งกรูลงมาจากรถคันนั้นและเข้ารุมล้อมรถของอาจารย์โจเซฟไว้ คนร้ายบางคนถือมีดและขวาน ทั้งพยายามกระชากประตูด้านหน้าและด้านหลังให้เปิดออก
ในที่สุดคนร้ายใช้ขวานทุบกระจกและเปิดประตูรถได้สำเร็จจากด้านใน พวกมันลากอาจารย์โจเซฟที่ขดตัวอยู่กับพื้นรถออกไปข้างนอก ใช้มีดกับขวานกระหน่ำแทงและสับไปที่แขนขาของเขาเหมือนสับไม้ จนในที่สุดมือข้างซ้ายก็ถูกตัดขาดและเหวี่ยงทิ้งไป ส่วนแขนขวานั้นถูกสับจนห้อยต่องแต่งจวนจะหลุดออกจากร่าง
ภรรยาและลูกชายของอาจารย์โจเซฟที่อยู่ในบ้าน พากันวิ่งออกมาดูด้วยความตกใจ หลังได้ยินเสียงร้องและเสียงกระจกรถแตก ลูกชายของอาจารย์พยายามฟาดมีดดาบเข้าใส่คนร้าย แต่พวกมันกลับปาระเบิดทำมือเข้าใส่ก่อนจะรีบหลบหนีไป
อาจารย์โจเซฟถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลที่ห่างออกไป 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดเหตุ ศัลยแพทย์ 6 คน ต้องใช้เวลาถึง 16 ชั่วโมงผ่าตัดรักษาบาดแผลฉกรรจ์ของเขา รวมทั้งต่อมือข้างซ้ายที่พบว่าหล่นอยู่ในสวนของเพื่อนบ้านให้เข้าที่ดังเดิม
👉🏿แพทย์ใช้เวลา 16 ชั่วโมง ผ่าตัดซ่อมแซมแขน มือ และนิ้วของเขา
ย้อนไป 4 เดือนก่อนหน้านั้น ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 26 มี.ค. 2010 อาจารย์โจเซฟได้รับโทรศัพท์จากผู้อำนวยการวิทยาลัยที่เขาสอนอยู่ โดยบอกให้เขาไม่ต้องมาทำงานในวันนี้เพราะ “มีม็อบของคนมุสลิมล้อมโรงเรียนอยู่เต็มไปหมด เราขอให้ตำรวจมาช่วยคุ้มกันแล้ว แต่ถ้าคุณมาเหตุการณ์อาจบานปลายได้”
อาจารย์โจเซฟรู้สึกงุนงงเพราะนึกไม่ออกว่าเขาทำอะไรผิด แต่ก็ได้รับแจ้งว่าเนื้อหาของข้อสอบไวยากรณ์ ที่เขาเพิ่งใช้เป็นแบบทดสอบย่อยเมื่อไม่นานมานี้ มีข้อความที่ดูหมิ่นศาสดามูฮัมหมัดของศาสนาอิสลาม
ก่อนหน้านี้อาจารย์โจเซฟใช้ข้อความบางส่วนจากบทภาพยนตร์ “พระเจ้ากับคนบ้า” ซึ่งเป็นบทสนทนาในจินตนาการที่ผู้กำกับชาวอินเดีย พีที. คุณจู มูฮัมเหม็ด เขียนขึ้น โดยอาจารย์โจเซฟได้นำชื่อสกุล “มูฮัมเหม็ด” ของผู้แต่ง มาใช้แทนชื่อตัวละคร “คนบ้า” ในข้อสอบดังกล่าว
“ชื่อมูฮัมเหม็ดหรือมูฮัมหมัดเป็นชื่อที่คนมุสลิมใช้กันทั่วไป ผมจึงไม่ทันได้คิดว่าจะมีคนเข้าใจผิด มองว่าผมดูหมิ่นล้อเลียนศาสดาของศาสนาอิสลาม” อาจารย์โจเซฟกล่าวอธิบาย
👉🏿อาจารย์โจเซฟสอนภาษามาลายาลัมที่วิทยาลัยของชาวคริสต์แห่งหนึ่ง
การประท้วงอย่างรุนแรงของมุสลิมในท้องถิ่น ทำให้ร้านรวงต่าง ๆ ในเมืองต้องปิดทำการชั่วคราว ทางวิทยาลัยประกาศพักงานอาจารย์โจเซฟทันทีเพื่อบรรเทาความโกรธเคืองของกลุ่มผู้ประท้วง ส่วนตัวเขาเองให้ภรรยารีบจัดกระเป๋าให้ ก่อนจะไปขึ้นรถบัสเพื่อหลบหนีออกจากเมืองไปโดยเร็ว
ตำรวจออกตามล่าหาตัวอาจารย์โจเซฟทันที เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นศาสนา อีก 6 วันต่อมาเขาจึงเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะถูกนำตัวไปเข้าห้องขังรวม ที่เขาต้องทนอยู่ร่วมกับอาชญากรในคดีฆาตกรรมและผู้ค้าเหล้าเถื่อนถึง 1 สัปดาห์ ก่อนจะได้รับการประกันตัวออกไป
👉🏿บ้านพักของอาจารย์โจเซฟที่คนร้ายพยายามบุกเข้ามาถึงสามครั้ง
คำบรรยายภาพ,
บ้านพักของอาจารย์โจเซฟที่คนร้ายพยายามบุกเข้ามาถึงสามครั้ง
ฝันร้ายที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น โดยวิทยาลัยของชาวคริสต์ที่เขาสอนอยู่ออกแถลงการณ์ยอมรับผิดและขออภัยต่อชุมชนมุสลิม ทั้งยังส่งหนังสือแจ้งมายังตัวเขาว่ามีความผิดฐาน “ทำร้ายความรู้สึกของศาสนิกชนทุกศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอิสลาม”
ไม่กี่เดือนต่อมา มีกลุ่มคนร้ายพยายามบุกเข้ามาที่บ้านของอาจารย์โจเซฟถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ในตอนแรกกลุ่มคนร้ายอ้างว่าเป็นนักศึกษาที่วิทยาลัย ซึ่งจะมาขอให้อาจารย์ช่วยเขียนบทความลงในวารสารของพวกเขา แต่เนื่องจากขณะนั้นอาจารย์โจเซฟไม่อยู่บ้าน พวกคนร้ายจึงพากันกลับไป
ครั้งที่สองกลุ่มคนร้ายแสร้งทำเป็นมาขอรับบริจาคเงิน เพื่อนำไปรักษาลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคไต พวกเขายื่นซองจดหมายให้อาจารย์โจเซฟซองหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นจดหมายรับรองจากคนที่เขารู้จักดี
“ตอนแรกผมรับซองนั้นมา แต่ก็เกิดกลัวว่าอาจจะเป็นระเบิดเลยส่งกลับคืนไป จากนั้นผมปิดประตูเดินหนีไปทันที” อาจารย์โจเซฟกล่าว “ตอนนี้ผมแน่ใจแล้วว่า มีขบวนการที่หมายหัวจะเอาชีวิตผมอยู่อย่างแน่นอน”
ครั้งสุดท้ายในช่วงปลายเดือนพ.ค. 2010 กลุ่มคนร้ายที่อ้างว่าเป็นพนักงานธนาคารและเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ สามารถบุกเข้าไปในบ้านพักของอาจารย์โจเซฟได้สำเร็จ แต่โชคดีที่ขณะนั้นเขาอยู่กับเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มคนร้ายหาตัวเขาไม่พบ
แม้หลังจากนี้เขาจะพยายามเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่กับบ้านมากขึ้น แต่เหตุการณ์สยองที่เขาถูกรุมทำร้ายและตัดมือก็เกิดขึ้นจนได้ในอีก 2 เดือนต่อมา ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ทันทีถึง 31 คน โดยล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการ “แนวร่วมยอดนิยมของอินเดีย” (Popular Front of India) หรือพีเอฟไอ (PFI) ซึ่งเป็นองค์กรมุสลิมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006
เมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ย. 2022) รัฐบาลอินเดียได้สั่งระงับไม่ให้ PFI ดำเนินงานชั่วคราวเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากมีการกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย แต่ทางองค์กรยังคงยืนกรานปฏิเสธข้อหาดังกล่าว
👉🏿ต้องหา 13 คน ถูกศาลตัดสินลงโทษในปี 2015
ผู้ต้องสงสัย 13 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุตัดมืออาจารย์โจเซฟจริง โดยแต่ละคนต้องโทษจำคุก 8 ปี และต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรายละ 800,000 รูปี หรือราว 370,000 บาท
อย่างไรก็ตาม อัยการได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้กลุ่มคนร้ายถูกลงโทษหนักขึ้นไปอีก นอกจากนี้ผู้ต้องหาอีก 11 คน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งทศวรรษ โดยต้องมีการสอบพยานถึง 400 ปากด้วยกัน
เจคอบ ปันนูส ผู้บัญชาการตำรวจรัฐเกรละเมื่อกว่าสิบปีก่อน บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า “นี่คือเหตุลอบทำร้ายที่มีการวางแผนจัดเตรียมการมาอย่างดีที่สุด เท่าที่ผมเคยพบมาตลอดชีวิตการเป็นตำรวจ”
👉🏿ขบวนการ PFI ของมุสลิม บอกว่ามีสมาชิกหลายแสนคนทั่วประเทศ
“มีทั้งคนชี้เป้า คนสำรวจเส้นทางที่เหยื่อใช้ไปโบสถ์ล่วงหน้า มีการทำทะเบียนปลอมสำหรับรถที่ใช้ก่อเหตุ และเตรียมรถไว้หลบหนีอีกถึงสองคัน โทรศัพท์มือถือของคนร้ายทุกคนใช้ซิมการ์ดใหม่ทั้งหมด แต่ก็มาพลาดตอนที่คนร้ายคนหนึ่งลองใช้มันโทรออกไปยังเบอร์ที่ไม่เกี่ยวข้อง ทำให้ตำรวจติดตามถึงตัวได้”
แม้คนร้ายจะถูกลงโทษและมีหวังว่าจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง แต่ชีวิตของอาจารย์โจเซฟนั้นต้องพังทลายไปอย่างสิ้นเชิงจากเหตุการณ์นี้ หลังเขาออกจากโรงพยาบาล วิทยาลัยที่เขาเคยสอนอยู่ตัดสินใจไล่เขาออกโดยปราศจากความเห็นอกเห็นใจ แม้เขายังต้องมีภาระเลี้ยงดูภรรยาและลูกวัยรุ่น 2 คนอยู่ก็ตาม
แขนขวาของอาจารย์โจเซฟสูญเสียความรู้สึกทั้งหมด จนต้องหันมาฝึกใช้แขนและมือซ้ายเขียนหนังสือและกินข้าวแทน แต่ถึงกระนั้นเขาก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมแขนขาและนิ้วมืออีกหลายครั้ง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจนการเงินของครอบครัวเริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่สามารถไถ่ถอนเครื่องประดับของภรรยาคืนจากโรงรับจำนำ และผ่อนใช้หนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของบุตรได้
ความเครียดที่ถาโถมเข้ามา ทำให้ภรรยาของอาจารย์โจเซฟตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรมในปี 2014 แม้ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียว ศาลจะตัดสินให้สามีของเธอพ้นผิดจากข้อหาหมิ่นศาสนาแล้ว และชี้แจงว่าเหตุทั้งหมดเป็น “ความเข้าใจผิด” ของชาวมุสลิมก็ตาม
สามวันหลังจากภรรยาของอาจารย์โจเซฟเสียชีวิต วิทยาลัยที่เคยไล่เขาออกจากงานไปเมื่อ 4 ปีก่อน ประกาศรับเขาเข้าทำงานใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นเวลาเพียงสามวันก่อนที่จะครบกำหนดเกษียณอายุ
คาดกันว่าแถลงการณ์ใหม่ของวิทยาลัยแห่งนี้ มีขึ้นเพราะแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง ที่ต่างก็เห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมอันเศร้าสลดของครอบครัวอาจารย์โจเซฟ โดยการรับเข้าทำงานใหม่แม้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็เพียงพอให้เขาสามารถรับเงินบำเหน็จบำนาญตามสมควรได้
ขณะนี้อาจารย์โจเซฟประกอบอาชีพเป็นนักเขียน โดยใช้มือซ้ายที่เคยถูกตัดออกไปเขียนบันทึกความทรงจำ “หนึ่งพันรอยแผล” (A Thousand Cuts) ความยาว 700 หน้า ซึ่งวางแผงเมื่อปีที่แล้วและจำหน่ายได้ถึง 30,000 เล่ม เขายังเตรียมจะออกหนังสือรวมเรื่องสั้น และบันทึกความทรงจำภาคต่อจากเล่มแรกอีกด้วย
อ้างอิงจาก: google BBC และ YouTube